Skip to main content

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

 

หน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปุโรง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่พากันไปร่วมงานซึ่งมีกิจกรรมการแข่งขันอาซาน การแข่งอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน แข่งขันร้องเพลงอนาชีด การบรรยายธรรมของอิสลาม การจับสลากแจกรางวัล เล่นตลก เป็นต้น รวมถึงมีการออกร้านค้า และเครื่องเล่นเด็กสัญจร

นั่นเป็นบรรยากาศของงานส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีตำบลปุโรง  ครั้งที่ 11  ‘เทิดไท้องค์ราชัน’ อันเป็นงานใหญ่งานหนึ่งประจำปีของตำบลปุโรง ซึ่งอบต.ปุโรงจัดมานับตั้งแต่ปี 2549 ดำเนินเรื่อยมาทุกๆ ปี สำหรับปี 2559 ถูกจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 – 30 มีนาคม 2559 กลางความขัดแย้งรอบใหม่ที่ชายแดนใต้ และตำบลปุโรงเองก็คือพื้นที่สีแดงเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐโดนลอบยิง ลอบวางระเบิดอยู่เนืองๆ

                 

งานส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีตำบลปุโรง ครั้งที่ 11  นายมะมิง สะแต นายกอบต.ปุโรง วัย 57 ปี ผู้เพิ่งดำรงตำแหน่งนายกอบต.ปุโรงเป็นสมัยแรก เขาบอกว่า งานส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีตำบลปุโรง จัดร่วมกันระหว่างอบต.ปุโรง กับชมรมตาดีกาตำบลปุโรง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และชาวบ้านในตำบลปุโรง

“เพื่อเป็นการฟื้นฟูกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม ศาสนาอิสลาม และประเพณีของประชาชนในพื้นที่ตำบลปุโรง และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มะมิง สะแต ระบุ ถึงจุดประสงค์ของงาน

               

                                                 มะมิง สะแต 

ในบรรดากิจกรรมต่าง ๆ ของงานส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีตำบลปุโรง ครั้งที่ 11  มีกิจกรรมหนึ่งของปี 2559 ที่พิเศษกว่าทุกปี คือ มีการเชิญให้นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) มาพูดให้ชาวบ้านฟังเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ในคืนวันที่ 30 มีนาคม 2559 โดยมีนายมะห์หมูด บือซา ประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนการพูดเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจะเริ่มขึ้นบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียดเพราะทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ถ่ายรูปและพูดคุยกับคนที่มาร่วมงาน ถามที่มาที่ไปของการมีการบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพกับตูแวดานียา ตูแวแมแง โดยหาว่าตูแวดานียา เป็นคนขอมาขึ้นเวทีเอง จนมะมิง สะแต ออกอาการประหม่า ทว่าต่อมามะมิง สะแต ก็กล้าประกาศว่าอบต.ปุโรงเป็นผู้เชิญตูแวดานียา มาบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ

                

มะมิง สะแต บอกว่า เขาจบแค่ประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 และไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารอะไรมากนัก นานครั้งถึงได้รับรู้ทางโทรทัศน์ว่ามีเหตุการณ์ที่โน่นที่นี่ มีการพูดคุยระหว่างกับหน้าที่รัฐกับขบวนการฯ แต่เขาก็ไม่สามารถปะติดปะต่อภาพของเหตุการณ์ความไม่สงบได้มากนัก เขาก็อยากเข้าในเหมือนกันว่าปัจจุบันกระบวนการสันติภาพมันอยู่ตรงไหน และก็อยากให้ให้ชาวบ้านได้ฟังด้วย เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรทำความเข้าใจ

“แต่ผมว่าชาวบ้านไม่ได้มาฟังการบรรยายความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพหรอก ที่ชาวบ้านมาเพราะต้องการมาลุ้นการจับสลากแจกรางวัลต่างหาก” มะมิง สะแต แสดงความเห็นจากการที่เขาได้สังเกตุและจับอาการของผู้คนที่มาร่วมพบว่าหาได้สนใจการบรรยาย ถ้าสนใจบ้างก็น้อยคน

มะมิง สะแต บอกว่าเมื่อเช้าวันที่ 29 มีนาคม 2559 ทางอบต.ปุโรงได้เปิดให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนเพื่อจับสลากแจกรางวัล ที่มีทั้ง พัดลม รถจักรยานต์ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า ผ้านวมปูนอน ฯลฯ โดยจับสลากแจกรางวัลเมื่อคืนวันที่ 29 มีนาคมไป 80 รางวัล และคืนวันที่ 30 มีนาคมอีก 100 รางวัล

มะมิง สะแต บอกว่า สภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านตำบลปุโรงที่ผูกติดกับการกรีดยางพาราค่อนข้างแย่ ราคาไม้ผลก็ต่ำ อบต.ปุโรงจึงมีโครงการส่งเสริมการทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว แจกเมล็ดพันธุ์ผัก ให้ชาวบ้านได้พึ่งตนเอง โดยไม่ต้องใช้จ่ายซื้อข้าวสาร พืชผักในการใช้ชีวิตแต่ละวัน

               

เขาอยากให้เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้สงบเหมือน 13 ปีก่อน ไม่อยากให้มีการแบ่งแยกในหมู่บ้าน ในตำบล เขาเชื่อว่าคนที่ร่วมขบวนการฯ นั้นอาจหลงผิด ถูกผู้ไม่หวังดีหลอกลวง ด้วยความที่เข้าใจไม่ตรงกันเลยทำให้คนเหล่านั้นจับอาวุธ อยากให้คนพุทธ คนจีนที่เป็นข้าราชการอยู่ร่วมกันได้กับคนมุสลิม เขาอยากให้เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลเจาะไอร้อง เป็นครั้งสุดท้ายสำหรับความรุนแรงในชายแดนใต้ ศาสนาอิสลามไม่ได้สอนให้ฆ่าคน

“วันก่อนผมก็เคยไปกับอำเภอกรงปินัง ไปร่วมงานที่จัดโดยกอ.รมน. เกี่ยวกับโครงการพาคนกลับบ้านที่มีผู้หลงผิดเข้าร่วมโครงการกว่า 400 คน ซึ่งจัดที่ค่ายปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส” มะมิง สะแต เล่า

มะมิง สะแต เป็นคนที่สนใจงานสาธารณประโยชน์คนหนึ่งเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์เด็กกำพร้า และรู้สึกสนใจในประเด็นที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ จึงตัดสินใจเชิญภาคประชาสังคมมาบรรยายให้ฟัง

 

“ครั้งนี้แค่ลองมาเชิญบรรยาย ครั้งหน้าผมไม่เอาแล้ว คงไม่เชิญแล้ว กลัวถูกมองไม่ดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ” มะมิง สะแต เปิดเผยถึงความรู้สึกกลัวและประหม่า และคงไม่เชิญภาคประชาสังคมมาพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพอีก

เผยแพร่ครั้งแรก : ฟาตอนีออนไลน์,4 เมษายน 2559,http://www.fatonionline.com/2217