Skip to main content

 

คนพุทธ หวาดกลัวอิสลามจริงหรือ ? [2]

เหตุใดคนพุทธ ถึงปฏิเสธ

 

 

ปัญหาของเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พี่น้องคนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม เริ่มห่างกันเป็นระยะๆ เหตุการณ์ยิ่งเพิ่มขึ้น ระยะห่างยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าคนไทยพุทธจะเพิ่มความห่าง เพราะความหวาดวิตกของพื้นที่ หรือความหวาดระแวงต่อคนไทยมุสลิม ก็ตามที ความห่างที่คนมุสลิมบางคน บางกลุ่มจำเป็นต้องห่างกับคนไทยพุทธ เพราะความหวาดระแวงกลุ่มคนที่ไม่พึงประสงค์ให้เราต้องไปมาหาสู่กัน

หลายพื้นที่ พี่น้องไทยพุทธ และมุสลิม ใช้วิธีการโทรศัพท์คุยกัน แทนการไปมาหาสู่กัน ด้วยเหตุผลเพื่อความสบายใจ และเพื่อความปลอดภัย

จนระยะห่างทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นความไม่สบายใจที่จะพูดคุยกันในเรื่องของปัญหาที่เกิด ความปลอดภัยในพื้นที่บางพื้นที่ เกิดความจงเกลียดจงชังพี่น้องต่างศาสนิก ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ความจงเกลียดจงชังเกิดขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์ความมั่นคง มาพร้อมกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง เรื่องราวความสูญเสียต่อเหตุการณ์ตากใบ หรือกรือเซะ

กรณีคนไทยพุทธที่เริ่มมีความจงเกลียดจงชัง เพราะเกิดกรณีสูญเสียของครอบครัวต่อการกระทำของกลุ่มคนบางกลุ่มเริ่มเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ผมมีโอกาสได้คุยกับสุภาพสตรีที่ต้องสูญเสียสามีเนื่องในเหตุการณ์ความไม่สงบท่านหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า ในอดีตของการสูญเสียสามีในขณะที่มีลูกเล็กๆ 2 คน ทำให้ลูกของเธอเกลียดมุสลิม เกลียดอิสลาม เอามากๆ แต่สุดท้ายด้วยเหตุผลที่เธอสอนลูกของเธอ ทำให้ปัจจุบันลูกๆ ของเธอหมดสิ้นความเกลียด มีเพื่อนเป็นเด็กนักเรียนรุ่นเดียวกันที่เป็นมุสลิมซะด้วยซ้ำไป ลองมาฟังเรื่องราวของเธอกันครับ

เธอบอกว่า เมื่อวันอังคารที่ 12 มิ.ย.50 ตอนประมาณ 7 โมงเช้า สามีโทรมาถามว่าลูกแต่งตัวไปโรงเรียนหรือยัง ทานข้าวหรือยัง

8.30 โทรมาถามว่าแม่ (หมายถึงดิฉัน) ทานข้าวหรือยัง ลูกดื้อมั้ย อย่าลืมส่งของให้ด้วยนะ เป็นคำพูดสุดท้ายที่สามีได้สั่งกับเธอ

ตอนบ่าย ทางโรงงานถุงพลาสติก ที่สามีไปรับสินค้าโทรมาสอบถามว่า เปี๊ยก ไปขายของที่ไหน ฉันบอกว่าไปยะลาตั้งแต่วันจันทร์ แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ไหน เขาบอกว่า รถขายถุงหิ้วโดนปล้น มีคนตาย 2 คน

ฉันรีบโทรหาสามี และลูกน้องมีคนรับโทรศัพท์แต่ไม่พูด ฉันรีบเช็คข่าวกับเพื่อนที่อยู่ในพื้นที่ เจ้านายที่มีเพื่อนเป็นตำรวจระดับผู้ใหญ่ในพื้นที่ก็รีบตรวจสอบข่าวให้

18.00 ทุกอย่างชัดเจน ฉันยังคงนั่งงงกับเหตุการณ์ เจ้านายเดินมาจับมือฉันไว้ว่า “ใช่คนที่เสียชีวิต คือเปี๊ยก จริงๆ และ เธอต้องยืนให้ได้ ต้องเข้มแข็ง เพราะเธอเป็นแค่เมีย เด็กอีก 2 คน และคนแก่อีก 2 คน คือพ่อกับแม่เค้า เค้าเจ็บยิ่งกว่าเธอ เพราะถ้าเธอล้ม เค้าเองต้องมาดูแลเธอทั้งๆ ที่เค้าเจ็บกว่า” มันทำให้หัวใจที่สับสน ต้องตั้งหลักยืนอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง แต่ฉันไม่กล้ากลับบ้านเพื่อไปบอกแม่ บอกพ่อ และบอกลูกๆๆ ฉันโทรหาน้องชายคนรอง บอกข่าวพี่ชายเค้า ให้เค้ารีบเดินทางกลับมาจากภูเก็ต เพื่อมาบอกแม่และพ่อ

คุณพ่อสามีโทรตามฉันกลับบ้านเป็นระยะ ระยะ ทำไมยังไม่กลับ วันนี้ก็แปลกทำไมเปี๊ยกไม่โทรกลับบ้าน ฉันบ่ายเบี่ยงไป ว่าพี่เปี๊ยกคงยุ่ง สัญญาณไม่ดี ส่วนฉันติดงานด่วนที่บริษัท

เมื่อทุกคนมากันครบ ฉันไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึง ช่วงเวลาที่ทรมารที่สุดคือ ช่วงที่จะต้องบอกพ่อและแม่ สามี ว่า ลูกชายเค้าเสียชีวิตแล้ว

วันที่ 13 มิ.ย 50 ฉันเดินทางไปรับศพสามีที่ไร้ศีรษะ โดยมีคุณกมล สุทธิวรรณโณภาส ที่เปรียบเหมือญาติผู้ใหญ่ของดิฉันและครอบครัวสามี ที่ ต. สามัคคี อำเภอรือเสาะ

(ในวันนี้ ถ้าในวันนั้นที่ไปรับศพสามี ถ้าไม่มีลุงกมล ฉันยังนึกไม่ออกเลยว่า ดิฉันจะไปอย่างไร เพราะ รือเสาะ อยู่ไหน ไปอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่า ก็มาสิ อยู่ตรงนี้ตรงนั้น ดิฉันยังนึกถึงตลอดว่า ถ้ามาแล้ว ต้องมาตายอีกคน จะทำอย่างไร)

มาถึง สภ.รือเสาะ ร้อยเวรถามว่ารับได้ไหม ดูได้ไหม ไม่มีน้ำตาสำหรับฉัน สามีถูกมัดใส่กระสอบไม่มีศีรษะ มาเจอศีรษะอีกทีตอนรุ่งเช้า กลายเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ รถยนต์ 1 คันที่ยังหาไม่เจอ ทางการบอกว่าเจอแล้วแต่เอากลับไม่ได้

(ปัจจุบัน ดีแม็กซ์ที่บรอนท์ ตอนครึ่ง ทะเบียน สงขลา คันนั้น ยังเป็นรถเฝ้าระวังทุกครั้งที่มีข่าว เรื่องคาร์บอม)

ตอนบ่ายฉันเดินทางไป รพ. นราธิวาส เพื่อยืนยันร่าง และศีรษะ

ฉันถือศีรษะช่วยพยาบาลเย็บศีรษะสามี อาบน้ำและใส่เสื้อผ้าพา กลับบ้าน ทุกอย่างช่างง่ายดายเสียเหลือเกิน ความห่วงใยจากผู้ที่เกี่ยวข้องความช่วยเหลือในการเดินเรื่องทุกอย่าง ได้รับความสะดวกจากข้าราชการทุกฝ่าย ทั้งปลัด เจ้าหน้าที่ ร.พ. และเจ้าหน้าที่มูลนิธิในการพาสามีกลับบ้าน

เธอบอกว่า เธอดีใจที่หาศีรษะสามีเจอ และดีใจ ที่ศพสามีไม่ถูกเผาทั้งเป็น ดีใจที่สามีเสียชีวิตก่อนถูกตัดศีรษะ ดีใจที่เป็นพ่อค้าและถูกยิง เพราะบางคนมีปืนก็ตาย แล้วก็ดีใจที่เขากลับบ้านมาทั้งตัว แต่ก็ไม่เข้าใจว่าแผ่นดินไทยทำไมคนไทยเข้าไปไม่ได้

ฉันต้องไปรือเสาะอีกครั้งเพื่อติดต่อเรื่องเยียวยา เรื่องเงินช่วยเหลือ ....

วันหยุดยาวช่วงเข้าพรรษา ฉันถามลูกว่า “ลูกจะไปเที่ยวที่ไหนแม่จะพาไปหมดเลย” ลูกชายตอบว่า “จะไปหาพ่อที่รือเสาะ”

เขียนครั้งแรก เข้าพรรษาปี 50 เพิ่มเติมอีกครั้งในวันนี้ 24/5/59

วันนี้ ตุลาคม 50

“แม่ครับ ไม่มีพ่อแม่เหงามั้ย” “ถ้ามีพ่อเราเล่นกันสนุกกว่านี้อีกแม่” ลูกชายถามฉัน ไม่มีคำตอบ จากหัวใจของแม่

ที่ผ่านมาลูกชาย ไม่เคยเห็นน้ำตาแม่ และแม่เองก็ไม่เคยเห็นน้ำตาของลูก ในยามที่ถามหาพ่อ

ลูกจะบอกเสมอว่า “พ่อบอกว่าเป็นลูกผู้ชายตัองดูแลแม่ ดูแลน้อง “ ทุกวันนี้เราสามคนยังต้องอยู่เพื่อดำรงชีวิตต่อ เราเองต้องอยู่ให้ได้เหมือนที่พ่อสั่งไว้ คนหนึ่งคนที่ตายอย่างไม่มีคุณค่า ไม่รู้ว่าตายทำไม ทำไมต้องตาย ไม่มีคำตอบ เงินเยียวยาไม่มีค่าอะไรเลยแม้แต่นิดเดียวเมือเปรียบเทียบกับหัวหน้าครอบครัว

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอเมื่อปี พ.ศ.2550 แต่เธอนึกเสมอว่า คนที่ก่อเหตุ คือคนไม่มีศาสนา เพราะฉะนั้น เธอสอนลูกว่า คนอิสลาม คือคนที่มีศาสนา เหมือนกันกับพ่อ ที่นับถือศาสนาพุทธ ที่สอนให้คนเป็นคนดีเหมือนกัน

เธอเล่าให้ฟังอีกว่า ตอนน้องไปเที่ยว เมื่อ เดือนกรกฎาคม ปี 2550 น้องนั่งเครื่องกลับมาจากภูเก็ต แล้วมีคำถามมาถามแม่ว่า

พี่ป้อม/น้องกำปั้น : แม่แม่ ไหนแม่ว่า พ่ออยู่บนฟ้า พี่นั่งเครื่องบินบนฟ้า พี่กับน้องมองหาพ่อ แล้วไม่เห็นมี !!!!่

แม่: งั้นพ่อคงอยู่บนอวกาศ มั้ง (แอบตลก ร้ายๆ)

พี่ป้อม/น้องกำปั้น : อืมมมมม น่าว่ามั้งแม่

(กว่าลูกจะโตพอกับเหตุผลของความจริง แม่ ก็อึ้งกับคำพูดคำถามอีกหลายดอก)

ปัจจุบัน เธอ เป็นสมาชิกเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เป็นสมาชิกที่เข้มแข็ง เก่ง มีเหตุผล เป็นสุภาพสตรีที่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว แต่ก็สู้เพื่อดูแลลูกๆ ไม่มีคำว่าโกรธ เกลียด แค้น หลงเหลืออยู่ในตัวเธอแม้แต่น้อย

‪#‎เธอเอาชนะความเกลียดได้

‪#‎เธอหลุดพ้นจากคำว่าอคติได้

ขอบคุณ แดง ณภัทร ที่ยินดีให้ข้อมูลเพื่อการเผยแพร่ เพื่อการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันอย่างให้โอกาส ให้อภัยกัน

เรื่องราวเหล่านี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อกัน เพียงนำเสนอให้เห็นในอีกแง่มุมของผู้สูญเสีย ที่ยังคงมีความต้องการให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต่อไป

 

‪#‎Takeshi

 

อ่านตอนแรกได้ที่

คนพุทธหวาดกลัวอิสลามจริงหรือ ?