Skip to main content

 

ภาพจาก : Mehdi Fedouach / เอเอฟพี

 

ฏอรีก รอมาฎอนมักเป็นบุคคลแรกๆที่ผู้คนนึกถึงเมื่อมีการเอ่ยถึงการตื่นตัวของอิสลาม และกระแสการตระหนกกลัวต่ออิสลามหรืออิสลาโมโฟเบีย ตลอดจนประเด็นการเป็นมุสลิมในฐานะชนกลุ่มน้อยในยุโรปที่คนส่วนใหญ่มีกรอบมโนทัศน์แบบจูดีโอ-คริสเตียน รอมาฎอนเป็นศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัยประจำมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เขาเขียนหนังสือ บรรยาย และโต้ดีเบทในประเด็นอิสลามร่วมสมัยนับครั้งไม่ถ้วน รอมาฎอนได้รับการจัดลำดับโดยนิตยสารไทม์เป็นหนึ่งใน ๑๐๐ บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปี ๒๕๔๗ เขาเกิดในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมีศักดิ์เป็นหลานของฮัสซัน อัลบันนา ผู้ก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม หรือที่เรานิยมเรียกสั้นๆว่า “กลุ่มอิควานฯ”

อิทธิพลทางความคิดของรอมาฎอนได้เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงและการตั้งคำถามใหม่ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิสลามยุโรป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาปัญญาชนมุสลิมที่สามารถเสนอข้อคิดเห็นที่วางอยู่บนฐานของหลักวิชาการ โดยไม่ทิ้งมุมมองของอิสลาม ถึงกระนั้น รอมาฎอนก็ยังตกเป็นที่เกลียดชัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมยุโรป

บทความนี้ถอดความและเรียบเรียงจากบทความของอาลี ซาอัด (Ali Saad) ที่มีชื่อว่า “Why is Tariq Ramadan is demonized in France” ซึ่งเผยแพร่ในเวปไซต์สำนักข่าวอัลจาซีราฮฺเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘ ในฐานะนักสังคมวิทยา ซาอัดพยายามหาคำตอบว่าทำไมรอมาฎอนจึงตกเป็นที่เกลียดชังโดยชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

ทำไมฏอรีก รอมาฎอนจึงถูกทำให้เป็นเหมือนปีศาจร้ายในฝรั่งเศส?

“ผมมาจากประเทศ[ฝรั่งเศส]หนึ่ง ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผู้คนราว ๑๑ ล้านคนออกมาเดินขบวนเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ออกจะตลกร้ายที่ ณ ตอนนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ใดสักที่หนึ่งในฝรั่งเศส เพื่อที่ผมจะสามารถโต้ถกเถียงกับฏอรีก รอมาฎอน!” อาแลง เกรช (Alain Gresh) นักข่าวฝรั่งเศสพูดในช่วงการบรรยายครั้งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

ความขมขื่นแต่จริงใจของเกรช ยิ่งจะตอกย้ำความจริงที่ออกดูจะอัปลักษณ์ของสภาวะทางเสรีภาพในการแสดงออกในฝรั่งเศส หลังจากเหตุการณ์โจมตีสำนักพิมพ์ชาร์ลี เอบโด ในช่วงเวลาหนึ่งปีทีผ่านมา ความมั่นคงปลอดภัยได้เบียดพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพและยังทำให้เรื่องสำคัญอื่นๆอย่าง การว่างงาน วิกฤติเศรษฐกิจ และความยุติธรรมกลายเป็นเรื่องรองไป บรรยากาศแห่งความกลัวทำให้เสียงที่คอยตั้งคำถามต่อนโยบายและวิวาทะของรัฐต้องพากันปิดเงียบลง

และเสียงของรอมาฎอนเป็นหนึ่งในเสียงพวกนั้น

“ฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียวในโลกที่ผมไม่สามารถใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย[เพื่อพูดบรรยาย]” รอมาฎอนพูดในช่วงการบรรยายซึ่งถูกจัดขึ้นในหอประชุมเช่าแห่งหนึ่งในเมืองนีซเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

คำถามเกี่ยวกับอิสลาม

มีหลายกรณีที่รอมาฎอนถูกปฏิเสธสิทธิในการจัดดีเบทในที่สาธารณะในกรุงปารีสและเมืองออค์ลองส์ ครั้งหนึ่งนายกเทศมนตรีอาแลง จือแป (Alain Juppe’) ได้พยายามกันเขาไม่ให้จัดการประชุมในเมืองโบร์ดอกซ์  

ในช่วงเวลาที่คำถามเกี่ยวกับอิสลามและมุสลิมในฝรั่งเศสและยุโรปกำลังเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอิสลามและมุสลิมอย่างรอมาฎอนกลับไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น

การใส่ร้ายป้ายสีรอมาฎอนอย่างเสียๆหายๆโดยสื่อไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด แต่สื่อและหนังสื่อพิมพ์บางสำนักกลับมากระพือข่าวให้ดูแรงขึ้นอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์การโจมตีชาร์ลี เอบโด และรอมาฎอนปฏิเสธไม่ตอบรับสโลแกน “Je Suis Charlie” (พวกเราคือชาร์ลี) แม้ว่าเขาได้กล่าวประณามอย่างหนักแน่นต่อการโจมตีดังกล่าวแล้วก็ตาม

รอมาฎอนได้วิจารณ์ความเป็นสองมาตรฐานและการขาดความเป็นมืออาชีพของนิตยสารดังกล่าว ซึ่งแสดงจุดยืนด้วยการไล่ซีเน -นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองชาวฝรั่งเศส-ออกจากสำนักพิมพ์เมื่อหลายปีก่อนเมื่อนักเขียนการ์ตูนผู้นี้ไปพูดเชิงล้อเลียนว่า “เป็นไปได้ที่ลูกชายของซาร์โกซี่หันไปรับนับถือศาสนายูดาย” ในขณะเดียวกัน ทางนิตยสารกลับอ้างสิทธิในการแสดงออกอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อนักเขียนการ์ตูนอีกคนได้ล้อเลียนอิสลามและ ศาสดามูฮำหมัด

การออกมากีดกันรอมาฎอนเกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวาทกรรมอิสลาโมโฟเบียกำลังถูกโหมกระพือให้รุนแรงขึ้นผ่านสื่อกระแสหลัก การใส่ร้ายสร้างรอยด่างต่อมุสลิมในฝรั่งเศสและอิสลามปรากฏผ่านสื่อออกมาทุกวัน และแม้แต่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ตาม

เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีฝรั่งเศสท่านหนึ่งได้โยงผู้หญิงที่คลุมหน้าเข้ากับ “นิโกรที่ยินยอมเป็นทาส” ขณะเดียวกัน ปัญญาชนฝรั่งเศสบางท่านได้ออกมาเป็นปากเสียงสนับสนุนให้ “ขับมุสลิมออกนอกประเทศ” หรือไม่ก็เรียกร้องให้มุสลิม “ก้าวออกจากอิสลาม” เพราะ“อิสลามไม่สอดคล้องกับประเทศแบบสาธารณะรัฐหรือแนวทางการใช้ชีวิตแบบฝรั่งเศส”

บุคคลซึ่งออกมากล่าวให้ร้ายรอมาฎอนอย่างเช่น แคโรไลน์ โฟเรสท์ (Caroline Fourest) และเบอร์นาด อองรี เลวี (Bernard Henry Levy) โดยเขียนบรรยายเขาในหนังสือของปาสกาล โบนีฟาส (Pascal Bounifast) ว่า “ผู้ที่ชอบทำการปลอมแปลงทางปัญญา” ได้กระตุ้นให้เกิดศัพท์บัญญัติคล้ายๆกันที่คอยละเลงให้ร้ายรอมาฎอนในทุกวันนี้     

คนเหล่านี้กล่าวหาเขาว่า “คลุมเครือ” “สองวาทกรรม” และทำงานเพื่อ “ทำให้ยุโรปเป็นอิสลาม” แต่ก็ล้มเหลวในการหาหลักฐานมาแสดงยืนยันและมักคอยอ้างเรื่องเดิมๆถึงการสืบเชื้อสายของเขาในฐานะเป็นหลานของฮัสซัน อัล-บันนา ผู้ก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม และใช้เรื่องนี้เป็น “เขม่าดินปืน” พิสูจน์คำอ้างของพวกเขา

วาทกรรมของรอมาฎอน

หากพิจารณาจากวาทกรรม งานเขียนและการบรรยายของรอมาฎอน เราจะทราบโดยทันทีว่า ฝรั่งเศสและยุโรปต้องเงี่ยหูฟังเสียงของเขา ข้อเขียนและวาทกรรมของเขามักเผชิญหน้าท้าทาย ตั้งคำถาม ชำแหละ และถอดรื้อวาทกรรมของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและของชนชั้นนำ

รอมาฎอนทุ่มเทอย่างหนักเพื่อกันอิทธิผลจากภายนอกที่อาจมีต่ออิสลามแบบยุโรป รอมาฎอนสนับสนุนการบูรณาการทางสังคม และยังเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างนโยบายความเท่าเทียมกันทางสังคม ตลอดจนให้รัฐบาลยอมรับกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากเขาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้ลัทธินิยมความรุนแรงได้หยั่งรากในกลุ่มคนชายขอบ

รอมาฎอนเรียกร้องให้มุสลิมฝรั่งเศสและยุโรปปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองเต็มตัว คิด พูดและปฏิสัมพันธ์กันผ่านจิตสำนึกที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนโดยรวม ตั้งคำถามต่อรัฐบาลของพวกเขาเกี่ยวกับนโยบายทางสังคมเศรษฐกิจ พร้อมที่จะปฏิเสธความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทุกเมื่อเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน เขายังเรียกร้องให้มุสลิมยุโรปตอบโต้ด้วยเหตุผลต่อการโจมตีที่วางอยู่บนฐานของอารมณ์ความรู้สึก

เขายังสนับสนุนให้นักการเมือง ปัญญาชน และนักสื่อสารมวลชนเคารพและให้เกียรติต่อเหยื่อของความรุนแรงในบรรทัดฐานเดียวกันโดยไม่เลือกว่าเขาจะนับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติไหนหรือมาจากประเทศใด

คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของชุดความเชื่อของรอมาฎอนคือการที่ชุดความเชื่อเหล่านี้วางอยู่บนฐานของวิธีการที่พยายามแสวงหาการอยู่ร่วมกันทางสังคมในฐานะความรู้ภูมิหลังร่วมกันที่ไม่ได้วางอยู่บนเฉพาะการยอมรับในความเหมือนของเราเท่านั้น แต่ยังวางอยู่บนฐานของการตระหนักในความต่างของเราอีกด้วย สำหรับรอมาฎอน การอยู่ร่วมกันก่อให้เกิดการกระทำร่วมกันและการยอมรับมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่ถูกหลอมสร้างโดยสังคหมู่ย่อย

ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า Islamic Ethics: A Very Short Introduction รอมาฎอนได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสานเสวนาระหว่างศาสนาและระหว่างวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าร่วมกันทางคุณธรรม เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงบทบาทและความสำคัญของศาสนาที่ขาดหล่นไป รัฐและอำนาจของเศรษฐกิจต่อสังคม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายอันใหญ่ยิ่งอย่างการก่อการร้าย

งานเขียนและมุมมองความคิดเห็นของรอมาฎอนยังคงถูกเพิกเฉยโดยสื่อ ยกเว้นนักวิชาการฝรั่งเศสที่มีความคิดเปิดกว้างไม่กี่ท่านเท่านั้น อย่างเช่นนักสังคมวิทยาผู้มีชื่อเสียง เอดการ์ มอริน ซึ่งได้ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มหนึ่งกับรอมาฎอนในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ (โดยเนื้อหาเป็นการร่วมถกในเรื่องการศึกษา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ลัทธิทางโลกนิยม สิทธิสตรีและชนกลุ่มน้อย ลัทธิต่อต้านยิว อิสลาโมโฟเบีย ประชาธิปไตย ลัทธิฟันดาเมนทัลลิสม์ และโลกาภิวัฒน์) นอกจากนักสังคมวิทยาผู้นี้แล้ว ยังมีอดีตหัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เลอ มองเดอ เอดวี เพลเน และอดีตหัวหน้าบรรณาธิการ เลอ มองเดอ ดิพโลมาติค ที่มีชื่อว่า อาล๊อง เกรช ซึ่งทั้งสองชอบจัดถกสนทนากับรอมาฎอนอยู่เป็นครั้งคราว

การเลือกปฏิบัติต่อรอมาฎอน

ปัญญาชนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ได้ประณามการเลือกปฏิบัติต่อรอมาฎอน และได้กล่าวย้ำให้คนเหล่านี้มานั่งถกสนทนากับเขาแทนถึงแม้ต่างฝ่ายต่างมีทัศนะที่แตกต่างกันก็ตาม เพราะนั้นคือการให้การเคารพต่อการแสดงออกอย่างเสรีในฐานะคุณค่าสากล  ทั้งเกรช และมอรินได้ร่วมกันลงนามบทความฉบับหนึ่งซึ่งได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ เลอ มองเดอ เมื่อสามวันก่อน เพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการกีดกันสั่งห้ามต่อรอมาฎอน

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอิสลามและมุสลิมเป็นจุดสนใจของการโต้ถกเถียงในฝรั่งเศสและยุโรป อะไรคือเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมแก่ทัศนคติที่เลวร้ายต่อนักวิชาการอย่างรอมาฎอน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอิสลามและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอิสลามิสต์ แล้วทำไมเขาถึงได้ถูกเขียนให้ร้ายเพื่อให้คนเกลียดชัง?

หรือเป็นเพราะว่าผลงานที่ผ่านมาของรอมาฎอนที่มักไปท้าท้ายการมองเชิงเหยียดแบบเหมารวมต่อคนอาหรับหรือมุสลิม? ในความรู้สึกของชนชั้นปกครองของฝรั่งเศส มุสลิมหรืออาหรับคนหนึ่งต้องโยงติดกับภาพอุปาทานและแม่แบบที่ถูกชิงให้นิยามล่วงหน้าไปแล้วเสมอ คือภาพของคนโง่คนหนึ่ง คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือที่พูดฝรั่งเศสได้กระท่อนกระแท่นและมักถูกมองว่าชอบสร้างปัญหาแก่สังคมอยู่โดยรอบ เมื่อพวกเขาเหล่านี้ถูกเปิดพื้นที่ให้พูด ซึ่งมีไม่บ่อยครั้งนัก พวกเขาก็ถูกมองว่าเอาแต่อ้างคำพูดสิ่งเดิมๆ ไม่ได้คิดที่จะส่งเสริมนโยบายและวิวาทะของรัฐบาลแต่อย่างใด  ซึ่งแตกจากกับ ฮัซเซน คัลฆูมี [อีหม่ามประจำมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองเซง แซง เดอนี ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส] ที่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อแต่กลับสร้างความไม่พอใจให้กลับชุมชนมุสลิมในฝรั่งเศส

หรือเพราะว่ารอมาฎอนเปลือยปอกเหตุผลต่างๆของบรรดาเผด็จการทางปัญญาของรัฐบาลอย่างเปิดเผย? หรือเป็นเพราะว่าการถกโต้กับรอมาฎอนจะทำให้เห็นถึงความย้อนแย้ง และสั่นคลอนคำโป้ปดที่พวกเขาโฆษณาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาเอง?

การไปสร้างภาพให้รอมาฏอนดูเป็นผู้ร้ายในฐานะ “ไอ้ศัตรูมุสลิม” ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมแบบจอมปลอม และเปิดโอกาสให้รัฐบาลเบี่ยงความสนใจของสาธารณชนออกจากปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่แท้จริง

สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นคือ ฝรั่งเศสเผชิญกับความยากลำบากต่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในห้วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมฝรั่งเศสเกิดความรู้สึกลำบากต่อการยอมรับความเป็นพหุลักษณ์ของตัวเอง ดังนั้น การให้พื้นที่แก่ฏอรีก รอมาฎอนให้ได้แสดงออกทางความคิดเห็นอย่างอิสระจะช่วยสร้างการยอมรับอย่างเป็นทางการถึงพหุลักษณ์และหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐที่ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม แต่กลับเป็นเรื่องตลกร้าย ประเด็นหลักทั้งสองคือสิ่งที่รอมาฎอนถกพูดและเน้นย้ำเกือบในทุกผลงานของเขา