Skip to main content

http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2010/11/15/article-0-0C12D194000005DC-842_634x412.jpg

“อาหารคือรากของศาสนา” เมื่ออาหารต้องห้ามหรือได้มาด้วยความทุจริตจากเงินที่ซื้อหรือฉ้อโกง

แล้วอาหารได้เข้าไปในท้องมนุษย์ เมื่อนั้น “เขาจะอ่อนแอทางด้านจิตวิญญาณ” 

ซึ่งนับเป็นการยากที่เขาจะเข้าหาพระผู้สร้างและเป็นศาสนิกที่ดีได้

(0)

           ผมนั่งคิดอยู่หลายวัน ว่า มุสลิมเรามักโฆษณาว่ามีของดี มีความภูมิใจในการดำเนินชีวิตแบบอิสลาม มีรูปแบบและวิถีปฏิบัติตามท่านศาสดา กระนั้น สิ่งที่เราพบเห็นในแต่ละวัน มันกำลังเดินสวนทาง ผมจึงนั่งคิดเล่น ๆ ว่า ในเมื่อเรามีความเชื่อแบบนั้น เราก็น่าจะนำเสนอสิ่งที่เราเชื่อว่าดี ซึ่งน่าจะแสดงออกมาในรูปแบบที่ชัดเจน

            พูดง่าย ๆ คือ เช่น เรื่องการกินตามความเชื่อแบบอิสลาม  เราน่าจะมีร้านอาหารแบบอิสลาม หรือ “อิสลามศึกษา ว่าด้วยการกิน” ผ่านการประกอบการของพ่อค้าแม่ขายที่กำลังดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แค่ป้ายชื่อว่า “ร้านอาหารอิสลาม” หรือ Muslim Restaurant  ทว่า “ควรยกระดับร้านเหล่านี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้” ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

            สิ่งที่เราน่าจะมีคือ “แหล่งเรียนรู้อิสลามของผู้อยากเข้าใจหรืออยากเรียนรู้”  ซึ่งเราจะนำเสนอ “วิถีชีวิตของท่านศาสดาในบริบทที่ว่าด้วยการกิน” ผู้ที่จะเข้ามารับประทานอาหารนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ประเด็นที่สำคัญของร้าน แต่จุดขายของร้านคือ กินแบบท่านนาบี ซึ่งนับเป็นร้านที่มีสโลแกนที่ชัดเจนที่สุดคือ “กินอย่างไรแบบนาบี ลองสักครั้งในชีวิตกับศูนย์การเรียนรู้ ว่าด้วยการกินแบบอิสลาม”

           ใต้กระแสโลกสมัยใหม่และการเปลี่ยนผ่าน การเรียนรู้เพื่อก้าวข้าวความต่างในสังคมที่ไม่เหมือนกันนับเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุด หาไม่แล้ว “เป็นจุดแลกหยดเลือดเหมือนอย่างที่เห็น” การเริ่มต้นสู่การเรียนรู้อย่างแรก เราอาจเริ่มด้วย สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา เช่น การกิน การเรียน การอ่าน การใช้ชีวิต หรืออะไรที่สามารถเห็นชัดและเข้าใจง่ายผ่าน “กระบวนการแชร์และแลกเปลี่ยนแบ่งปัน”

           ร้านขายข้าวอาจปรับเปลี่ยนให้เป็น “แหล่งเรียนรู้แบบอิสลามว่าด้วยการกิน” เริ่มตั้งแต่มีเอกสารแนะนำร้านพร้อมบรรจุหลักการและแหล่งความรู้ต่าง ๆ ในการรับประทานอาหารแบบอิสลามตามแบบฉบับ (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดามูฮัมหมัด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการซักฟอกของอิสลามผ่านการกิน

          ผู้เดินทางเข้ามาศูนย์เรียนรู้ ไม่ต่างจากเด็กมาเข้าค่าย เราอาจเปิดร้านในรูปแบบลักษณะดังกล่าว สัปดาห์ละ 1 วันเพื่อเป็นศูนย์แห่งการเผยแพร่ ซึ่งกำหนดเวลาที่ชัดเจน อาจมีการสมัครหรือจองโต๊ะล่วงหน้าจากผู้สนใจเข้าร่วม

          ผู้สนใจจะเข้ามารับประทานอาหารจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของร้านอย่างเคร่งครัดเพื่อเรียนรู้แบบฉบับของท่านนาบีโดยตรง เริ่มต้นด้วยการบรรยายว่าด้วยการกิน วิทยากรจะบรรยายเกี่ยวกับ “การกินแบบอิสลาม” ประมาณ 1 คาบเรียน (ชม.) แล้วเปิดประเด็นไปสู่การแลกเปลี่ยน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้เพิ่มเติม อาจมีเพื่อนต่างศาสนิกมาเข้าร่วม ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการ เรียนรู้อิสลามของผู้ที่อยากรู้และสนใจ ผู้เข้าร่วมอาจเป็นชาวบ้านทั่วไปหรือ นักเรียนนักศึกษาที่มาจากโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อมาดูงาน “แบบเน้นกิน” คงเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อเหมือนการไปทัศนศึกษาที่อื่นอย่างแน่นอน

           เมื่อเสร็จกิจกรรมการบรรยายดังกล่าว กิจกรรมต่อเนื่องแบบเชิงปฏิบัติการ เช่น “การรับชมการเชือดสัตว์แบบอิสลาม” สำหรับผู้สนใจพร้อมการบรรยายของวิทยากรที่ทำการเชือดเพื่อบอกถึงความสำคัญและสาธิตให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “อิสลามมีรายละเอียดและกฏข้อบังคับแบบไหนสำหรับเรื่องของอาหาร”  หรืออาจมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจต่อยอดไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อเราทำให้สิ่งเหล่านี้เป็น “การศึกษา” ก็ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามความต่างอย่างแท้จริง

(1)

               เข้าสู่การกินที่เราต้องการนำเสนอ รายละเอียดเหล่านี้สามารถพบเจอจากงานเขียนชิ้นสำคัญของนักคิดมุสลิมที่ได้นำเสนอไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม

               เริ่มต้นจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดไปล้างมือพร้อมกัน แล้วมานั่งรออาหารเป็นกลุ่ม ๆ เพราะท่านศาสดาไม่เคยกินข้าวคนเดียวและท่านก็ได้กล่าวว่า “จงหลีกเลี่ยงการกินคนเดียว” สำหรับสมาชิกในวงที่รวมกลุ่มกันนั้นจะต้องส่งตัวแทนไปรับอาหาร แล้วสมาชิกที่เหลือนั่งรอพร้อมอ่านดุอา และปรับท่านั่งให้เหมือนกับท่านศาสดาคือ “ท่านั่งที่ดีที่สุดคือหลังตรง”

               เพราะท่านศาสดาได้กล่าวว่า “ฉันจะไม่นั่งกินอาหารแบบนั่งพิง แต่ฉันจะกินในฐานเป็นข้าทาสบ่าวรับใช้ของพระเจ้า ฉันจะกินไม่ต่างจากข้าทาสกิน และฉันจะนั่งในแบบที่ข้าทาสได้นั่ง เพราะการกินในลักษณะพิงฝาผนังจะส่งผลอันตรายต่อท้อง”

                สำหรับอาหารนั้นจะเน้นการใช้ภาชนะที่น้อยที่สุดเพราะ ท่านศาสดาได้กล่าวว่า

                  “จงใช้ภาชนะให้น้อยที่สุดในการกินอาหาร หากสะดวกควรใช้ใบเดียวที่มีขนาดใหญ่” 

               มิตรสหายที่เข้าร่วมกิจกรรมการกินนั้น ก็จะต้องนั่งพื้น ร้านของเราไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ให้ผู้เข้าร่วมนั่ง เพราะท่านศาสดาไม่มีแบบฉบับให้นั่งบนเก้าอี้และใช้โต๊ะ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “ตอนกินให้นั่งกับพื้นและวางอาหารลงบนพื้น เพราะการกระทำในลักษณะดังกล่าวคือ วิถีแห่งความเป็นมนุษย์ ไมสมควรด้วยการนั่งกินแบบมีโต๊ะอาหาร”

            ทุกท่านจะต้องใช้มือในการรับประทานอาหาร เพราะท่านศาสดาไม่ได้ใช้ช้อนในการกินนอกจาก ด้วยเหตุนี้ทุกท่านจึงต้องใช้มือแทนช้อนในการกินอาหาร เมื่ออาหารมาปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่าให้มีแม้แต่ครั้งเดียวที่รู้สึกว่า ไม่ชอบอาหาร เพราะท่านศาสดาไม่เคยทำแบบนั้น แต่ท่านแนะนำว่า “ห้ามตำหนิอาหารที่พระเจ้าส่งมา”

              ท่านศาสดาได้แนะนำว่า “ให้สังเกตมิตรสหายที่ร่วมมื้ออาหารด้วย หากมีผู้อาวุโสหรือผู้ที่มีเกียรติกว่านั่งร่วมวงอยู่ด้วย จงอย่ากินก่อนพวกเขา แต่ต้องให้พวกเขาเป็นคนเริ่ม”

               เมื่อการกินเริ่มต้นขึ้น ผู้กินนั้นจะต้องไม่หยิบข้าวมากินในทันทีเพราะท่านศาสดาได้กระทำดังนี้

               “เริ่มการรับประทานอาหารด้วยการจิ้มเกลือและจบการกินอาหารด้วยการจิ้มเกลือ”

                อาหารที่กินนั้นไม่ควรร้อนจนเกินไป เพราะท่านศาสดาแนะนำว่า “ไม่ควรกินอาหารร้อนจัด แต่ควรปล่อยให้เย็นเพื่อประโยชน์ของสุขภาพ“ และที่สำคัญที่สุดสำหรับสมาชิกมาเรียนรู้หลักสูตรการกินของเรา ต้องปรับเจตนารมณ์ให้เหมือนกับท่านศาสดานั่นก็คือ “ทุกการกินให้ตั้งเจตนาว่าเพื่อการทำอิบาดะฮฺ (สรรเสริญ) ต่ออัลลอฮฺ”

                  สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมการกินของเราต้อง “เริ่มด้วยการกล่าวนามชื่อของอัลลอฮฺและจบด้วยการสรรเสริญพระองค์”  หลังจากนั้นจงหยิบเพียงเล็กน้อยในการเริ่มกิน ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ท่านศาสดาได้แนะนำว่า

                  “จงหยิบคำเพียงจำนวนเล็กน้อยในการเริ่มต้นด้วยการเริ่ม กินของที่วางอยู่ตรงหน้า ห้ามเอื้อมไปหยิบของผู้อยู่ตรงหน้า”

(2)

                   ในระหว่างกิน ผู้กินไม่ควรใช้มีดมาเชือดอาหาร เพราะท่านศาสดาได้แนะนำเรื่องนี้เอาไว้โดยกล่าวว่า “ไม่ควรใช้มีดหั่นเนื้อในขณะกิน แต่เนื้อควรถูกตัดด้วยฟัน”  และท่านศาสดาก็ได้แนะนำไว้ด้วยว่า “ไม่ควรดื่มน้ำในขณะกิน แต่หากมีความจำเป็นก็ไม่เป็นไร”

                 เมื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมการกิน รู้สึกว่ารับประทานพอประมาณแล้ว จงเลิกมื้อนั้นในทันที เพราะแนวทางศาสดาคือ “จะกินเมื่อหิว และจะหยุดกินเมื่อยังไม่อิ่ม” ท่านศาสดาได้แนะนำว่า

                  “จงกินพอประมาณ เพราะการกินมากเกินพอดี จะส่งผลให้การทำอิบาดะต่ออัลลอฮฺบกพร่อง ด้วยเหตุนี้ จงให้เล็กน้อย สำหรับการกิน แต่จงให้มากสำหรับการทำอิบาดะต่อพระองค์”

                     ท่านยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อาหารที่ดีที่สุดของมนุษย์คือ อาหารมื้อที่ทำให้หลังของมนุษย์นั้นตั้งชัน เหยียดตรง หากไม่สามารถกระทำได้ตามรูปแบบดังกล่าวก็จงแบ่งให้ท้องเป็น 3 ส่วนคือ เพื่ออาหาร เพื่อเครื่องดื่มและเพื่ออากาศ”

                     กระนั้นผู้กินร่วมกับมิตรสหายคนอื่นก็อย่าได้ลุกขึ้นจากไปเมื่อกินเสร็จ แต่ต้องรอเพื่อนร่วมกลุ่มกินเสร็จแล้วค่อยลุกขึ้นพร้อมกัน เพราะท่านศาสดาได้กล่าวว่า “จงรับประทานอาหารเป็นกลุ่ม อย่าได้ทะเลาะกัน แท้จริงความสิริมงคลนั้น ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะผู้ที่รวมกลุ่มกัน”

                    ก่อนจะลุกขึ้นจะต้องดูอาหารที่ยังหลงเหลือในภาชนะ ซึ่งเรื่องนี้ท่านศาสดาได้ชี้แจงว่า “จงกินให้หมดในแต่ละมื้อ อย่าเหลือแล้วเททิ้ง หยิบเศษอาหารเม็ดที่ทำตกมากิน อย่าทิ้งเป็นอันขาด เพราะเราไม่รู้ว่าข้าวเม็ดไหนคือที่มาของศิริมงคล และข้าวเม็ดสิริมงคลนับเป็นมื้อที่เพียงให้บ่าวเป็นผู้ใกล้ชิดพระเจ้า”

                    ท่านศาสดาได้แสดงตัวอย่างให้เห็นหลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว คือ “การดูดนิ้วเพื่อเก็บกวาดเศษอาหารที่หลงเหลือให้สะอาด แล้วหลังจากนั้นท่านก็ได้ล้างมือ” ท่านได้แนะนำอีกว่า “ประการท้ายสุดหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ควรกิน ผลไม้ เช่น อิทผาลัม องุ่นหรือผลไม้อื่น ๆ เป็นจำนวนเลขคี่”

                     เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็จงดื่มน้ำ ท่านศาสดาแนะนำเรื่องนี้ว่า “ที่ดีที่สุด ควรปล่อยให้ท้องว่างพอที่จะรำลึกถึงอาหารที่พระองค์ทรงประทานมา หากต้องการดื่มน้ำไม่ควรรีบดื่ม แต่ควรดื่มช้า ๆ ไม่ควรยืนหรือนอน แต่ควรนั่งดื่ม” ท่านศาสดาได้กำชับและวางกฏระเบียบผ่านมารยาทการกินลักษณะนี้อย่างชัดเจน แต่หากมีความจำเป็นก็สามารถอนุโลมได้เช่นเดียวกัน ท่านศาสดาได้กระดกน้ำดื่ม 3 ครั้ง จนกระทั่งหมดแก้ว พร้อมกล่าวขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหารที่พระองค์ได้จัดเตรียมไว้

                    หลังจากเสร็จทุกอย่างแล้ว หากต้องการใช้ไม้จิ้มฟัน ท่านศาสดาก็ได้แนะนำว่า “จงเขี่ยเศษอาหาร แต่อย่ากลืนเศษอาหารที่เขี่ยออกมาเข้าไปในท้อง” เมื่อเขี่ยเศษอาหารเสร็จแล้ว ท่านศาสดาได้ทำให้เป็นตัวอย่างด้วยการกลั้วคอด้วยน้ำ หลังจากเสร็จอาหารมื้อดังกล่าวให้สมาชิกทุกท่านอ่านอย่างที่ท่านอิหม่ามฆอซาลีแนะนำ คือ “ซูเราะฮฺอัลอิคลาสและซูเราะฮฺอัลกุรอยชฺ” สุดท้ายล้างมืออีกครั้งด้วยสบู่เพื่อทำความสะอาด

(3)

                 ด้วยเหตุนี้เราจึงเข้าใจด้วยว่า “อาหารคือรากของศาสนา” เมื่ออาหารต้องห้ามหรือได้มาด้วยความทุจริตจากเงินที่ซื้อหรือฉ้อโกง แล้วอาหารได้เข้าไปในท้องมนุษย์ เมื่อนั้น “เขาจะอ่อนแอทางด้านจิตวิญญาณ” นับเป็นการยากที่เขาจะเข้าหาพระผู้สร้างและเป็นศาสนิกที่ดีได้

               อาหารไม่ต่างจากรากของต้นไม้ เมื่อรากแข็งแรง ลำต้นจะแข็งแรง กิ่งก้านจะแตกใบ ดอกผลจะชูช่อ  แต่เมื่ออาหารไม่ดี อิบาดะทุกรูปแบบจะเหี่ยวเฉาเพราะรากของเรือนร่างงอกงามแบบมีเชื้อโรค หากเราไม่แสดงอิริยวัตรอันพิถีพิถันเหล่านี้ แน่นอน อาหารคือตัวทำลายสถานะการเป็นบ่าวผู้เคารพภักดีไปในที่สุด

                พระเจ้าจึงกำชับว่า “สำหรับอาหารทุจิตเป็นสิ่งต้องห้ามในท้องของผู้แสวงหาสัจธรรม”

                แน่นอน ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า “ท่านจะไม่พบรายละเอียดเหล่านี้ในหลักคำสอนใด เพราะวิถีเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างละเอียด ถี่ถ้วน ลึกซึ้ง มีสารัตถะและแบบแผนต่อการใช้ชีวิตของมนุษยนแต่ละวัน โดยท่านศาสดามูฮัมหมัด ผู้ชี้นำต่อมนุษยชาติในยุคสุดท้ายที่พระเจ้าส่งมา"

                   เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งเหล่านี้ก็สมควรอย่างยิ่งแก่การเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการรู้เขา รู้เรา มุสลิมเองก็สามารถปฏิบัติวิถีชีวิตแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์

                                                      “ไม่ว่าด้วยข้อจำกัดหรือเหตุผลใด แต่ร้านอาหารในรูปแบบดังกล่าวก็สมควรมีในบ้านเกิดของเรา”

บันทึกนี้ผมอ่านเจอใน Ihya Ulumuddin ของ ท่านอิหม่ามฆอซาลี

 

Al-Ghazali, Abu Hamid Muhmammad. Ihya Ulum-id-din V.2, translated by Al-Haj Maulan Fazlul Karim New Delhi: Islamic Book Service, 2011.