โครงการงานประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการ ช.ช.ต. ประจำปี 2559
สานภาคีพัฒนาสู่การสร้างสันติชายแดนใต้ Building Trust and Fostering Peace
เลขา เกลี้ยงเกลา
เจ้าหน้าที่สารสนเทศ โครงการ ช.ช.ต.
โครงการสนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และธนาคารโลก จัด งานประชุมวิชาการระดับชาติ โครงการ ช.ช.ต. ประจำปี 2559 “สานภาคีพัฒนาสู่การสร้างสันติชายแดนใต้ : Building Trust and Fostering Peace” นำเสนอผลงานและยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในท้องถิ่นและเครือข่ายประชาสังคมสื่อสารในสาธารณะได้ และสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างคนทำงานพัฒนาและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2559 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ และการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ว่า
“โครงการสนับสนุนชุมชนเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) และธนาคารโลก เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันโครงการดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 - กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจระหว่างคนในชุมชนเป้าหมาย 43 ชุมชน 6 ตำบลหลัก และพื้นที่ร่วมเรียนรู้อื่น ๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการพัฒนาที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดความต้องการจากการวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนอย่างรอบด้านร่วมกันกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ภายในและระหว่างชุมชน และระหว่างชุมชนกับ อปท. และหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น
นอกจากนี้ โครงการยังเน้นสร้างความเข้มแข็งในการสร้างกระบวนการสันติภาพให้องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายเป้าหมาย ภายใต้การสนับสนุนทุนเพื่อการดำเนินงานเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่”
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการฯ ได้มีการสั่งสมบทเรียนและประสบการณ์ในการพัฒนา และกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ผ่านการดำเนินงานของชุมชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายในพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้มีแนวคิดในการจัดการความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ตลอดจนภาคี หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับโครงการ ช.ช.ต. ได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ อันจะนำไปสู่ส่วนหนึ่งของการสกัดองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานพัฒนาและการสร้างกระบวนการสันติภาพจากโครงการ นำไปสู่การเผยแพร่เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้แก่พื้นที่อื่น ๆ และกลุ่ม องค์กร หน่วยงาน ที่สนใจ รวมทั้งจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวคิดในการนำงานพัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ และขยายเครือข่ายแนวคิด เมล็ดพันธุ์ในการสร้างสันติภาพจากภายในสู่พื้นที่อื่น ๆ อีกต่อไป
ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวต่อถึงวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า เพื่อนำเสนอผลงานรูปธรรมและยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในท้องถิ่นและเครือข่ายประชาสังคมสามารถเชื่อมโยงหรือสื่อสารในสาธารณะได้ และสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างคนทำงานพัฒนาและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่
“งานในครั้งนี้จะมีตัวแทนชุมชนจากพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการ ระดับจังหวัด อำเภอตัวแทนจากเครือข่าย องค์กร กลุ่ม ภาคประชาสังคมในพื้นที่ ตัวแทนจาก อปท. หน่วยงานภาคี ตำบลขยาย ในพื้นที่ จชต. ตัวแทนจากเครือข่าย องค์กร กลุ่ม ภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ ตัวแทนหน่วยงาน องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ สื่อมวลชน นักวิชาการ ตัวแทนจากสถาบันทางวิชาการ ตัวแทนจากต่างประเทศ/แหล่งทุน เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร ที่ปรึกษาโครงการ ช.ช.ต. และประชาชนผู้สนใจทั่วไป
คาดหวังว่า โครงการ ช.ช.ต. ประชาชน และเครือข่าย ภาคประชาสังคมกลุ่มเป้าหมาย ได้มีโอกาสนำเสนอผลการดำเนินงาน และพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานฯ ในพื้นที่ ตลอดจนสามารถนำไปสู่การยกระดับให้เป็นแนวปฏิบัติของกลไกรัฐและการนำเสนอเชิงนโยบาย เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หนุนเสริมระหว่างกลุ่มคนในท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เชื่อมโยง สื่อสารในพื้นที่สาธารณะ และเกิดองค์ความรู้ บทเรียนจากการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ชุมชน และหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกพื้นที่”
ภายในงานมีการจัดรูปแบบกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือก และโอกาสให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ร่วมเรียนรู้ในส่วนกิจกรรม เนื้อหา หรือบทเรียนที่สนใจ โดยมีรูปแบบกิจกรรมคือปาฐกถาพิเศษ โดย นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต., บรรยาย“ประสบการณ์และบทเรียนจากต่างประเทศ”, อภิปรายคณะ (Panel Discussion) , ห้องย่อย การนำเสนอประสบการณ์ บทเรียน และสังเคราะห์ยกระดับสู่องค์ความรู้และข้อเสนอทางนโยบาย ในประเด็น เศรษฐกิจท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น แผนบูรณาการสู่ท้องถิ่น กลั่นหัวใจสู่ชุมชนศานติ, นำเสนอรายงาน “บทเรียนการทำงาน 11 ปี ของภาคประชาสังคมชายแดนใต้”, การอภิปรายคณะ “แผนพัฒนาท้องถิ่นกับกลไกความร่วมมือเชิงบูรณาการในงานสร้างสันติภาพชายแดนใต้”, การแสดงทางวัฒนธรรม และการจัดและนำเสนอนิทรรศการผลการดำเนินงาน นิทรรศการศิลป์สู่ศานติ โปสเตอร์
สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ติดต่อสอบถามได้ที่ เลขา เกลี้ยงเกลา 089-7247270 และ ฮัมดี เจะเฮาะ 089-5975939