Skip to main content

 

บทบาทของอิสลามในสังคมแห่งจริยธรรม

ฏอรีก รอมาฎอน เขียน / รอซี ฮารี แปล

ขอให้เราทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า เราอยู่ในสังคมพหุลักษณ์ และพหุนิยมเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พวกเราเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน แต่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกัน ดังนั้น แทนที่จะไปหมกมุ่นกังวลกับ “ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์” ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสังคม เราสามารถเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวเพื่อนิยามและส่งเสริมกรอบจริยธรรมร่วม (common ethical framework) ที่ถูกหล่อเลี้ยงบำรุงโดยความรุ่มรวยที่เกิดจากภูมิหลังทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีหลากหลายได้หรือไม่? สังคมพหุลักษณ์สังคมหนึ่งต้องการจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพของพลเมืองเพื่อที่จะยอมรับและเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งภายใน (ความหลากหลาย สิทธิอันเท่าเทียม คตินิยมเชื้อชาติ การคอรัปชั่น ฯลฯ) และระหว่างประเทศ (วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาโลกร้อน การผู้อพยพ ฯลฯ)

ต่อไปนี้คือหลักการหนึ่งเพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว จริยธรรมของความเป็นพลเมืองต้องสะท้อนความหลากหลายของความเป็นพลเมือง เมื่อใดที่เรายอมรับว่า ไม่มีใครมีสิทธิในการไปยัดบังคับความเชื่อของตนแก่คนอื่น เราก็จะเข้าใจด้วยเช่นกันว่า สามัญชีวิตของพวกเราควรถูกนิยามความหมายในแง่ที่ว่า มันได้บรรจุคุณูปการของทุกศาสนาและความเชื่อปรัชญารวมไปด้วย จากนั้น แนวทางที่จะทำให้เกิดการผนวกรวมดังกล่าวคือผ่านการถกโต้เชิงวิพากษ์

แต่เมื่อมาผจญเจอกับการปรากฏตัวของมุสลิมใหม่ในโลกตะวันตก การโต้ถกแบบวิพากษ์กลับเป็นเรื่องลำบากที่จะเกิดขึ้นได้ อิสลามถูกมองว่าเป็น “ปัญหาอันหนึ่ง”  และไม่เคยถูกมองว่าเป็นของขวัญบนเส้นทางการแสวงหาความหลายหลายอันรุ่มรวยและงอกงามร่วมกัน นี่เป็นความผิดพลาด อิสลามมีสิ่งเสนอยื่น เมื่อมาพิจารณาดูว่าบุคคลทางการเมืองหรือธุรกิจแสดงพฤติกรรมอย่างไรบ้างที่ผ่านมาภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งแสดงถึงการขาดจริยธรรมอย่างได้ชัดเจน

วรรณกรรมอิสลามเต็มไปด้วยคำสอนที่เน้นเรื่องแก่นของการศึกษาที่วางบนจริยธรรมและเป้าหมายที่ดี หน้าที่ความรับผิดชอบปัจเจกบุคคล การเรียนรู้และการอบรมสั่งสอนคือแกนสาระของสาส์นอิสลาม มุสลิมต้องเป็น “พยานสาส์นคำพูดของตัวเองต่อคนอื่น” ซึ่งก็แปลว่า มุสลิมต้องพูดในแนวหนทางที่ดี สั่งห้ามการฉ้อโกงและคอรัปชั่น และเคารพต่อสิ่งแวดล้อม การมีศีลธรรมจรรยาทางเมืองและการปฏิเสธการเก็งกำไรดอกเบี้ยในทางเศรษฐกิจเป็นหลักการที่ผลักดันให้พลเมืองมุสลิมและปัญญาชนค้นหาแนวทางใหม่ๆเพื่อให้ชีวิตสาธารณะ (public life) กับจริยธรรมระหว่างบุคคล (Interpersonal ethics) ได้บรรจบลงตัว

พูดให้กว้างขึ้น การปรากฏโฉมของของมุสลิมควรถูกมองเป็นเรื่องบวก อิสลามไม่ได้กัดกร่อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมและจริยธรรมแบบเกรกโค-โรมัน จูดีโอ-คริสเตียนของยุโรปให้อ่อนแอลง 

ในอีกแง่หนึ่ง มุสลิมเตือนเพื่อนร่วมชาติของเขาได้ระลึกว่า ไม่มีใครสามารถขจัดความเชื่อทางจริยธรรมอันเก่าก่อนออก แล้วแทนที่ด้วยหลักนิติธรรมที่เชื่อกันว่าเป็นกลาง หรือโดยคุณค่าของการไม่ลำเอียงที่ถูกสร้างโดยตลาดเสรี ความเสมอภาคและความโปร่งใสในทางประชาธิปไตยไม่เพียงพอเพื่อให้เกิดการตกลงเห็นร่วมต่อหลักนิติธรรม วิกฤตร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและระดับโลกได้เตือนว่า เราต้องการจริยธรรมมากขึ้นในชีวิตสาธารณะ

ส่วนการที่เราสามารถเห็นพ้องต้องกันในเนื้อหาของจริยธรรมที่มีร่วมกัน (Common ethic) ได้หรือไม่นั้นก็เป็นอีกประเด็นคำถามหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญ ณ ที่นี้คือ การถกโต้เชิงวิพากษ์และเชิงลึกสมควรต้องมีขึ้น และอนาคตที่มีลักษณะพหุลักษณ์ของเราสมควรถูกกำหนดขึ้นด้วยสิ่งนี้เท่านั้น อนาคตไม่สามารถถูกปั้นแต่งโดยการถกเถียงแบบฉาบฉวยที่พูดถึงอัตลักษณ์แห่งชาติ คุณค่า หรือความเป็นบริติช เช่นเดียวกัน เราต้องหยุดมองพหุลักษณ์ (Plurality) ว่าเป็นอุปสรรคขวากหนาม เราควรมองมันสียใหม่ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม จริยธรรมที่วางบนฐานของความเป็นพลเมืองร่วมกันต้องถูกตีหลอมจากความตระหนักอย่างลึกซึ้งและการตกลงมั่นต่อคุณค่าและความสำคัญของความเป็นมนุษยชาติร่วมกันของเรา