Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

 

ปี 2547 สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นครั้งใหม่อีกครั้ง จากข้อมูลสถิติจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DeepSouthWatch) ระบุว่าใน 12 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2558 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 15,374 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,543 รายและมีผู้บาดเจ็บจำนวน  11,919 ราย

เมื่อขบวนการปลดปล่อยปาตานีจับอาวุธสู้กับรัฐไทย รัฐไทยจึงออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจับกุมขบวนการปลดปล่อยปาตานี ดำเนินมาตรการการตรวจค้น ห้าม ยึด จับกุม กัก หรือควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล ตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉิน) และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่าระหว่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเกิดการซ้อมทรมานขึ้นอย่างมาก

ขณะที่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้าในประเทศไทย ปี 2556 ของสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยระดับจังหวัดปรากฏว่าจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสมีความรุนแรงและเรื้อรังเพราะมีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรกของประเทศไทยติดต่อกันถึง 14 ปี ตั้งแต่ปี 2543 -2556 ขณะจังหวัดยะลาก็มีปัญหาความยากจน ปัญหาคุณภาพชีวิต และปัญหาสังคมอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 

ปี 2556 ในบริบทเวลาไล่เลี่ยกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างสภามั่นคงแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) แห่งขบวนการปลดปล่อยปาตานี ที่เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของสหพันธรัฐมาเลเซีย ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร

                 

สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) โดยนายตูแวดานียา ตูแวแมแง เดินสายจัดเวทีเสวนา ‘BicaraPatani’ กว่า 60 ครั้ง ตามชุมชนต่างๆ ทั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับขาวบ้านในชุมชน เป็นการสร้างพื้นที่ทางการเมือง เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เอื้อให้ประชาชนมีบทบาท และสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพร่วมกับรัฐไทยกับขบวนการฯ ด้วย

ระหว่างทางการลงไปสัมผัสชุมชน LEMPAR ได้รับรู้ถึงสันติภาพในมุมมองของชาวบ้าน คือทำอย่างไรให้การหลุดพ้นจากปัญหาที่ชุมชนเจอ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง ปัญหาสังคมและเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติดปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การถูกปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของเจ้าหน้ารัฐ และการขาดความรู้ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ฯลฯหลายชุมชนจึงอยากมีศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชนเพื่อเรียนรู้ปัญหา

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของสหพันธรัฐมาเลเซียกระบวนการพูดคุยสันติสุขก็เริ่มขึ้นอีกครั้งภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างสภามั่นคงแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยกับMARA PATANI องค์กรร่มของขบวนการปลดปล่อยปาตานี

ในบริบทเวลาไล่เลี่ยกัน LEMPAR ดำเนินการโครงการ (นำร่อง) เครือข่าย “Kampong Damai” ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน จากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ระยะขยาย (ช.ช.ต.) ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI) ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก(World Bank)และกระทรวงการคลังของไทย รวมถึงการได้รับงบดำเนินโครงการ Kampong Damai จากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งสนับสนุนโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

                

เป้าหมายของโครงการฯ เพื่อสร้างสันติภาพโดยการมีส่วนร่วมและกำหนดจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยจัดตั้งเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพแก่ชุมชน พัฒนาแกนนำชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ  หลักสันติวิธี  เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติงานขับเคลื่อนชุมชน  และสร้างกลไกเชื่อมประสานกับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้เพื่อร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนงานด้านสันติภาพในเชิงนโยบายสาธารณะ

โดยดึงผู้นำ 4 เสาหลักของชุมชน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง โต๊ะอีหม่าม พระสงฆ์ ฝ่ายศาสนา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฝ่ายบริหารและผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูสอนในโรงเรียนตาดีกา รวมถึงกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรีร่วมอยู่ในโครงสร้างของ ‘Kampong Damai’

เดือนตุลาคม2558 LEMPAR เริ่มลงพื้นที่ประสานและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ (นำร่อง) เครือข่าย “Kampong Damai” ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน รวมถึงการประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้วิชาการสันติภาพด้วยการทำประชาคมกับชุมชน 4 พื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ใน 3 ชุมชนมลายูมุสลิม คือ บ้านบาเจาะ หมู่ที่ 2  ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาบ้านปาลุกาแปเราะ หมู่ที่ 7  ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส บ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และ 1 ชุมชนไทยพุทธ อย่างบ้านนอก หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

              

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน2558 LEMPAR ลงชุมชนทั้ง 4 พื้นที่และจัดเวที (focus group) ศึกษาความเข้าใจในเรื่องแนวคิด หลักการด้านสันติภาพของผู้ศึกษา เพื่อร่วมวางโครงร่างหลักสูตรสันติภาพภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการระดมปัญหาและความต้องการของชุมชนความต้องการของชุมชนทั้ง 4 ถูกสะท้อนมาจากปัญหาที่แต่ละชุมชนประสบถึงปัญหาความเดือดร้อนเศรษฐกิจปากท้อง

ชาวบ้านตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลาและตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาส มีความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ ชาวบ้านตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระจังหวัดปัตตานีมีความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูทำนา และชาวบ้านตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีมีความเดือดร้อนในการทำประมงชายฝั่งจากปัญหาทรัพยากรในทะเลเสื่อมโทรม

ชุมชนทั้ง 4 พื้นที่มีปัญหาร่วมกัน คือการขาดการศึกษา ความยากจน การว่างงานของเยาวชนและประชาชนบ้างก็กลายเป็นแรงงานร้านอาหารของคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสหพันธรัฐมาเลเซียที่เข้าไปแบบผิดกฏหมายและปัญหายาเสพติด

             

3 ใน 4 พื้นที่ของ Kampong Damai เป็นพื้นที่ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ระบุว่าเป็นพื้นที่สีแดงซึ่งขบวนการปลดปล่อยปาตานีมีการเคลื่อนไหวคือ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลา และตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบังคับใช้กฎหมายพิเศษปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมบ่อยครั้ง และมีปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ชาวบ้านหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

ธันวาคม 2558-มกราคม 2559LEMPAR จัดทำชุดความรู้ด้านกระบวนการทำงานสันติภาพในชุมชนเบื้องต้นร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) วิทยาลัยประชาชน ปาตานีฟอรั่ม สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) เพื่อให้ได้ชุดความรู้นำไปทำการเรียนการสอนกับชุมชน

หลักสูตร Kampong Damai เมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์กับนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย รายวิชาเกี่ยวกับสันติภาพและการเมือง อาทิ กระบวนการสันติภาพเบื้องต้น นโยบายสันติสุขชายแดนใต้และกลไกของรัฐ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย-ปาตานี แผนที่ตัวแสดงและความสัมพันธ์ในความขัดแย้ง รายวิชาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และการเยียวยา อาทิ สิทธิมนุษยชนอิสลาม สิทธิมนุษยชนสากล กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยียวยาสภาพจิตใจเบื้องต้น วิชาการจัดการองค์กรและชุมชน การจัดตั้งระบบสหกรณ์ การระดมทุน การฝึกอาชีพเบื้องต้น รวมถึงวิชาการสื่อสารและการรณรงค์สาธารณะ

แล้วทะยอยเปิดศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน ‘Kampong Damai’ ทั้ง 4 ชุมชน โดยวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559ที่ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559ที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลา และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

                 

“ที่ผ่านมา สันติภาพ-สันติสุข จำกัดอยู่ในกรอบแค่กระบวนการพูดคุยของรัฐไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี LEMPAR จึงอยากให้สันติภาพลงไปถึงชุมชน” ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR)อธิบาย

ตูแวดานียา เชื่อว่า ชุมชน คือ พื้นฐานของสันติภาพ การสร้างพื้นที่ทางการเมืองการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับชาวบ้านโดยมีความรู้นำมาเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาของชุมชนร่วมกันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่จำเป็น

“เมื่อมีปัญหาเหตุกาณ์ความไม่สงบเจ้าหน้าที่รัฐมักจะมุ่งเป้าไปกดดันโต๊ะอีหม่าม กดดันครูตาดีกา จึงอยากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. มาร่วมแบ่งรับการกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีแนวคิดสร้างโครงสร้างกลางของศูนย์ชุมชน คือศูนย์ Kampong Damaiเป็นศูนย์ประสานงานที่ขับเคลื่อนทางการเมืองแบบสันติวิธี และลดความหวาดระแวงจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

ตูแวดานียา ย้ำถึงจุดประสงค์โครงการ (นำร่อง) เครือข่าย “Kampong Damai” ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชนที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จับตา

 

อ้างอิง

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และสุภาภรณ์ พนัสนาชี. (2559) , ฐานข้อมูล DSID: การวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบปี 2558,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้,http://www.deepsouthwatch.org/node/7942(เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2559)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีและกลุ่มด้วยใจ. (2559),รายงานสถานการณ์การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558,http://www.deepsouthwatch.org/node/8106 (เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2559)

สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2558),รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้าในประเทศไทย ปี 2556,http://www.dmh.go.th/downloadportal/Personal%20condition/Poverty/Poverty2556.pdf(เข้าถึงเมื่อ 23 มีนาคม 2559)

เผยแพร่ครั้งแรก : ฟาตอนีออนไลน์,24 มีนาคม 2559,http://www.fatonionline.com/2099