Skip to main content

 

ฏอรีก รอมาฎอน 

 

(แปลจากบทความของ ศ. ฏอรีก รอมาฎอน ที่มีชื่อว่า Europe’s Islam Questions  เผยแพร่ในเวปไซต์สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๑) 

 

การเพิ่มจำนวนของมุสลิมในยุโรปเป็นประเด็นหลักที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลประเทศต่างๆในยุโรป ทั้งยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก การโต้ถกเถียงมากมายที่เกิดขึ้นทั่วแผ่นดินยุโรปเกี่ยวกับ “พหุวัฒนธรรมนิยม” “โลกาวิสัย” หรือแม้แต่ “อัตลักษณ์” มักจะเกี่ยวโยงกับ “อิสลาม” เกือบจะทุกครั้ง

การพูดโยงถึงอิสลามที่กล่าวไปนั้น ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะคับแคบมีทิฐิเสมอไป เนื่องจากการมีความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่าง “คุณค่า” “กฎเกณฑ์” อยู่ในมือข้างหนึ่ง และ “วัฒนธรรม”  “ความหลากหลาย” ในมืออีกข้าง นอกเหนือจากการถกคุยในประเด็นเกี่ยวกับ “อิสลาม” และ “มุสลิม” ยุโรปจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับตัวเองอย่างจริงจังถึงความสัมพันธ์ที่ว่านี้ด้วย

คำถามคือ ยุโรปจะยังสามารถคงรักษาไว้ซึ่งคุณค่า (ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความยุติธรรม การเคารพ ฯลฯ) ของตัวเอง และในขณะเดียวกัน ถือขันติและเกื้อกูลพลเมืองใหม่ที่มีพื้นฐานและศาสนาต่างออกไปได้หรือไม่? หรือพูดอีกแง่หนึ่ง คนยุโรปได้สร้างความพร้อมทางปัญญา ภาษา และวัฒนธรรมเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในการนำความเท่าเทียมเสมอภาคกับพลเมืองใหม่ที่กำลังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นแล้วหรือยัง?

ประเด็นเริ่มต้น ณ ที่นี่ชัดเจน รัฐบาลไม่ควรสับสนระหว่างปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม (การว่างงาน ความรุนแรง การสร้างสภาวะความเป็นชายขอบ ฯลฯ) กับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศาสนา พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลไม่สมควรที่จะทำให้เรื่องปัญหาทางสังคมเป็นเรื่องทาง “วัฒนธรรม” “ศาสนา” หรือ “อิสลาม”  

แม้เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวยุโรปซึ่งเผชิญภาวะว่างงานหรือเผชิญกับสภาวะถูกทำให้เป็นชายขอบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนผิวดำ กลุ่มเชื้อชาติเอเซียน แอฟริกันเหนือ หรือมุสลิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ศาสนา ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสามารถอธิบายสถานการณ์ของพวกเขา  นิยัตินิยมทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อันตราย ปัญหาการว่างงานและการถูกทำให้เป็นชายขอบสะท้อนกระบวนการทางเศรษฐกิจสังคม และเพื่อแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องมีนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจที่ชัดเจน การนำวัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติมาเป็นคำอธิบายที่คลุมเครือเป็นสูตรคำตอบที่เกิดจากการไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย หรือไม่ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากข้อมูลการตัดสินใจที่ผิดพลาด

จริงอยู่ที่มิติด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนาอาจเป็นปัจจัยรองที่จำเป็นต้องเอานำมาพิจารณา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการไม่จ้างงานหรือถูกทำให้ตกอยู่ในสภาวะชายขอบ รัฐบาลต่างๆในยุโรปกลับดำเนินการตามโวหารวาทะของกลุ่มขวาจัด แทนที่จะนั่งคลี่ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยการดำเนินนโยบายที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ด้านการศึกษา (เช่นปัญหาโรงเรียนชั้นสองหรือถูกกีดกัน หลักสูตร ฯลฯ) โอกาสการจ้างงานที่ไม่เท่าเทียมกัน และปัญหาความเสื่อมโทรมของเมือง

อันที่จริง ออกจะเป็นเรื่องที่ขัดกับความเชื่อความเข้าใจแบบเดิมๆ (ตามที่กลุ่มพรรคขวาจัดมักพูดเน้นย้ำ) วัยรุ่นมุสลิมในยุโรปไม่ได้มีปัญหากับการ “บูรณาการ” ทางศาสนาหรือวัฒนธรรม แต่กลับเป็นว่า พวกเขากังวลกับการไม่มีนโยบายใด (หรือล้มเหลว) ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่พวกเรียกร้องต้องการ

ความล้มเหลวอันนี้ไม่ได้หมายความว่าคตินิยมเชื้อชาติรูปแบบใหม่-“อิสลามโมโฟเบีย”-กำลังรุกคืบ แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ใครคนใดคนหนึ่งอาจเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจาก “ศาสนา” ของเขา (ตามผลสำรวจของศูนย์วิจัยพิว”  ร้อยละ ๔๕ ของชาวยุโรปมีภาพลักษณ์ที่เป็นลบต่ออิสลาม”   

สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่า การเลือกปฏิบัติเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในวาทกรรมปัจจุบันคือ การเอาแต่คิดหมกมุ่นอยู่กับการ “บูรณาการ” โดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรมุสลิมยุโรปส่วนใหญ่เชื่อฟังต่อกฎหมาย พูดภาษาของประเทศที่พวกเขาพำนักอาศัยได้ และมีความภักดีต่อประเทศชาติของพวกเขา (ถึงแม้ว่าบางครั้ง พวกเขาจะออกวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆที่มีสิทธิในการแสดงออก)

การพูดอ้างอย่างไม่สิ้นสุดถึงพลเมืองเหล่านี้ว่า “มีพื้นเพเป็นพวกอพยพ” ที่เข้ามาอาศัยใน “สังคมที่ให้การพักพิง” เป็นสิ่งที่คอยบำรุงความคิดที่ว่า มุสลิมไม่ใช่คนยุโรป “ที่แท้จริง” หรือไม่ได้อยู่ที่ “บ้านของตัวเอง” การพูดทำนองนี้บ่งบอกว่า มุสลิมยุโรปต้องพิสูจน์อย่างเป็นนิจศีลถึงความจงรักภักดีของพวกเขา การมีทัศนะคติต่อ “มุสลิม” ในลักษณะว่าเป็น “คนอื่น” หรือ “ต่างด้าว” คือปัจจัยหลักคอยกระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติในจ้างงานหรือหรือแม้แต่ในตลาดที่อยู่อาศัย      

หากมองข้ามความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยและความกลัวออก เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมาดูข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ สถานการณ์กลับไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เห็นกันผ่านการโต้ถกเถียงแบบแบ่งขั้วฝ่ายที่ถูกนำเสนอโดยสื่อและเวทีการเมือง ไกลออกไปจากประเด็นโต้เถียง มุสลิมยุโรปกำลังปฏิบัติตัวได้ดีและอนาคตของพวกก็แลดูสดใส  

หากประเทศต่างๆในยุโรปต้องการคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ต่อการยึดถือในหลักสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันและเป็นสากล และต้องการหลีกเลี่ยงความพยายามใดก็ตามที่อาจนำไปสู่คตินิยมเหยียดเชื้อชาติ และความตระหนกกลัวต่อคนต่างชาติ (ซีโนโฟเบีย) ชาวยุโรปทุกคนต้องลงมือปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ชาวยุโรปที่เป็นมุสลิมต้องหยุดเลี้ยงบำรุง “วิธีคิดแบบเหยื่อ (victim mentality)” และตระหนักในหน้าที่ความรับชอบของตนเองที่มีต่อสังคมที่เขาอยู่ รัฐบาลของชาติยุโรปและพลเมือง ทั้งมุสลิมและผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมต้องหลีกห่างจากคตินิยมเชื้อชาติทุกรูปแบบ  

ในที่นี้ การศึกษาคือแกนสำคัญ หลักสูตรของโรงเรียนต้องครอบคลุมมากกว่านี้ (เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วม) และขยายเนื้อหาความรู้ของนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวัฒนธรรม ส่วนในแวดวงสื่อ นักข่าวควรได้รับการอบรมให้นำเสนอ “เรื่องราวความสำเร็จ”ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เสนอแต่เฉพาะปัญหา ที่สำคัญ วาทโวหารที่มีลักษณะเชื่อมโยงแบบมีนัยระหว่างคำว่า “ผิดกฎหมาย” “อาชญากรรม” กับคำว่า “ผู้อพยพ” “มุสลิม” ควรถูกมองว่าเป็นการบ่มเพาะเชื้อของการกระทำที่วางอยู่บนความตระหนกกลัวต่อคนต่างชาติ

มุสลิมกำลังเผชิญหน้ากับคตินิยมเหยียดเชื้อชาติชุดใหม่ และพวกเขาต้องต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของพวกเขาเองในรูปแบบเดียวกันกับเพื่อนร่วมชาติในด้านต่างๆ เช่น การเมืองภายในและภายนอกประเทศ การศึกษา สื่อ และกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม ชาวยุโรปต้องหยุดหลงพึงพอใจในความเชื่อที่ว่า พวกเขาได้รับการปกป้องจากการผุดเกิดของคตินิยมเชื้อชาติ หรือจากการกระทำที่ขัดกับหลักมนุษยธรรมพื้นฐาน

 

   • ฏอรีก รอมาฏอนเป็นศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาร่วมสมัย ประจำคณะบุรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

 

ภาพประกอบจาก ภาพจาก http://www.lavoixdunord.fr/region/tariq-ramadan-a-maubeuge-pour-un-debat-entre-foi-et-raison-ia23b44386n3297601