หญิงไทยพุทธกับกระบวนการสันติภาพ
(ขออภัยที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มาของการพูดคุยได้)
11 พ.ค. 59 มีโอกาสได้พูดคุยกับสุภาพสตรีชาวไทยพุทธ 2 ท่าน ถึงเรื่องของการพูดคุยสันติภาพ หรือสันติสุขที่ได้ดำเนินมา และอาจจะพูดได้ว่ามีเหตุต้องสะดุด เมื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ลงนามใน TOR โดยจะมีการทบทวนร่าง TOR ใหม่ โดยตั้งประเด็นคำถามกับสุภาพตรีชาวไทยพุทธ ไป 2 ประเด็น คือ คิดว่าการพูดคุยควรจะมีต่อหรือไม่ และ หากคิดว่าควรดำเนินการต่อ เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ
คำตอบที่ได้รับจากสุภาพสตรีไทยพุทธทั้ง 2 ท่านในคำถามข้อแรกเหมือนกัน คือ อยากให้มีการพูดคุยกันต่อไป
สำหรับคำตอบข้อที่ 2 กลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ให้ความสนใจต่อการพูดคุย หรืออาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างออกไปก็เป็นได้
ผมถามคำถามที่ 2 หากคิดว่าควรดำเนินการต่อ เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุย
ได้รับคำตอบจากสุภาพสตรีชาวไทยพุทธท่านแรก ว่า หากมีการขับเคลื่อนการพูดคุยสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด คือ ความยอมรับของเพศชายที่มีต่อเพศหญิงมากที่สุด ผู้หญิงจึงจะขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หรือขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้ หากไม่เป็นเช่นนั้น ยังไง ก็มองไม่เห็นทางที่ผู้หญิง จะออกมาขับเคลื่อน และได้รับความเชื่อถือ
ในขณะที่สุภาพสตรีชาวไทยพุทธอีกท่านในคำถามเดียวกัน คำตอบที่ได้รับ คือ มีความต้องการแก้ไขปัญหาระดับฐานราก หรือพื้นฐานของคนในพื้นที่ให้ได้ก่อน จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีการศึกษาที่ดี มีงานทำ ซึ่งจะส่งผลต่อคำว่า สันติภาพ เช่นกัน ในทุกๆการทำงาน คือ สันติภาพอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว และยังส่งผลต่อความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในพื้นที่อีกด้วย แต่สิ่งที่อยากให้แก้ไขมากที่สุดคือ การล่วงลูกของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา รัฐบาลทหารยังลงมาล่วงลูก คิดว่าคงไม่ถูกต้องนัก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทหารต้องเข้าใจบริบทของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด หากกิจกรรมใด พี่น้องมุสลิมไม่ได้ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปถามว่าทำไมถึงไม่เข้าร่วม
ในทุกๆ บทบาทของการทำงานในพื้นที่ มันหมายถึงความไว้วางใจ มันหมายถึง สันติภาพ ที่มาจากฐานรากนั้นเอง
บางส่วนของความคิดเห็นจาก ผู้หญิงชาวไทยพุทธ ต่อกรณีการพูดคุยสันติภาพ
เขียนโดย Takeshi