Skip to main content

 

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ในพื้นที่สามจังหวัดน่าจะถี่ที่สุดตลอดช่วงชีวิตสิบปีหลังของผม ช่วงเวลาตอนเย็นของวันหยุดแบบนี้ จึงมีโอกาสเข้าไปดูฟุตบอลของทีมท้องถิ่นแถวนี้ตลอด สลับกันยะลาบ้าง ปัตตานีบ้าง ด้วยความที่เป็นคนสามจังหวัดของแท้ พ่อแม่คนนรา ยะลาเป็นเมืองที่ผมโตมา ส่วนปัตตานีคือบ้านภรรยา ผมจึงเชียร์ทุกทีมแถวนี้

 

ช่วงเจ็ดแปดปีที่ผ่านมาหลังจากที่บอลไทยเข้าสู่ยุครุ่งเรือง คนสามจังหวัดซึ่งเดิมก็บ้าบอลมากๆเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่ทำให้ตัวเองตกยุค บอลดิวิชั่นสองที่เตะกันเฉพาะทีมในภาคใต้ ฐานแฟนบอลสามจังหวัดแน่นที่สุดแล้วในภาคใต้ทั้งหมด (สูสีกับสตูลอีกทีม) เวลาทีมประจำจังหวัดเตะทีไร แฟนบอลบางนัดก็ทะลุหมื่น ฤดูกาลที่ฮอทที่สุดคงเป็นปีที่ นรายูไนเต็ด ได้แชมป์ดิวิชั่นสอง ได้เลื่อนขึ้นดิวิชั่นหนึ่ง สุดท้ายมีปัญหาภายในทีมจนทีมแตก และตกชั้นด้วยอันดับสุดท้ายในฤดูกาลต่อมา

 

ในฤดูกาลนั้น นราต้องชิงแชมป์โซนใต้กับทีมสตูล เพื่อเอาหนึ่งทีมเข้าไปชิงตั๋วดิวิชั่นหนึ่งต่อ นัดชี้ชะตา นราต้องไปเยือนทีมสตูล ผมเรียนแพทย์อยู่ปีสอง จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันหยุดเสา อาทิตย์ ก็ชวนเพื่อนที่ตอนนี้กลายเป็นจิตแพทย์ไปแล้วนั่งรถทัวร์ไปสตูลด้วยกัน เพื่อดูบอลนัดนี้ให้ได้ ตอนนั้นไปทั้งๆที่ไม่มีตั๋วในมือ แถมขากลับก็ยังไม่รู้เลยว่าจะกลับอย่างไร เพราะบอลจบรถโดยสารคงหมดไปแล้ว วันนั้นเกมส์สนุกมาก นราบุกไปเสมอสตูลได้ ทำให้การันตีตำแหน่งจ่าฝูงจนก่อนจะถึงนัดสุดท้าย แฟนบอลนราที่ไปกันหลายคันรถบัสแฮปปี้กันสุดๆ เราเลยถือโอกาสนี้ขอติดรถบัสแฟนบอลนราลงที่หาดใหญ่ด้วย

 

หลายปีผ่านไป ฟุตบอลท้องถิ่นยังคงมีบทบาทกับคนในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าทีมในสามจังหวัดเตะในบ้านเมื่อไหร่แฟนบอลเข้ามาในสนามจนแน่นเหมือนเดิม หลายทีมต้องขยับขยายสนามเหย้าของตัวเอง เพื่อรองรับแฟนบอลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมได้ติดตามการทำทีมของ ปัตตานีเอฟซี ซึ่งมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องฟอร์มการเล่นในสนาม

สิ่งที่น่าสนใจของทีมนี้คือการเข้ามาบริหารงานภายในสโมสรของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยในท้องที่ ระดับ ดร. ไปทำทีม ตั้งแต่ประธานสโมสร ผู้จัดการทีม ทีมที่ปรึกษา แน่นอนว่าเป้าหมายการทำทีมคงมากกว่าผลงานในสนาม

 

ร้อยทั้งร้อยของการทำทีมบอล เป้าหมายหลักก็คือเตะบอลให้ชนะ ประสบความสำเร็จในสนาม (ซึ่งทีมพญาตานีก็สำเร็จในส่วนนี้ ปีที่แล้วก็ได้เกือบเข้าไปเล่นดิวิชั่นหนึ่งแล้ว) หานักเตะดีๆเข้ามาในทีม ดึงโค้ชที่มีความสามารถ ดึงศักยภาพของนักเตะให้เล่นเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าทีมเตะบอลดี แฟนบอลก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือหน้าที่ของสโมสรฟุตบอลทุกสโมสรอยู่แล้ว แต่งานนอกสนามที่จะสร้างอะไรมากกว่า แพ้ ชนะ ในเกมส์ คือสิ่งที่ทำให้ทีมบางทีมแตกต่างจากหลายๆทีม

ตัวสโมสรนั้นอยู่ได้ด้วยฐานของท้องถิ่นนิยม คนนิยมทีมเพราะเป็นทีมบ้านเกิด ยิ่งหากนักเตะในทีมเป็นลูกหลานคนในท้องถิ่นด้วยแล้ว ทีมก็จะเป็นกันและกันกับท้องถิ่นมากขึ้น นักเตะในทีม เป็นตำแหน่งที่คนในท้องถิ่นชื่นชม ถ้าเด็กๆก็ยกเป็นไอดอล ถ้าไอดอลเป็นแบบไหน คนที่รักใคร่ชื่นชมก็จะทำพฤติกรรมเลียนแบบ ทีมที่ต้องการให้แฟนบอลได้อะไรบ้างจากนักฟุตบอล จึงนำเสนอภาพที่ดีของนักฟุตบอล นำเสนอให้แฟนบอลเสมอ

-ภาพการละหมาดร่วมกันของสตาฟ นักเตะ และผู้บริหาร ถูกถ่ายทอดบ่อยๆผ่านสื่อของสโมสร เพื่อให้แฟนบอลรับภาพใหม่ๆของนักฟุตบอล ว่าเตะบอลเก่งแล้วก็เป็นมุสลิมที่ดีด้วย

-ภาพของนักเตะที่ไปสอนเตะบอลให้น้องๆ ในช่วงเวลาปิดเทอม หรือเวลาใดก็ตาม สร้างแรงบันดาลใจของการรักษาสุขภาพ ดูแลร่างกายให้ดี ให้เตะบอลได้นานๆ ถ้าอยากได้สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด อย่างน้อย เหล้าเบียร์ บุหรี่ ไม่ควรยุ่ง

-ผู้บริหารที่ไม่อยากให้ดูฟุตบอลจนต้องทิ้งละหมาด ก็ไปสร้างห้องละหมาดใหญ่ๆข้างสนาม

-ทีมสตาฟที่พอมีเวลาว่างบางคนก็ไปทำทีมกับยุวชนวัยประถม ใช้ฟุตบอลให้เด็กมาหมดเวลากับ สนามบอล โรงเรียน บ้านและมัสยิด เท่านั้น ไม่เหลือเวลาให้ไปมั่วสุมทำอย่างอื่น

 

นี่คือผลสัมฤทธิ์ของงานนอกสนามเริ่มเกิดขึ้นช้าๆ ตามความคาดหวังของผู้บริหารที่จะใช้ฟุตบอลเป็นสื่อในการสร้างความดีกับท้องถิ่น คงต้องใช้เวลาอีกสักพักที่จะบอกว่าสิ่งที่พยายามจะทำมันทำให้สังคมดีขึ้นหรือไม่ แต่แค่มีความพยายามจะทำให้มันดีขึ้น ก็ได้ความดีไปหนึ่งความดีแล้ว

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นได้ดีว่า จะทำอะไรก็ตาม ความตั้งใจดี การบริหารดี พื้นฐานดี มันก็จะเปลี่ยนอะไรใหญ่ๆให้ดีขึ้นช้าๆได้

 

ปล.หนึ่ง สิ่งที่หาไม่ได้ในสนามบอลสามจังหวัดคือ ไม่มีเหล้าเบียร์ขายในสนามและบริเวณรอบๆสนามแน่นอน ไม่มีการรับสปอนเซอร์จากบริษัทเหล่านี้ด้วย กลยุทธของบริษัทเหล้าเบียร์ที่จะใช้กีฬาเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์คงเข้ามาในพื้นที่นี้ไม่ได้

ปล.สอง บอลโซนใต้ มีช่วงหยุดพักฤดูกาลหนึ่งเดือน คือ ช่วงเดือนรอมฎอน ที่มุสลิมถือศีลอดกันทั้งเดือน ที่พักฤดูกาลเพราะชาวบ้านแถวนี้ไม่นิยมออกจากบ้านเวลาเย็นๆก่อนละศีลอด นักบอลจะวิ่งก็ไม่มีแรง กลายเป็นลีกฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงตามสังคมพหุวัฒนธรรม

ปล.สาม ทีมอื่นๆ ในประเทศต้องมีผู้หญิงเป็นพริตตี้ในสนาม ไว้ดึงกองเชียร์ สร้างขวัญกำลังใจนักบอล แต่ที่สามจังหวัด ผู้หญิงในบริบทที่ทีมอื่นๆทำ ไม่มีแบบนั้นแน่นอน ไม่ทราบว่าเป็นประเด็นที่วัฒนธรรมมลายู กดซ้อนพื้นที่ของสตรีด้วยหรือเปล่า แต่สนามบอลก็ยังคงเต็มไปด้วยแฟนบอลเสมอ