ขณะเขียนบทความชิ้นนี้ผมกำลังอยู่ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ผมมาอบรมการสอนภาษาอังกฤษ กับสถาบันที่ชื่อว่า Institute of Continuing & TESOL Education (ICTE-UQ) เป็นเวลาเกือบๆ เดือน เอาไว้มีโอกาสคงจะได้มาเล่าเรื่องราวของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ฟังกันบ้าง อินชาอัลลอฮ์
การเดินทางในรอบเดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มเข้าใจและเรียนรู้กับตัวเองในหลายๆเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยกับการใช้ชีวิตในฐานะมุสลิมคนหนึ่งและต้องเดินทางไปต่างที่ ต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ “การปรับตัวและการยืนหยัดในจุดยืนที่ตัวเองยึดมั่น” ความคิดนี้เกิดขึ้นมาแทบจะทุกครั้ง ที่ผมต้องเจอผู้คนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อตลอดเส้นทางการเดินทางไม่เว้นแต่ละวัน
การเดินทางอาจทำให้ใครๆหลายๆคนไม่คิดที่จะออกจากบ้านไปไหนไกลๆ เพราะต้องมีการเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานที่ใหม่ๆ คนใหม่ๆ และเส้นทางใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ถึงแม้ว่า เราจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ เยี่ยมคนรู้จักที่อยู่ห่างจากบ้านเราไม่ไกลมากนัก แต่ทุกครั้งที่ออกเดินทาง การเตรียมความพร้อมย่อมเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและวัตถุประสงค์การเดินทางของแต่ละคน อาจต่างกันออกไป
หลายคนเมื่อไปอยู่ในต่างถิ่นที่ไม่คุ้นเคย มักจะต้องสอบถามรายละเอียดหรือค้นหาข้อมูลก่อนที่จะออกเดินทาง เช่น มีมัสยิด มีร้านอาหารมุสลิมอยู่ที่ไหนบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆที่จะต้องสืบเสาะ เพื่อความสบายใจของแต่ละคน ยิ่งจำเป็นต้องไปยังสถานที่ไกลๆออกไป ยิ่งต้องเตรียมข้อมูลให้แม่นยำ ชัดเชน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก สบายและเพื่อการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของมุสลิมเอาไว้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งในการเดินทางแต่ละครั้งคือ การที่เรามักจะเอาสถานที่ที่เราคุ้นเคยไปเปรียบเทียบกับสถานที่ใหม่ๆที่เราไม่เคยไป และเราก็ “จินตนาการ” ว่าต้องเป็นเหมือนที่เราอาศัยอยู่ หมายถึงว่า ต้องมีนั่น มีนี่ อยู่ตลอดเวลา
ความคิดในลักษณะนี้ ไม่ได้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดนะครับ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล เข้าใจกันได้ แต่ถ้าเราคิดแบบนี้อย่างเดียว โดยส่วนตัวผมว่า เราจะขาดการเรียนรู้อย่างน้อย สองเรื่อง คือ หนึ่ง ความสนใจที่จะศึกษาบ้านเมืองของคนอื่นอย่างที่เขาเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราคิด สอง การเรียนรู้ที่จะเปิดทัศนคติยอบรับความต่างของแต่ละเมือง แต่ละที่ หรือยอบรับความต่างของคนที่ต่างจากเรา ผมว่าสองประการนี้มีความสำคัญต่อวิถีมุสลิมอย่างมาก
ถามว่า ทำไม ? ผมถึงให้ความสนใจกับสองประการข้างต้น เพราะทั้งสองคือคุณลักษณะสำคัญของ “มุสลิม” ที่อาศัยอยู่กับ “โลกสมัยใหม่” ครับ
จากประสบการณ์ส่วนตัว พอที่จะแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านได้ว่า ถ้าเราไม่ปรับทัศนคติยอมรับและเข้าใจคนที่ต่างจากเราออกไป การเรียนรู้ของเราก็จะไม่เกิดขึ้น “แทนที่การเดินทางจะเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ การเดินทางอาจจะกลายเป็นปัญหาของการเรียนรู้อย่างน่ากลัวได้เหมือนกัน”
เพราะเรามักจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และไม่เคยสัมผัส ถ้ามันต่างออกไปจากสิ่งที่เราคิด เราก็จะยอมรับได้ยาก หรือไม่อยากจะเปิดใจรับมัน สุดท้ายเราก็ปิดกั้นตัวเองในลักษณะที่เรียกว่า “การรักษาอัตลักษณ์ของเราไม่ให้สูญเสีย” โดยที่เราเลือกเส้นทางที่บอกกับตัวเองว่า อย่าไปไหนดีกว่า เพราะถ้าไปแล้วลำบาก หากินยาก หาที่ละหมาดก็ยาก อยู่บ้านเราดีกว่า
อันนี้ผมเข้าใจได้ครับว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน แต่อยากที่จะให้ทุกท่านลองเปิดใจที่จะออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปบ้าง ยิ่งเป็นเมือง หรือสถานที่มุสลิมไม่มีอยู่เลย หรือมีอยู่ไม่มาก ผมว่าเราควรจะไปที่แบบนั่นกันบ้าง เพราะอย่างน้อยถ้าเราเจอพี่น้องมุสลิมที่เขาอาศัยอยู่ เราก็สามารถไปเยี่ยมและให้กำลังใจพวกเขาได้ว่า พวกเขาไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวนะ ยังมีเรา ครอบครัวของเรา และเพื่อนคนอื่นๆอีกที่พร้อมจะมาเยี่ยมเยียนกัน อีกอย่าง เราเองก็จะได้ทดสอบ “ความมั่นคงของความศรัทธา”ของเราด้วย ถ้าเราเจอสถานการณ์แบบที่ว่า ไม่มีมุสลิมอยู่เลย เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรายังคงรักษาอัตลักษณ์มุสลิมของเราเอาไว้ได้ ผมว่าประการนี้สำคัญทีเดียว สิ่งนี้จะเป็นสนามทดสอบศรัทธาของเรา เอาเข้าจริง ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่อำนวยต่อการละหมาด การถือศีลอด การทำความดีต่างๆ เรายังจะเลือกที่จะยึดมั่นสิ่งเหล่านี้ไว้กับตัวเองมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนั้น เราเองอาจมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดความอ่านของคนต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อจากเราว่า พวกเขาคิดอย่างไรกับมุสลิมและอิสลาม บางทีพวกเขาเหล่านั้นอาจะไม่รู้จักเลย หรือ รู้จักแล้วแต่ยังไม่เข้าใจจริงๆ เพราะเห็นแต่ในสื่อสารต่างๆ อันนี้จะช่วยให้เราได้สำรวจข้อมูลและสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคนอื่นๆด้วย
เห็นไหมครับ มีเรื่องราวสนุกๆ อีกมากมายที่จะเข้ามาในชีวิตของเรา ถ้าเราสนใจที่จะเรียนรู้ และถือโอกาสทบทวนความรู้ ความเข้าใจอิสลามของเราโดยการแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ บางครั้งเราอาจจะเรียนมา ศึกษามา แต่ไม่ได้ใช้ความรู้นั้นมากนัก เราไม่มีโอกาสมากพอที่จะสนทนากับคนอื่นๆอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ดังนั้น ถ้าเราคิดดีๆ เราเองจะได้ประโยชน์อย่างมาก มันเป็นการทดสอบความรู้ ความเข้าใจ และวัดพลังศรัทธาของเราว่า มีมากน้อยแค่ไหน ยังมีอะไรบ้างที่เราจะต้องเรียนเพิ่ม และมีอะไรบ้างที่เราลืมไปแล้ว
การตอบคำถาม การแลกเปลี่ยนกับคนต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ (หรือแม้ศาสนาเดียวกันแต่อยู่คนที่ ) จะเกิดขึ้นได้น้อย ถ้าเราไม่คิดที่จะออกไปแสวงหา หรือเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ผมว่านี่คือวิถีของมุสลิมในโลกยุคใหม่ ที่ข้อมูล ข่าวสารของมุสลิมถูกบิดเบือนไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ มีเพียงมุสลิมที่จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคมที่เราไม่รู้จัก หรือกับคนในสังคมเดียวกันแต่ไม่มีโอกาสได้วิสาสะกับมุสลิมมากนัก
ดังนั้น การเดินทางของมุสลิมถึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษา และธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์มุสลิมที่ผมเรียกว่า “การรักษาอัตลักษณ์เชิงรุก”
อย่าให้คนอื่นๆคิดไปเองว่ามุสลิมเป็นแบบนั้น แบบนี้ และรอเขามาถามเรา บางที เราต้องเปลี่ยนมุมมองและกลยุทธ์ใหม่ๆเพื่อเราจะได้รู้ว่าคนอื่นเขามองมุสลิมอย่างไร และเราจะทำความเข้าใจกับพวกเขาอย่างไร แต่..ถ้าเราไม่คิดที่จะออกไปไหน เพียงแค่กลัวความลำบากส่วนตัว มันอาจจะส่งผลถึงการธำรง รักษาอัตลักษณ์ของมุสลิม และมีผลถึงการเข้าใจที่คาดเคลื่อน ผิดพลาด และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง
...ระหว่างทางมักสำคัญ แต่อยู่ที่ว่า เราพร้อมจะออกเดินทางกันหรือยัง......