Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

 

หากเอ่ยถึง ‘มลายูอักษรยาวี’ ในทัศนะของบางกลุ่มคนอาจคิดว่ามันได้ตายไปแล้วจากโลกมลายู  (นูซันตารา) ทั้ง สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย  เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐสิงคโปร์  มินดาเนาในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กำปงจามและตะบงทมุมในราชอาณาจักรกัมพูชา ดานัง นิงถวน บิ่งถวน ฟู๊เอียน บิ่งดิ๋ง และอานยางในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูลในราชอาณาจักรไทย

ทว่าในทัศนะของคนบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มอาวัณบุ๊ค (AWAN BOOK) กลับคิดว่า ‘มลายูอักษรยาวี’ ยังไม่ตายไปจากโลกมลายูเลย แค่อยู่ในสภาวการณ์ลมหายใจรวยรินแผ่วลงๆ เท่านั้น  และในบรรดาโลกมลายูด้วยกัน ‘มลายูอักษรยาวี’ ที่ปาตานี (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ –ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอของสงขลา-เทพา จะนะ สะบ้าย้อยและนาทวี) เข้มแข็งที่สุด  เพราะที่อื่นหันไปใช้ ‘มลายูอักษรรูมี’ กันหมดแล้ว

 

ด้วยความคิดความเชื่อเช่นนี้ของ AWAN BOOK  นำมาสู่โครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ช.ช.ต.)สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute-LDI)

                     

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา กลุ่มอาวัณบุ๊ค (AWAN BOOK) จัดเวทีระดมความเห็นเพื่อค้นหาปัญหาการใช้งานภาษามลายูตัวเขียนยาวีครั้งที่ 2  โดยมีสื่อสารมวลชน นักวิชาการ อาจารย์ นักธุรกิจ นักวัฒนธรรม นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมประมาณ 50 คน

เวทีเริ่มต้นด้วยการแนะนำความเป็นมาของโครงการฯ โดย ‘วีฟาอี มอลอ’ คณะทำงานกลุ่ม AWAN BOOK

“AWAN BOOK เป็นกลุ่มคนที่รณรงค์การใช้ภาษามลายูอักษรยาวีเห็นถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ข้อจำกัดด้านมาตรฐานภาษา  และข้อจำกัดด้านนโยบายในการใช้มลายูอักษรยาวี จึงดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ สถาบันการศึกษาที่สอนภาษามลายู นักวิชาการ นักออกแบบโปรอกรมคอมพิวเตอร์ และกลุ่มผู้ผลิตสื่อที่ใช้มลายูอักษรยาวีมาร่วมกันค้นหาปัญหาและแนวทางการพัฒนาหาทางออกสู่การนำมลายูอักษรยาวีใช้จริงอย่างแพร่หลาย” วีฟาอี ชี้แจง

                      

                                                                            ซอลาหุดดีน กริยา (ซ้าย) วีฟาอี มอลอ (ขวา)

ต่อด้วยการการบอกถึงวัตถุประสงค์ของโครงการโดย ‘ซอลาหุดดีน  กริยา’ ประธานกลุ่ม AWAN BOOK ว่า มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุดรูปแบบมลายูอักษรยาวี (Font) ที่ถูกต้องมีมาตรฐานในการพิมพ์งานต่างๆ เกิดการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีในการสื่อสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้คนในพื้นที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

“สร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้และพัฒนาระบบการพิมพ์มลายูอักษรยาวี รวมถึงพัฒนาความร่วมมือ และผลักดันข้อเสนอนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การใช้ภาษามลายูอักษรยาวีได้อย่างเป็นรูปธรรม” ซอลาหุดดีน อธิบาย

                      

                     

จากนั้น กลุ่ม AWAN BOOK ก็มอบเวทีให้แก่ศูนย์บูรณการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมชุมชน (YICE TEAM) ซึ่งเป็นวิทยากรกระบวนการ และแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 15 คน เพื่อการระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาปัญหาการใช้งานภาษามลายูตัวเขียนยาวี

โดยกลุ่มที่ 1 ค้นหาปัญหาและเสนอทางออกสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติจากราชอาณาจักรไทย สำหรับการใช้ภาษามลายูอักษรยาวี ในปาตานี  ขณะที่กลุ่มที่ 2 ค้นหาปัญหาและเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหาการกำหนดภาษามลายูอักษรยาวีเป็นมาตฐานเดียวกันในปาตานี ส่วนกลุ่มที่ 3 ค้นหาปัญหาและเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหาด้านเทคนิคสำหรับการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีในปาตานี

                      

ต้องการมลายูเป็นภาษาราชการคู่ไทย ชูปาตานีเป็นพื้นที่ใช้ยาวีของอาเซียน

ผลจากการแบ่งกลุ่ม กลุ่มที่ 1 ซึ่งค้นหาปัญหาและเสนอทางออกสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติจากราชอาณาจักรไทย สำหรับการใช้ภาษามลายูอักษรยาวี ในปาตานี  คือ

1.ภาครัฐต้องมีกฏหมายรับรองภาษามลายูอักษรยาวีใช้ควบคู่กับภาษาไทยสำหรับการติดต่อราชการต่างๆ ในปาตานี

2.ภาครัฐต้องออกกฏหมายระบุให้ชัดเจนว่า หนังสือตำราการเรียนการสอนหลักสูตรตาดีกา หลักสูตรภาควิชาศาสนาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ต้องใช้ภาษามลายูอักษรยาวีเป็นอักษร ไม่เปลี่ยนแปลงไปใช้ภาษามลายูอักษรรูมี หรือภาษาไทยในอนาคต

3.ภาครัฐต้องมีนโยบายใช้ภาษามลายูอักษรยาวีบนป้ายหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ห้างร้าน ป้ายจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ถนน ซอย ฯลฯ ในปาตานี

4.ภาครัฐต้องออกนโยบายส่งเสริมให้มีการสื่อสารโดยใช้ภาษามลายูอักษรยาวี เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ ประกาศ โปสเตอร์โฆษณา ฯลฯ พร้อมทั้งชูในระดับอาเซียนว่า ปาตานีเป็นแหล่งผลิตหนังสือตำราภาษามลายูอักษรยาวีของอาเซียน  เป็นแหล่งสื่อสารภาษามลายูอักษรยาวีของอาเซียน

5.ภาครัฐต้องมีนโยบายปรับปรุงภาษามลายูอักษรยาวี โดยจัดให้มีสถาบันเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรยาวี เฉกเช่นเดียวกับการมีราชบัณฑิตสถานในการกำหนดและปรับปรุงภาษาไทย สถาบันเกี่ยวกับภาษามลายูอักษรยาวีดังกล่าวมีหน้าที่สร้างมาตรฐานภาษามลายูอักษรยาวีที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน วิจัย  พัฒนาเทคโนโลยี และรณรงค์การใช้ภาษามลายูอักษรยาวี

                    

สร้างมาตรฐานอักษรยาวีปาตานี ถ้ามลายูไม่มีคำให้สิทธิ์แรก ‘อาหรับ’ ทับศัพท์

 กลุ่มที่ 2 ผลจากการค้นหาปัญหาและเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหาการกำหนดภาษามลายูอักษรยาวีเป็นมาตฐานเดียวกันในปาตานี คือ

1.อยากให้มีมาตรฐานภาษามลายูอักษรยาวีในแบบฉบับของคนปาตานีทั้งในการพูด การเขียน และการอ่าน

2.อยากให้มาตรฐานภาษามลายูอักษรยาวีในแบบฉบับของคนปาตานี มีตัวอักษร چ (ca), ڤ (pa) , ڠ (nga) , ڬ (ga) , ڽ (nya) เท่านั้น ไม่เอาตัวอักษร ۏ  (va) และอักษรอื่นๆ ตามแบบมลายูอักษรยาวีในสหพันธรัฐมาเลเซีย

3.ถ้าคำศัพท์ไหนไม่มีอยู่เดิมในภาษามลายูอักษรยาวีในปาตานี ให้มีการทับศัพท์ด้วยภาษาอาหรับเป็นภาษาแรก ก่อนทับศัพท์ด้วยภาษาอื่น ไม่ว่า อังกฤษ ไทย จีน ฯลฯ

                   

ต้องการคีย์บอร์ด-โปรแกรม-แอพ-IOS- Android รองรับยาวี มี Font หลากหลาย

 ส่วนกลุ่มที่ 3 ผลจากค้นหาปัญหาและเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหาด้านเทคนิคสำหรับการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีในปาตานี พบว่า

1.อยากให้มีคีย์บอร์ดภาษามลายูอักษรยาวี

2.อยากให้มีรูปแบบอักษร (Font) ที่มลายูอักษรยาวีที่หลากหลายรูปแบบ

3.อยากให้มีการสร้างรูปแบบอักษร (Font)  มลายูอักษรยาวีที่รองรับทุกระบบ ทุกโปรแกรมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์

4.อยากให้มีโปรแกรม มีแอพพลิเคชั่นรองรับมลายูอักษรยาวี

5.อยากให้มีรูปแบบอักษร (Font) มลายูอักษรยาวี ที่ระบบปฏิบัติการ IOS ,ระบบปฏิบัติการ  Android รองรับ สามารถใช้ได้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ ที่พัฒนาขึ้นในอนาคตด้วย

เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายมิใช่น้อย สำหรับทั้งคนปาตานี และรัฐไทย  ในภาวะลมหายใจรวยรินของ ‘มลายูอักษรยาวี’ และความเข้าใจจากรัฐต่อกลุ่มคนที่ใช้ ‘มลายูอักษรยาวี’ ว่าคือกลุ่มคนแนวคิดเดียวกับขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี

แม้การปรับตัวของภาครัฐเองในการนำ ‘มลายูอักษรยาวี’ เขียนตามป้ายสถานที่ราชการต่างๆ ประกบภาษาไทยแล้วก็ตาม แต่คนปาตานีส่วนหนึ่งยังมองว่ารัฐไทยยังไม่ตอบโจทย์วาระ ‘มลายูอักษรยาวี’ ให้คนปาตานีอย่างแท้จริง

เผยแพร่ครั้งแรก : ฟาตอนีออนไลน์,3 มกราคม 2559,http://www.fatonionline.com/1218