Original Link Clik Here .
เปิดคำถามล่วงหน้าด้านสิทธิจากหลายประเทศถึงรัฐบาลไทยก่อนต้องตอบจริงบ่ายวันนี้ที่เจนีวา
ประเด็นร่วมที่ถามกันหนักคือเรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกโดยเฉพาะในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาการปกป้องนักสิทธิและผู้ลี้ภัย และป้องกันการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิในภาคใต้ ตลอดจนการบังคับคนให้สูญหาย และการปรับทัศนคติ
วันนี้ 11 พ.ค.จะมีกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ Universal Periodic Review (UPR) ครั้งที่ 2 ของไทยโดยที่ประชุมนานาชาติที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ในเวลา 14.00 น.ซึ่งกลุ่มสิทธิหลายกลุ่มที่จับตาสถานการณ์ในไทยได้จัดงานเสวนาควบคู่ไปด้วย รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ กระบวนการ UPR เป็นการติดตามผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนจัดโดยองค์กรด้านสิทธิของสหประชาชาติ
คำถามในเรื่องการใช้อำนาจศาลทหารและการจำกัดเสรีภาพที่มีเนื้อหาหลักๆส่วนหนึ่งมาจากเนเธอร์แลนด์ที่สอบถามว่า นับตั้งแต่ที่มีการทำรัฐประหารหนล่าสุด ได้มีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้วกี่คน มีผู้ที่ถูกจับกุม ตั้งข้อหาและถูกตัดสินลงโทษว่าด้วยเรื่องหมิ่นตามมาตรา 112 ไปแล้วกี่คน มีการเรียกประชาชนไปปรับทัศนคติ หรือที่ทหารไปเยี่ยมบ้านมาแล้วกี่ราย นอกจากนั้นถามเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรให้มีหลักประกันว่า ทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญสามารถแสดงความเห็นในที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ หรือมีมาตรการอย่างไรในอันที่จะให้สังคมได้ถกกันในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะก่อนที่จะมีการลงประชามติ ด้านเบลเยียมถามว่าทางการไทยมีแผนจะพิจารณายกเลิกคำสั่งคสช.ที่ให้พิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารหรือไม่เพื่อที่จะให้มีการเคารพสิทธิประชาชนในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามข้อตกลงที่ไทยมีภาระผูกพันกับสากลตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR
ด้านสวีเดนถามว่า รัฐบาลไทยมีแผนอย่างไรในอันที่จะรับมือกับข้อวิตกกังวลเรื่องที่มีการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นคำถามคล้ายกันกับอังกฤษที่ถามว่า เหตุใดไทยจึงใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์แทนที่จะใช้กฎหมายหมิ่นในการจัดการกับผู้ที่เห็นว่ากระทำผิดในเรื่องของการหมิ่นประมาท และผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นอย่างไรว่าได้มีการใช้กฎหมายนี้อย่างระมัดระวังในคดีหมิ่น อังกฤษถามด้วยว่า รัฐบาลไทยมีแผนอย่างไรในอันที่จะยกเลิกการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร หรือคุมขังในสถานที่ของทหาร และย้ายคดีไปพิจารณาคดีในศาลปกติ รวมทั้งมีแผนที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎอัยการศึกและกฎหมายว่าด้วยศาลทหารเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหารอย่างไรต่อไป นอกจากนั้นยังถามด้วยว่าสถานที่คุมขังในค่ายทหารนั้นสอดคล้องกับกฎหมายที่ไทยมีอยู่ในเรื่องของการกำหนดสถานที่ควบคุมตัว รวมทั้งเปิดให้มีการเข้าตรวจสอบสถานที่เหล่านี้อย่างอิสระได้หรือไม่
ด้านสหรัฐฯระบุว่าได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพของพลเมือง ขอให้มีกระบวนการทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกฝ่ายได้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และมีคำถามว่า ไทยจะดำเนินการอย่างไรในอันที่จะให้มีการเคารพต่อสิทธิในอันที่จะชุมนุมอย่างสงบรวมทั้งเรื่องของการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นก่อนที่จะมีการลงประชามติในรัฐธรรมนูญ สหรัฐฯถามว่าไทยจะมีมาตรการอย่างใดอีกที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และยังระบุว่าวิตกกับคำสั่งคสช.ฉบับที่ 13/2559 และการให้อำนาจของทหารในการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวน พร้อมกับร้องขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกคำสั่งนี้ และให้กำหนดให้องค์กรของพลเรือนเท่านั้นที่จะมีอำนจในการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและพิทักษ์สันติราษฏร์ และยังมีคำถามอีกว่า ทางการไทยมีมาตรการอย่างไรในอันที่จะป้องกันไม่ให้มีการละเมิดการใช้อำนาจที่ได้มาเพิ่มเติมดังกล่าว สหรัฐฯยังแสดงความวิตกเรื่องการจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่ม นอกจากนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกรายที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นไปในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกของประชาชน
ออสเตรเลียมีคำถามว่าไทยมีมาตรการอย่างไรในอันที่จะสร้างความมั่นใจว่า การดำเนินคดีภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะสอดคล้องกับภาระผูกพันที่ไทยให้ไว้กับนานาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน และถามว่าทางการไทยเคยพิจารณาหรือไม่ในอันที่จะให้มีมาตรการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีกระบวนการในอันที่จะกลั่นกรองเพื่อให้แน่ใจว่าเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐานได้รับการยอมรับและปฎิบัติตาม
ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ถามว่า การ “ปรับทัศนคติ” ที่ทางการไทยทำมีความหมายอย่างไร และการเรียกคนปรับทัศนคติดังกล่าวจะสอดคล้องกับพันธะที่ไทยมีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองอย่างไร ด้านเสปนมีคำถามเรื่องคำสั่งคสช.ที่ 13/2559 มาตรการป้องปรามให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในอันที่จะจับกุมได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการ และเจ้าหน้าที่ยังไม่ต้องรับผิดหากดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว คำถามก็คือประเทศไทยจะป้องกันและลงโทษในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำเภอใจอย่างไร และนอร์เวย์ถามด้วยว่า ในการดำเนินคดี 112 ทางการจะให้หลักประกันว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันในการได้รับการพิจารณาคดีได้หรือไม่ รวมทั้งสิทธิในอันที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิในการได้รับการประกันตัวดังที่เป็นข้อกำหนดใน ICCPR และไม่นำตัวพลเรือนในคดีเหล่านี้ขึ้นศาลทหารได้หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่องเกี่ยวกับการดูแลผู้ลี้ภัย สวิตเซอร์แลนด์ถามถึงหลักประกันในเรื่องจะไม่ละเมิดหลักการไม่ส่งตัวกลับหากจะได้รับอันตรายหรือที่เรียกว่า non refoulement ในทุกๆกรณี สาธารณรัฐเชคถามว่ามีการจัดวางกลไกปกป้องผู้ลี้ภัยอย่างไร และว่าไทยมีแผนจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาที่เกี่ยวกับการปกป้องผู้ลี้ภัยหรือไม่ เยอรมนีบอกว่าผู้ลี้ภัยควรจะมีสถานะทางกฎหมาย มีคำถามเช่นกันว่าไทยมีแผนอย่างไรที่จะลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยปี 2494 และจะให้มีกฎหมายในประเทศที่ให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยอย่างไร
มีบางประเทศที่ถามเจาะจงในเรื่องปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ เช่นนอร์เวย์ถามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรในอันที่จะยุติปัญหาการละเมิดสิทธิตามที่มีรายงานกันในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะตามที่เป็นข่าวว่ามีการซ้อมทรมาน การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการที่ไม่มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องการบังคับให้สูญหาย อังกฤษก็ถามเช่นกันว่าไทยมีแผนอย่างไรในอันที่จะสอบสวนในเรื่องของการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กองกำลังของรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือ และถ้าข้อกล่าวหานั้นมีน้ำหนัก จะดำเนินคดีผู้ลงมือหรือไม่
หลายๆประเทศเช่นเบลเยียมยังทวงถามว่าไทยจะเปิดโอกาสให้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติหรือยูเอ็นในด้านการซ้อมทรมาน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เข้าประเทศไทยได้เมื่อไหร่ นอกจากนั้นยังมีคำถามเรื่องมาตรการดูแลป้องกันปราบปรามเรื่องการค้ามนุษย์ ดูแลเด็ก การป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเด็กในภาคเศรษฐกิจต่างๆโดยเฉพาะด้านประมง เช่นสวีเดนมีคำถามว่าไทยมีมาตรการอย่างไรในอันที่จะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในเรื่องการค้ามนุษย์ รวมทั้งการกำจัดการเอารัดเอาเปรียบทางเพศเด็กๆ การลักลอบค้าเด็กเพื่อเป้าหมายทางเพศ ยังมีคำถามจากอังกฤษว่าไทยใช้มาตรการอย่างใดบ้างในอันที่จะสอบสวนและป้องกันไม่ให้มีการละเมิดคนทำงานในอุตสาหกรรมประมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานข้ามชาติที่ทำงานกับประมงในอ่าวไทย และสหรัฐฯ วิตกเรื่องรายงานที่มีเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน รวมไปถึงในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและในเรือประมง มีคำถามว่าประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้างในการสอบสวน ดำเนินคดีและลงโทษคนที่บังคับใช้แรงงาน เสปนถามเรื่องเดียวกัน คือถามถึงมาตรการในการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเด็กในภาคอุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะประมงและกิจการอาหารทะเล