วิเคราะห์“ผลสำรวจสันติภาพ”ชายแดนใต้
“อัฟฟาน ลาเด๊ะ”
เผย‘สำรวจสันติภาพ’ชายแดนใต้รอบแรก ประชาชนยังหวังต่อกระบวนการพูดคุย เป็นการพาดหัวข่าวของสำนักสื่อหลายสำนัก กรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการและองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะมีความรู้สึกเช่นไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น มีการสุ่มตัวอย่างเจาะลึกถึงระดับครัวเรือนเพื่อนำความรู้สึก ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงส่งผ่านไปให้รัฐบาล กลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้รับรู้
เนื้อหาใจความผลการสำรวจสันติภาพในครั้งนี้ จากการแถลงข่าวพอจับใจความสำคัญๆ โดยในภาพรวมประชาชนในพื้นที่ยังคงคาดหวังต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งเบื้องลึกประชาชนต้องการอะไร? มีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน? และรูปแบบการบริหารปกครองที่ควรจะเป็นประชาชนต้องการแบบไหน? มาวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่อประเด็นกัน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ในครั้งนี้
ประเด็นแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้การพูดคุย การเจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ถึงร้อยละ 56.4
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า“ประชาชนเห็นด้วยต่อกระบวนการพูดคุย”ต้องการขจัดปัญหาความขัดแย้งที่หมักหมมปัญหามานานหลายสิบปี ปฏิเสธความรุนแรง แสวงหาทางออกเพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ จากการนัดพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มมาราปาตานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไม่ได้มีการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกรอบการพูดคุยร่วม หรือร่างทีโออาร์ (TOR) ในวันดังกล่าว ผลที่ตามมามีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในหลายพื้นที่ จชต. แสดงให้เห็นว่ายังมีบางกลุ่มต้องการความรุนแรงไม่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้สงบสุข
ประเด็นที่สอง ภาพรวมของความพึงพอใจกับความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ กับความก้าวหน้า ร้อยละ 39.8 พอใจร้อยละ 22.2 และไม่พอใจ ร้อยละ 12.2 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการพูดคุยมีผลทำให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงร้อยละ 46.6
เป็นเพราะอะไร? ประชาชนจึงรู้สึกเฉยๆ ต่อความก้าวหน้ากระบวนการพูดคุย ถ้าจะวิเคราะห์ในมุมมองของผู้เขียนอาจจะมาจากสาเหตุหลักใหญ่ 2 ประการด้วยกันกล่าวคือ สืบเนื่องจากประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตามข่าวสารความคืบหน้ากระบวนการพูดคุย อีกทั้งประชาชนบางส่วนไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการไม่เปิดเผยผลการพูดคุย และไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจสูงกว่าไม่พอใจถึง 10%
ประเด็นที่สาม ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 51 ที่มีความหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ากระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพในที่สุด
ความคาดหวังของประชาชนในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีกระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะนำไปสู่ข้อตกลงและนำไปสู่สันติภาพในที่สุด ซึ่งการพูดคุยเพื่อหาทางออกของความขัดแย้งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด “สันติภาพ” ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ความขัดแย้งหลายภูมิภาคในโลกนี้ไม่มีที่ใดได้มาซึ่ง “สันติภาพ” จากสงคราม มีแต่การใช้การพูดคุยนำไปสู่ “สันติภาพ” แทบทั้งสิ้นแต่ต้องใช้ระยะเวลา
สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลและขบวนการต่อสู้ฯ ได้พูดคุยกันในขณะนี้มีผู้เลือกตอบในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่จำนวนมากที่สุดเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ
ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษา
การพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ รัฐบาลมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน การพัฒนาแหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนน ซึ่งมีการปรับปรุงถนน 37 เส้นทางในพื้นที่ จชต.และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนของ ศอ.บต. การสนับสนุนกลุ่มอาชีพ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย จังหวัดนราธิวาส แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เพื่อมุ่งสู่ประชาคมอาเซียน
การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จชต. ได้มี “โครงการญาลันนันบารู” หรือ “โครงการ ทางสายใหม่” ให้โอกาสกับเยาวชนช่วงอายุ 14-25 ปี ที่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือเยาวชนที่มีความต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ส่วนผู้ค้ายาเสพติดมีการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่มีการระดมกวาดล้างจับกุมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในภัยแทรกซ้อนที่เป็นตัวแปรต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล
การพัฒนาการศึกษา รัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ จชต.เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 รมช.ศึกษาฯ ลงพื้นที่ใน จชต. เพื่อเยี่ยมสถานศึกษา สนับสนุนโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลดีและโอกาสต่อเด็กนักเรียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ประเด็นที่สี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการบริหารปกครองพื้นที่ จชต.ส่วนใหญ่อยากเห็นรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยร้อยละ 26.5 รองลงมาคือรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆของประเทศร้อยละ 22.2 ส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่อยากได้ คือ รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ร้อยละ 25.1 และรูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย ร้อยละ 22.9
การบริหารการปกครองที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการคือรูปแบบการปกครองพิเศษ ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย ที่มีการกระจายอำนาจเหมือนกับพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ รูปแบบควรจะเป็นแบบไหนจะต้องอยู่ที่กระบวนการพูดคุย หาทางออกที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่อยากได้ หรือไม่เห็นด้วยคือการไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เลย และไม่ต้องการเป็นเอกราชแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศไทย
เมื่อผลสำรวจที่ออกมาได้แสดงความรู้สึก ความต้องการของประชาชน เพื่อส่งผ่านไปถึงรัฐบาล กลุ่มขบวนการ และกลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐได้รับรู้ โดยเฉพาะประเด็นไม่ต้องการเอกราชแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศไทยมีนัยสำคัญ ต่อท่าทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา PerMAS และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่มในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีการปลุกกระแสการกำหนดใจตนเองเพื่อนำไปสู่การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย ในเมื่อประชาชนไม่ต้องการก็จะต้องทบทวนบทบาทตนเองต่อการเรียกร้องดังกล่าว
ประเด็นสุดท้าย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ได้กล่าวทิ้งท้าย“พื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่กลางความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ต้องมาจากทุกฝ่าย การทำวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่กลาง นักวิชาการทุกปีกสถาบันทั้งในและนอกพื้นที่ ภาคประชาสังคม ทุกปีกความคิด”
นโยบายรัฐไม่ได้ปฏิเสธพื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพและแก้ความขัดแย้ง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเวทีเพื่อเป็นพื้นที่กลางให้กับประชาชน สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันระดมความคิดร่วมหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อยุติความขัดแย้งนำไปสู่สันติสุขการอยู่ร่วมอย่างพหุวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่
ส่วนนโยบายและทิศทางกระบวนการพูดคุย พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวว่า การ“พูดคุยสันติสุข” ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบายและทิศทางด้วยตัวท่านเอง
ส่วนการดำเนินการในพื้นที่มีการประสานสอดคล้องกับระดับนโยบาย มีความมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อกระบวนพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
“การพูดคุยสันติสุข”เป็นเพียงกลุ่มงานหนึ่งในเจ็ดกลุ่มงานของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นกลุ่มงานสุดท้ายที่ช่วยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และช่วยเติมเต็มให้การดำเนินการต่อหกกลุ่มงานที่เหลือมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น“การพูดคุย”จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด