Skip to main content

 

การบริจาค และการพัฒนา

 

Mfahmee Talib

 

เคยตั้งคำถามไหม ว่า ปัญหาความยากจน แก้ได้ด้วยการช่วยเหลือทางการเงิน จริงหรือ?

จากสถิติของธนาคารโลก พบว่า ตัวเลขที่ประเทศร่ำรวยให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศยากจนมากขึ้นเกือบทุกปี แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยากจนเกือบทุกประเทศ มีอัตตราลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ได้รับจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

รูปแบบความช่วยเหลือทางการเงิน ที่ประเทศร่ำรวยมักใช้ในการช่วยเหลือประเทศยากจนได้แก่ การให้เงินเปล่า การให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ซึ่งยอดเงินกู้ที่ถูกอนุมติไปมักตามด้วยปัญหาของความหย่อนยานในการติดตามผล และจบลงด้วยการคอรัปชั่นในหน่วยงานที่รับประโยชน์จากเงินกู้เหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เกิดหนี้เน่า และตามด้วยการผ่อนปรนหนี้สิน หรือยกเลิกภาระหนี้

ปัญหาที่ทำให้โลกไม่เคยขาดประเทศยากจน ทั้งๆที่ประเทศร่ำรวยถมเงินจำนวนไม่ใช่น้อยๆ ต่อเนื่องหลายปีในการพัฒนา ประการแรกคือเงินที่เงินที่ให้ไม่มีวันพอต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประการที่สองคือสิ่งที่เป็นสาเหตุของประการแรกคือ เงินที่ลงไปในกลุ่มคนที่ไร้แรงจูงใจตอบสนอง (incentives) ไม่อาจทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

พื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์นั่นคือ ปัจเจกบุคคลตอบสนองต่อแรงจูงใจ แต่เงินที่ลงไปเพียงอย่างเดียวไม่ใช่แรงจูงใจ มันอาจเป็นประตูเบิกทางสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าบริบทไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ มันก็จะถูกใช้จ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพ

เช่น การเอาเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาไปให้เด็กในประเทศยากจน เด็กอาจจะเอาไปซื้อของเล่นแทนที่จะเอาใช้จ่ายในการศึกษา เพราะบริบทแวดล้อมของประเทศนั้นการมีการศึกษาสูงๆไม่มีประโยชน์อะไร เพราะงานที่รองรับมีแต่งานแรงงาน ไม่มีงานระดับอุตสาหกรรมชั้นสูงหรือภาคธุรกิจมารองรับ การเอาเงินมาซื้อของเล่นเพื่อให้ชีวิตวัยเด็กมีความสุข จึงอาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าสำหรับเด็กในประเทศยากจน

ตัวอย่างเช่นนี้เป็นการยกตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความยากจนเป็นสิ่งที่จะทำให้การบริจาค(หรือเงินที่ใหลในระบบ) มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัญหาสำคัญของประเทศยากจนหลายประเทศที่ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เลยคือการคอรัปชั่นในวงราชการและรัฐบาลที่สูง และยากต่อการถอนรากถอนโคน อำนาจรัฐที่ตรวจสอบไม่ได้ก็จะทำให้คอรัปชั่นเป็นเรื่องอยู่ยงคงกระพันตลอดกาล และนำมาสู่การปฏิวัติอำนาจ วนไปวนมาอยู่เรื่อยๆ

ในระดับที่สเกลเล็กลงมาหน่อย การบริจาคเงินของปัจเจกชนน่าจะต้องพูดเรื่องประสิทธิภาพของเงินบริจาคกันมากขึ้น ยอดตัวเลขของการบริจาคไปมาระหว่างนิติบุคคลน่าจะเป็นจำนวนไม่ใช่น้อยๆ แต่วัตถุประสงค์การบริจาคส่วนมากมักเป็นการบริจาคเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ระยะสั้น (relief) ไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจนระยะยาว

เขียนไปเรื่อย เผื่อมีใครมีไอเดียในการเพิ่มอัตราส่วนในการบริจาคเพื่อขจัดความยากจนเชิงโครงสร้าง และเพิ่มไอเดียในการจัดการเงินเพื่อขจัดความยากจนเชิงโครงสร้างด้วยครับผม