Skip to main content

 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ห้องศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)  สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (TUPAT) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จัดเสวนา "การอ่าน การศึกษาที่ชายแดนใต้ ส่งเสริมวิถีชีวิตคนชายแดนใต้อย่างไร"  โดยมีนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 70 คน

โดยนายฟาเดล หะยียามานักอ่าน/เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชียซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนวิทยากรนำเสวนาประกอบด้วย นายดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) นายอารีฟินโสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) นายโกศล เตบจิตรตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) และนายปรัชญเกียรติว่าโร๊ะนักอ่าน/นักเขียน/ผู้สื่อข่าวอิสระ

ค้นรากปัญหารัฐไทย หาเหง้าวิกฤติปาตานี ชี้สันติภาพจริงอยู่ที่มือประชาชน

ฟาเดล หะยียามา ตั้งคำถามว่าหากเราจำเป็นต้องอ่านสันติภาพให้เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องอ่านอย่างไร เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง?

ปรัชญเกียรติ เริ่มต้นตอบคำถามโดยหยิบยกคำพูดของเหมาเจ๋อตุงที่ว่า การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด ดังนั้นการเมืองจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาต่อรองกับรัฐ “บนดิน” ตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด การจับอาวุธใช้ความรุนแรง หรือตัดสินใจทำสงครามคือปฏิกิริยาโต้กลับหลังจากที่รัฐปิดพื้นที่การต่อรองบนดิน ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นธรรมชาติของคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม พอโดนปิดพื้นที่ก็เท่ากับบังคับให้ต้องใช้ความรุนแรงในการต่อรอง

ปรัชญเกียรติ ชวนย้อนกลับไปดูการศึกษาบริบทประวัติศาสตร์การเมืองผ่านวิทยานิพนธ์ 'การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)' ของณัฐพล ใจจริง โดยระบุว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ให้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ชัดมาก ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในปาตานีผ่านวิทยานิพนธ์ 'การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. 2482-2497' ของเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร และหนังสือวิชาการ 'นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516)' ของปิยนาถ บุนนาค

"พื้นที่รอยต่อปี 2489-2490 ปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถสืบสวนหาข้อเท็จจริงคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ ปรีดีจึงจำใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้หลวงถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งค่อนข้างใกล้ชิดกับปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ในสมัยหลวงถวัลย์เป็นนายกรัฐมนตรีนี่เองที่หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ยื่นข้อเสนอ 7 ประการ โดยมี 'แช่ม พรมยงค์' จุฬาราชมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎรเป็นผู้ประสานสัมพันธ์ และมีแนวโน้มว่าจะประสานกันได้ระดับหนึ่ง”

"กระทั่งปลายปี 2490 เครือข่ายนิยมกษัตริย์ เครือข่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยม เครือข่ายจอมพลป.พิบูลสงครามก็ร่วมมือกันยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลหลวงถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้นปี 2492 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ก็ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน ฐานกล่าวร้ายรัฐบาล ต่อมาปี 2496 เกิดเหตุการณ์ดุซงญอ ปี 2497 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ปี 2502 BNPP ก็เกิดขึ้น ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของ BRN ในปี 2503 และการเกิดขึ้นของ PULO ในปี 2511ซึ่งล้วนอยู่ในบริบทภายหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งการเมืองบนดินถูกปิดทั้งนั้น"

ปรัชญเกียรติ อธิบายต่อว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ถูกสถาปนาโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2501 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป . พิบูลย์สงคราม ส่วนในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐไทยมีการปรับตัวในช่วง 2501 -25106 โดยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีนโยบายเปิดกว้างขึ้นด้วยการสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัด ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล

"ทว่าในทางตรงกันข้ามจอมพลสฤษดิ์กลับมีนโยบายอพยพนำคนภาคอีสานและภาคอื่นๆ กว่า 15,000 คน เข้าสู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการจัดตั้งนิคมพึ่งตนเอง ที่สตูลคือนิคมควนกาหลง ที่สงขลาคือนิคมเทพา ที่ปัตตานีคือนิคมโคกโพธิ์ ขณะที่ยะลาและนราธิวาสก็มีการจัดตั้งนิคมลักษณะนี้เช่นกัน ตัวอย่างรูปธรรม คือ เมื่อปี 2509 รัฐไทยนำคนภูพาน สกลนคร คนภูสระดอกบัว  มุกดาหาร และอำนาจเจริญที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มายังอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล” เขากล่าว

"ผมมองว่าสถานกาณณ์ดังกล่าวมีปัญหาถึง 3 ชั้น คือ หนึ่ง การขืนใจพรากคนอีสานจากแผ่นดินเกิดมาสู่แผ่นดินอื่นอย่างสตูล ลองค้นหา 'เพลงปฏิวัติควนกาหลง' ในยูทูบดูจะพบการคร่ำครวญจากบาดแผลครั้งนั้นจนทำให้คนอีสานที่ถูกอพยพมาควนกาหลงลุกมาจับปืนสู้กับรัฐไทยอีกครั้งใน 2516-2523 ปัญหาชั้นที่2 คือ การนำคนอีสานมาแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของคนสตูลทั้งที่คนสตูลในพื้นที่เองก็ไม่ได้มีที่ดินอะไร ปัญหาชั้นที่ 3 คือ นโยบายการกลืนกินชาติพันธุ์มลายู และความเป็นมุสลิมของคนจังหวัดสตูล” เขากล่าว

ปรัชญาเกียรติอธิบายการกลืนกินความเป็นชาติพันธุ์มลายูของสตูลผ่านวิทยานิพนธ์ 'การเมืองของการนิยมความเป็นสตูล: ศึกษาเน้นมุมมองของรัฐไทยระหว่างพ.ศ. 2475 – 2480' ของสุภาลักษณ์ ตั้งจิตต์ศีล ซึ่งพบว่า การที่สตูลมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากปาตานี คือ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม แต่พูดภาษาไทย เป็นผลจากประวัติศาสตร์ร่วมของสตูลและรัฐไทยตั้งแต่ภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษใน พ.ศ. 2452โดยรัฐไทยมีมาตรการผสานสตูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยอย่างเร่งรีบ การเร่งปักปันเขตแดน ปฏิรูปทางการเมือง ให้การศึกษาภาษาไทยพร้อมกับการขยายอำนาจการปกครอง โดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้าไปดูแลกิจการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด

“การอ่านสันติภาพนั้นต้องเชื่อมโยงหลายบริบททั้งบริบทประวัติศาสตร์ บริบทการเมือง บริบทประวัติศาสตร์การเมือง สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริงต้องอยู่ที่มือประชาชน สมมุติว่ารัฐไทยพูดคุยกับมาราปาตานี แล้วรัฐไทยให้ปาตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือสมมติว่ารัฐไทยให้เอกราชปาตานี  คนในขบวนการฯ ก็สถาปนาอำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนขึ้นมาใหม่แทนรัฐไทย ฉะนั้นสันติภาพในทัศนะของผมเกิดขึ้นได้จริงต่อเมื่อประชาชนตื่นรู้และตื่นตัวพร้อมต่อรองกับผู้มีอำนาจ ถ้าไม่ตื่นตัว ไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้ ประชาชนก็ถูกกดขี่อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ไหนจะปกครองปาตานี" ปรัชญเกียรติกล่าว

ชวนก้าวข้ามประวัติศาสตร์บาดแผล แต่ต้องเคลียร์เหตุการณ์ 'ดุซงญอ-กรือเซะ-ตากใบ' 

ในมุมมองการอ่านอะไรเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง ดันย้าล อับดุลเลาะ เห็นว่า อย่างแรกควรอ่านให้มีความรู้ แล้วสันติภาพก็จะตามมา เมื่อสังคมจะเข้าไปสู่การจัดการความขัดแย้งก็ต้องอาศัยความรู้  

"โดยส่วนตัววิธีคิดของตัวเองไม่ใช่จะบอกว่าประวัติศาสตร์มันไม่ดีซะเลย  แต่บอกว่าน่าจะอ่านอนาคตข้างหน้ามากกว่า จะไปข้างหน้าไปอย่างไร อันนี้สำคัญ เราอ่านให้มีความรู้และเสียสละความเจ็บปวดในอดีตเพื่อไปข้างหน้า ผมคิดไม่ออกว่าไม่ว่าจะเป็นปาเลสไตน์ อิสราเอล อูกันดา การจัดการความขัดแย้งอย่างนี้ แต่ทุกๆ ที่การจัดการความขัดแย้งไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อคนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ต้องมองเห็นจุดหมายด้วยกัน” ดันย้าลกล่าว

ดันย้าล มองว่า สันติภาพจะมั่นคงได้ ปัจจัยสำคัญคือการสื่อสารของคู่ขัดแย้งหลักต่อประชาชน เพื่อดูว่าเสียงของประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยสันติภาพระหว่างอิสลาเอลกับปาเลสไตน์ตัวหลักที่จะทำให้สนธิสัญญาสันติภาพสำเร็จหรือไม่ อเมริกาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ปาเลสไตน์จะตกลงก็ต่อเมื่อเพื่อชาวเวสต์แบงค์ และชาวกาซ่ายอมรับ สนธิสัญญาใดก็ตามที่ประชาชนไม่ยอมรับ สนธิสัญญานั้นจะล่มไป ลองดูปี 2535 ปี 2533 หรือ 2461 หรือสนธิสัญญาออสโล่ ล้มหมดเลยเพราะประชาชนไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ

"เราอ่านให้มีความรู้เพื่อปลายทางจะทำให้ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร โดยใช้ความรู้ เหตุผล หลักเกณฑ์ เพราะถ้าใช้อารมณ์ความรู้สึกแต่ละส่วนอาจรู้สึกไม่เท่ากัน เรื่องความเจ็บปวด เราจะก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ไปไม่ได้ ถ้าไม่เคลียร์ความเจ็บปวดข้างหลังด้วย ดุซงญอ กรือเซะ ตากใบ ต้องเคลียร์ด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ต้องเปลี่ยนทางข้างหน้าเพื่อนำไปสู่สิ่งสำคัญ ปาตี้เอ (รัฐไทย) ปาตี้บี (ผู้คิดต่างจากรัฐไทย) ควรจะต้องสื่อสารกับประชาชนด้วยว่าคุณลงนามอะไรกันบ้าง เราจะได้รู้บ้าง" ดันย้าล แสดงทัศนะ

จากนั้น 'ฟาเดลหะยียามานักอ่าน/เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชียซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการก็เปิดให้ผู้ร่วมรับฟังเสวนาร่วมและเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น

แนะอ่านภูมิศาสตร์-วิทยาศาสตร์-จิตวิทยาร่วมกับประวัติศาสตร์ ดาบ 2 คมหากไม่แยกแยะ

นางสาวนูไรมา นิแหมะ  นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แสดงความเห็นว่า  ตอนเด็กเริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนสนใจการอ่านเพื่อส่งเสริมการเกิดสันติภาพ จากที่ฟังเสวนาการอ่านเพื่อสันติภาพทุกคนแนะนำให้อ่านเรื่องประวัติศาสตร์ ตีความประวัติศาสตร์ ตนเองคิดว่าหากเราจะสร้างสันติภาพเราต้องรู้จักตัวเองก่อน หนังสือแนวจิตวิทยาก็สำคัญในการรู้จักตัวเอง รู้จักฉัน รู้จักเธอ เมื่อรู้จักตัวเองก็จะทำให้เรารู้จักเบื้องหลังของแต่ละคนว่า คนนั้นมีจุดละเอียดอ่อนอย่างไร

"เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีจิตใจ มีความคิด มีประวัติศาสตร์  เราแค่ศึกษาประวัติศาสตร์คงไม่เพียงพอ เราต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ความเป็นศาสตร์และศิลป์ในการรวมตัวกัน หากเราแค่ตีความเรื่องประวัติศาสตร์ก็มีคู่ขัดแย้งหลักเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ เช่น ไทยสู้กับพม่า คนไทยก็เชื่อว่าพม่าร้ายกาจมากเลย  แต่พม่าก็อาจเขียนไม่เหมือนกัน”

"คนแต่งหนังสือเขาต้องมีวัตถุประสงค์ในการแต่ง หนึ่ง แต่งเพื่อให้หนังสือขายออก แต่งเพื่อโน้นน้าวใจคน สอง แต่งเพื่อปลุกระดมสารพัด แต่เบื้องต้นเลยคือเราจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้บ้านเราอย่างไร ดังนั้นโจทย์ข้อแรกหากจะสร้างสันติภาพก็คือ ทำอย่างไรให้คนบ้านเรารักการอ่าน และรู้จักแยกแยะ เพราะความรู้เหมือนดาบสองคม และอันตรายเช่นกันถ้าแยกแยะไม่เป็น" นูไรมาแลกเปลี่ยน

มองอ่านวรรณกรรม-นิยายก็สร้างสันติภาพได้

นายสะรอนี ดือเระ บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ถามว่า ถ้าให้อ่านประวัติศาสตร์ควรอ่านประวัติศาสตร์เล่มไหน เรื่องไหน ตกลงว่าเราจะส่งเสริมการอ่าน การตีความ หรือเรื่องประวัติศาสตร์และอ่านอย่างไรให้ตอบโจทย์ชายแดนใต้ อ่านอะไรให้เกิดสันติภาพ

"ผมอยากจะแชร์ว่า อ่านนิยายปรัมปรา อ่านพวกนี้ก็เกิดสันติภาพได้ ส่วนน้องที่บอกว่าอยากจะอ่านความคิดของขบวนการฯ มันมีหนังสือแปลของอินโดนีเซียซซึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามของอินโดนีเซีย และตอนนี้ก็มีการแปลแล้ว มี 4 เล่มเป็นนิยายปฎิวัติ แนวละครช่อง 7 ช่อง 3 แต่ออกจะปลุกระดมสร้างขวัญกำลังใจ แต่ผมก็นึกว่าไม่ออกว่าต้องอ่านเล่มไหนที่จะสันติภาพ" สะรอนี ร่วมแลกเปลี่ยน

สะสมฐานคิดวิเคราะห์ชุดอุดมการณ์เบื้องหลังหนังสือ

ปรัชเกียรติ ว่าโร๊ะ ตอบคำถามของสะรอนี ดือเระ ว่า ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์หลากหลายอย่างไม่จำกัดสำนักคิด ไม่ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างโดยรัฐไทยใส่แนวคิดชาตินิยมไทย หรือประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนปาตานีที่มีแนวคิดชาตินิยมมลายู เรายิ่งอ่านก็ยิ่งสะสมฐานคิดในการวิเคราะห์ว่าประวัติศาสตร์ชุดนั้นถูกเขียนขึ้นด้วยอุดมการณ์อะไร แนวคิดแบบไหนเป็นแรงผลัก ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์แค่เล่มเดียวเราก็จะโดนครอบงำทางความคิดไปโดยอัตโนมัติ

วรรณกรรมเบิกจินตนาการ เชิญชวนติดตามหนังสือ 'มลายูที่รู้สึก'

นายปรัชญา โต๊ะอิแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม แสดงความเห็นว่า การนำเสนอของวิทยากรแต่ละคนก็มาจากหนังสือที่เขาเลือกอ่านและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนนั้น ส่วนการอ่านที่จะเกิดแรงบันดาลใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นบางทีหนังสือประเภทบรรโลงใจ ส่งเสริมจินตนาการก็น่าจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเช่นกัน

"ผมว่าคนคนหนึ่งที่อ่านหนังสือแนวมาร์กซิสต์ แล้ววันหนึ่งเขาตื่นขึ้นแล้วอ่านแฮรี่พอตเตอร์ กลายเป็นส่วนผสมที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่แน่ทิศทางการขับเคลื่อนของเขาจะเปลี่ยนทิศทางกว้างขึ้นมาก็ได้ โจทย์ที่ผมเสนอบางทีการทำงานภาคประชาสังคมวันนี้ นอกจากหนังสือหนักๆ ที่เราอ่านแล้ว จินตนาการก็ต้องไปด้วยกันด้วย เพราะบางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงงานวิชาการแข็งๆ ได้ หนังสือพวกวรรณกรรม นวนิยาย มีความรู้สึกของคน มีวิถีชีวิตปกติของคนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ" ปรัชญา ร่วมแลกเปลี่ยน

ปรัชญา แนะนำหนังสือ 'มลายูที่รู้สึก'  เขียนโดยอาจารย์ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สาขาวิชาสื่อ ศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่ม  เป็นหนังสือแนวสังคมวิทยาจากการที่อาจารย์ศรยุทธทำงานวิจัยและคลุกคลีกับคนมลายูในพื้นที่ ตอนนี้มีการวางขายแล้วแถวภาคเหนือ กรุงเทพฯ ก็สงสัยว่าเขาเขียนได้อย่างไร เขาไม่ใช่คนที่นี่ เขาเป็นคนภาคเหนือ มุมมองของเขาอยู่กับกลิ่นอายท้องทุ่ง อยู่กับชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย

ชื่นชมดึงกลุ่มนักศึกษา 3 ปีก มาพูดคุยผ่านเวทีการอ่าน ลุ้นให้จัดต่อ

นายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แสดงความเห็นว่า พูดถึงเรื่องการอ่านไม่มีใครผิดหรือถูก การอ่านไม่มีใครบังคับกันได้

"ที่ประเด็นดีมากคือ นักศึกษา 3 กลุ่ม ถูกมองว่า 3 ปี ปกติไม่ค่อยคุยกัน ตอนนี้ 3 กลุ่มนักศึกษาเรียนอยู่คนละปีมานั่งคุยกันถือเป็นประสบการณ์ที่ดี มีการแลกกัน อันนี้น่าสนใจ ที่นี้เวลาอ่าน เอาสิ่งที่อ่านไปสนทนากับใครบ้าง ถ้าไม่สนทนากับใคร สนทนากันแค่ 2 คนก็ไม่สำเร็จ หรือสิ่งที่อ่านสนทนาเฉพาะคนที่อยากจะสนทนามันก็ได้เพียงเท่านั้น หลักการอ่านต้องสนทนากับคนอื่นด้วย”

"ที่จริงการอ่านมันจัดระเบียบความคิดการอ่าน เรื่องเล่ามันจะครบอย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้ต้องอ่านอะไรเพื่อจัดระเบียบทางความคิดไปสู่สิ่งนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่จะไปข้างหน้าแล้วมาอ่านของข้างหลังอันนี้ไม่น่าจะไปได้หรือเปล่า" มูฮัมหมัดอายุบ ร่วมแลกเปลี่ยน

"เราอ่านสิ่งที่พระผู้สร้างให้อ่านก็ต้องอ่าน สมัยบังอ่านอัลกุรอ่าน หลังละหมาดซุบฮิ์10 อายะห์และต้องทำอย่างต่อเนื่อง การอ่านผลิตซ้ำ อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อ่านตามเทรนด์  การอ่านทั้งหมดมันไปบรรจบแค่เรื่องเดียว อ่านแล้วมันไปตอบโจทย์สิ่งที่คิดหรือเปล่า มันจะไปเชื่อมเองไม่ต้องกังวล”

มูฮัมหมัดอายุบ ชื่นชมที่สามารถดึงกลุ่มนักศึกษา 3 ปีก มาพูดคุยผ่านเวทีการอ่าน และลุ้นให้มีการจัดเวทีการอ่านดึงนักศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนกันอีก