Skip to main content

การโจมตีทางอากาศต่อโรงพยาบาลในเมืองอเล็ปโป

คือเสียงปลุกเรียกสหประชาชาติให้ลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

 

Rozee Haree

 

ภาพจากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน/รอยเตอร์ : http://www.doctorswithoutborders.org

 

แปลจากบทความของ โจแอน ลิว และปีเตอร์ เมาเรอร์ ที่มีชื่อว่า The Airstrike on an Aleppo hospital is a wake-up call for the UN. It must act now. เผยแพร่ในเวปไซต์สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน เมื่อวันที่ ๒๙ เมษยายน ๒๕๕๙                                            

                       

ตอนเวลา ๔ ทุ่มเมื่อสองคืนก่อน โรงพยาบาลอัลกุดส์ ที่ตั้งอยู่ในเมืองอเล็ปโปทางตอนเหนือของซีเรียถูกโจมตี โรงพยาบาลขนาด ๓๔ เตียงซึ่งให้บริการห้องฉุกเฉิน หน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤต ห้องผ่าตัด และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินหลักของเมืองสำหรับเด็กถูกทำลายย่อยยับจากการโจมตีทางอากาศ

ผู้ป่วยที่รอดจากการโจมตี เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครเร่งมือขุดหาผู้ที่ติดอยู่ในกองซากปรากหักพังท่ามกลางความมืดและฝุ่นผง เจ้าหน้าที่แพทย์ทำงานเต็มเวลาประจำโรงพยาบาลแปดคน ซึ่งสองคนอยู่ในกลุ่ม ๑๔ คนที่ได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิต การทุ่มเทและอุทิศตัวเองของพวกเขาเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่บุคคลที่จำเป็นก่อให้เกิดการเสียสละอันสูงสุด

เป็นเรื่องที่น่าเศร้า กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียว จากอัฟกานิสถาน ถึงสาธารณะรัฐแอฟริกากลาง จากซูดานใต้ถึงเยเมนและยูเครน รถพยาบาล โรงพยาบาลและศูนย์ทางการแพทย์ถูกระเบิด ปล้นสะดม วางเพลิง และถูกทำลาย ผู้ป่วยถูกฆ่าบนเตียงนอนของพวกเขา เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถูกโจมตีขณะที่พวกเขาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

ความนิ่งนอนใจในอันตรายกำลังพัฒนาตัว ขณะที่การโจมตีประเภทนี้เริ่มถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นใยที่ถูกทักทอขึ้นเป็นพรมแห่งความขัดแย้ง พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนถูกโจมตี รวมทั้งตลาด โรงเรียน บ้านและสิ่งอำนวยประโยชน์ทางสาธารณะสุขที่ถูกทำให้เป็น “เป้าโจมตีที่ไม่ละเมิดกติกา”

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๕- ๒๕๕๗ เฉพาะใน ๑๑ ประเทศ คณะกรรมกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ได้บันทึกรวบรวมเหตุการณ์การโจมตีบุคคลที่ทำหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ป่วย สถานพยาบาล และการขนส่งที่มีเกือบถึง ๒,๔๐๐ เหตุการณ์ เป้าการโจมตีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสถานพยาบาลและบุคลากร ผลพวงจากการโจมตีพลอยทำให้ชุมชนรอบๆเสียหายย่อยยับไปด้วย       

ตัวอย่างเช่นในเขตตอนเหนือของแม่น้ำไนล์ของประเทศซูดานใต้ในเดือนกรกฎาคมปีทีแล้ว ลูกจรวดถูกกระหน่ำยิงและตกใกล้กับอาคารโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในตอนเช้าตรู่ สะเก็ดระเบิดกระเด็นใส่ผนังสีขี้เถ้า รั้วสีฟ้าและร่างของคนที่ยืนโดยปราศจากสิ่งขวางกั้น

ผู้ป่วยเด็กชายอายุ ๑๒ ขวบ และเด็กหญิงอายุ ๓ ขวบเสียชีวิตในทันที และอีก ๒๐ คนทยอยกันเสียชีวิตในอีกไม่กี่วันให้หลังพิษบาดแผล และหนึ่งในนั้นก็คือแม่ของเด็กผู้หญิงที่จบชีวิตลงก่อนหน้านี้  การต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยและพลเรือนต่างพาย้ายวิ่งหนีเอาตัวรอด พื้นที่ที่รองรับประชากร ๗๕,๐๐๐ คนกลับไร้สถานพยาบาลหลักขึ้นมาโดยทันทีทันใด ผลพวงที่อาจจะตามมาคือจำนวนคนตายเพิ่มขึ้น

ในปี ๒๕๕๘ โรงพยาบาลขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) และโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนี้ถูกโจมตีด้วยระเบิดและจรวด ๑๐๖ ครั้ง ชีวิตมากมายที่ต้องสังเวย อุปกรณ์การแพทย์ถูกทำลาย ในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์ ๖๕๔ คนต้องจบชีวิตลงนับตั้งแต่ความขัดแย้งในซีเรียปะทุ โรงพยาบาลร้อยละ ๖๐ เปิดให้บริการได้เฉพาะบางแผนกหรือไม่ก็หยุดให้บริการโดยสิ้นเชิง

ในอีกแง่หนึ่ง สถิติทำได้แค่รบกวนความรู้สึก เพราะตัวเลขสถิติที่เกิดขึ้นได้อำพรางโศกนาฏกรรมที่เกิดกับคนที่ติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆซึ่งต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วนต่างพากันมองชีวิตของตัวเองสิ้นสลายลงเพราะความขัดแย้ง จากนั้น โรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายสำหรับขอความช่วยเหลือได้ก็ยังถูกโจมตี

ใครคือผู้ลงมือก่อการโจมตีเหล่านี้? เกือบทุกฝ่ายทั้งกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธ ใช่ แม้แต่รัฐบาลที่นั่งล้อมโต๊ะสหประชาชาติเองก็ตาม ขอให้เราทำความเข้าใจให้ชัดเจน  ไม่จำเป็นต้องเป็น “ความเสียหายข้างเคียง” เสมอไป มันอาจจะเป็นการโจมตีที่เป็นระบบ ถูกเตรียมแผนการล่วงหน้า หรือไม่ได้ถูกเตรียมแผนการไว้และขัดด้วยกฎหมาย การโจมตีหน่วยงานทางการแพทย์ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือ “อุบัติเหตุ” ล้วนเป็นการโจมตีต่อกฎหมายมนุษยธรรม

สิ่งที่เรากำลังรู้เห็นคือการประทุษร้ายที่ถูกเพิกเฉยในวงกว้างต่อข้อกำหนดทางการแพทย์ในช่วงของความขัดแย้ง ภายใต้หลักการและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องสามารถให้ความช่วยเหลือทแก่บุคคลที่ป่วยหรือบาดเจ็บทุกคนโดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองหรือกลุ่มเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นกำลังพลหรือไม่ใช่ก็ตาม พวกเขาต้องไม่ถูกโจมตีในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ซึ่งสอดคล้องกับจริยธรรมทางการแพทย์ หมอที่รักษาศัตรูของท่านไม่ใช่ศัตรูของท่าน

แต่เรากำลังเผชิญหน้ากับการละเมิดต่อกฎพื้นฐานเหล่านี้ซึ่งก่อให้ผลลัพธ์ทางมนุษยธรรมที่รุนแรง ทั่วทั้งชุมชนและระบบการดูแลทางการแพทย์ได้พยายามสุดข้อจำกัด สิ่งนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นเฉพาะขององค์กรแพทย์ไร้พรมแดน และกลุ่มองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดนเท่านั้น        

ในฐานะประธานองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่เราตอบรับข้อเสนอจากมติสหประชาชาติครั้งสำคัญนี้เพื่อปกป้องการดูแลงานด้านการรักษาพยาบาล แต่เราก็ขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการให้มติเหล่านี้เป็นผลด้วย ประการแรก สมควรที่จะต้องส่งข้อความทางการเมืองที่มีพลังเพื่อย้ำว่างานด้านการรักษาพยาบาลจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ทุกฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งทางอาวุธต้องดำเนินตามข้อผูกมัดอย่างสมบูรณ์ต่อกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งรวมทั้งกฎหมายมนุษยธรรมด้วย ทุกฝ่ายต้องแสดงความเคารพต่อการดูแลทางการแพทย์ซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในช่วงเวลาของความขัดแย้ง

ประการที่สอง ต้องมีการผลักดันอย่างเร่งด่วนให้รัฐต่างๆและทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งทางอาวุธสร้างมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันความรุนแรงต่อบุคคลากร อาคารสถานที่ และการขนส่งทางการแพทย์ รัฐต้องสนับสนุนกฎหมายตามความเหมาะสม ร่วมทั้งยกเลิกมาตรการความเข้มงวดและกฎระเบียบที่สร้างความล่าช้าต่อการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่ฝักฝ่ายใดในภาวะสงคราม

กองกำลังติดอาวุธและทุกฝ่ายในสงครามสมควรนำมาตรการทางการปฏิบัติไปบูรณาการเพื่อคุ้มครองผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการแพทย์ที่ต้องสอดคล้องกับระเบียบ กฎการใช้กำลัง มาตรฐานการปฏิบัติงานและการฝึกอบรม

ประการที่สาม ต้องเป็นที่รับทราบว่าเมื่อใดที่เกิดเหตุโจมต่ออาคารสถานที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลางและทันด่วนเพื่อหาข้อเท็จจริง การทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏไม่จำเป็นต้องเป็นความพยายามของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่สมควรที่ต้องมีการรายงานเกี่ยวกับการโจมตีรูปแบบดังกล่าวอย่างจริงจังและมีการอภิปรายประจำปีในคณะมนตรีถาวร

สำคัญกว่าอื่นใด ความจำเป็นทางการแพทย์ของคนต้องมาก่อนเสมอ ไม่สำคัญว่าเขาเป็นใคร เขามาจากที่ใด เขาสนับสนุนหรือร่วมต่อสู้กับฝ่ายใด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำงานในพื้นที่มีความขัดแย้งเพื่อรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บบนพื้นฐานของความจำเป็น ความจำเป็นเดียวเท่านั้น นั้นก็คือหลักการพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ  และบนพื้นฐานจริยธรรมทางการแพทย์ มันคือข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่แพทย์ปฏิบัติงานบนฐานของความจำเป็นพื้นฐานและไม่ได้มีส่วนในสงคราม ซึ่งพวกพวกเขาสามารถเรียกขอการคุ้มครองจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้          

มติสหประชาชาติมอบโอกาส คือโอกาสในการขีดเส้นลงบนพื้นทรายเพื่อป้องกันการโจมตีอย่างเหตุการณ์ในเมือง อเล็ปโปครั้งต่อไป รัฐมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมายให้ยึดปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองบุคคลที่ติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางอาวุธ ตอนนี้คือเวลาลงมือปฏิบัติ

  ปีเตอร์ เมาเรอร์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) และ ดร.โจแอน ลิว ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ)