Skip to main content

 

Original Link Clik Here .

 

 

 

ครอบครัวเหยื่อวิสามัญทุ่งยางแดงสี่ศพจัดเวทีพูดคุยเรียกร้องชุมชนให้ติดตามคดีไต่สวนการตาย เผยเริ่มใจเสียเพราะเห็นทิศทางการสอบสวนบ่งชี้มีเค้าคนตายจะกลายเป็นผู้ผิด

ในขณะที่ในชั้นศาลกำลังมีการไต่สวนการตายคดีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพจากเหตุการณ์ล้อมจับผู้ต้องสงสัยที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อ 25 มี.ค. 2558 ล่าสุดผลการติดตามการสอบปากคำในชั้นศาลทำให้ครอบครัวผู้ตายเกิดความวิตก พ่อของหนึ่งในผู้ตายชี้ลูกกำลังจะกลายเป็นคนผิด ทั้งที่ผลการสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระที่เจ้าหน้าที่ตั้งขึ้นเองก่อนหน้านี้ระบุชัด เหยื่อวิสามัญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้ายและไม่มีอาวุธดังที่เป็นข่าว

ในเวทีพูดคุย “ยุติธรรมเพื่อประชาชน ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ” ที่จัดขึ้นที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดงวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งมีทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ญาติผู้เสียชีวิต 2 ใน 4 รายกล่าวถึงความอึดอัดที่เกิดขึ้น หลังจากที่ครอบครัวติดตามการไต่สวนการตายในชั้นศาลมาหลายเดือนจนขณะนี้เหลือการสอบปากคำอีกเพียงนัดเดียวคือวันที่ 14 มิ.ย.ที่จะถึงนี้เท่านั้นก็จะปิดคดี แต่พวกเขาเริ่มรู้สึกว่า ผลของการไต่สวนการตายอาจไม่สอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กองทัพภาคที่ 4 ตั้งขึ้นทำงานหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งในครั้งนั้นคณะกรรมการแถลงข้อสรุปชัดเจนว่า ผู้ตายสี่คนคือนายซัดดัม วานุ นายคอลิด สาเม็ง นายมะดารี แมเราะ และนายสุไฮมี เซ็นและ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้ายและไม่มีอาวุธดังที่ปรากฎในรายงานของสื่อในเวลานั้น

นายซาการิยา สาเม็งกล่าวว่า หลังจากที่ลูกชายของตนเสียชีวิต ทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงและข้อสรุปที่ว่าลูกชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ และมีการขอโทษ ทำให้ครอบครัวอย่างน้อยดีใจกับประเด็นนี้ เพราะตนเชื่อมั่นว่าลูกชายไม่เกี่ยวข้องและไม่มีอาวุธจริง เนื่องจากได้เห็นรูปที่ถ่ายจากสถานที่ไม่พบว่าข้างศพมีอาวุธแต่อย่างใด แม้ถัดมาจะปรากฎรูปที่มีอาวุธก็ตาม แต่การไต่สวนในชั้นศาลพบว่า มีการให้ข้อมูลที่แตกต่างและลูกของตนลงเอยกลายเป็นผู้มีอาวุธและเริ่มยิงเจ้าหน้าที่ก่อน นอกจากนั้นมีการให้ข่าวว่า ครอบครัวเหยื่อจะได้รับเงินเยียวยารายละ 7 ล้านบาท ซึ่งทำให้ชุมชนเข้าใจผิด จึงต้องออกมาบอกชาวบ้านว่า เงินเยียวยาที่ได้รับนั้นคือ 500,000 บาท “สิ่งที่เราต้องการคือความยุติธรรม ที่ผ่านมารัฐไม่จริงจังที่จะช่วยเหลือ จะแก้ปัญหาสามจังหวัดได้อย่างไร” พร้อมกับตั้งคำถามว่า ในกรณีที่ชาวบ้านมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ พวกเขาจะไปฟ้องใคร

ด้านนายมะหะมะ เซ็นและ กล่าวเช่นกันว่า ขณะนี้ตนเห็นว่ากำลังมีความพยายามจะยัดเยียดให้บุตรของตนซึ่งอยู่ในหมู่ผู้ตายสี่คนเป็นผู้ก่อเหตุร้าย โดยเจ้าหน้าที่ระบุในชั้นศาลว่าถูกยิงก่อน ซึ่งตนไม่เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ไม่มีอาวุธ “ทำไมรัฐบาลพยายามให้มุสลิมเป็นโจรทุกคน เราไม่อยากแบ่งแยก เราอยากให้มีความสุข สันติสุข อย่าพยายามยัดเยียดให้พวกเราเดินทางนั้น”

“ผมอยากขอให้มีความยุติธรรมต่อพวกเรา ทุกอย่างที่รัฐทำ ทำแล้วขอให้ยอมรับผิด ถ้าไม่ยอมรับผิด พยายามยัดเยียด ใส่นี่ใส่นั่น ก็ไม่มีสันติสุขเกิดขึ้น”

ก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยในเวที บรรดาผู้เข้าร่วมงานได้ละหมาดฮาญัตด้วยกัน ซึ่งญาติผู้เสียชีวิตระบุว่า การจัดละหมาดหนนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจ ขอพรจากพระเจ้าไม่ให้มีความแตกแยกในพื้นที่ และลดความไม่สบายใจ “เรามาขอให้อัลเลาะห์ (พระเจ้า) ประทานพรให้เรารักกัน เราอย่ามีอคติต่อกันเลย เรื่องเก่าๆมันเป็นเรื่องเป็นร้อยปีมาแล้วไม่ควรเอามาเกี่ยว”

ผู้จัดงานพยายามให้ข้อมูลในเรื่องของมาตรการไต่สวนการตายตามกฎหมายอาญาในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ได้รับผลกระทบควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมหากต้องการแสวงหาความยุติธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวได้รับความเสียหายจากการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานีอธิบายถึงความสำคัญของมาตรการดังกล่าวพร้อมกับย้ำว่า “ความยุติธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความสงบ สังคมที่ไม่มีความยุติธรรมจะหาความสงบสุขไม่ได้”

นอกจากนั้น อับดุลกอฮาร์เปิดเผยว่า การจัดเวทีเสวนาที่บ้านโต๊ะชูดเป็นความคิดริเริ่มของชาวบ้าน เท่ากับว่าชาวบ้านเห็นความสำคัญของข้อกฎหมาย และการจัดเวทีเสวนาในลักษณะเช่นนี้ควรจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ด้วยการดูแลและรับฟังแต่ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้จัดเอง รวมทั้งควรรักษาบรรยากาศที่เปิดกว้าง เพราะหลายครั้งหากมีการพูดคุยในลักษณะเช่นนี้ มักจะปรากฎสื่อประเภทที่เรียกกันว่า “เพจผี” หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่ไม่ปรากฎเจ้าของชัดเจนลงข้อความหรือเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชังต่อผู้เข้าร่วมงาน

ในงานปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร่วมงานและเฝ้าดูตลอดงานโดยที่ไม่มีการนำอาวุธเข้าสู่บริเวณงานแต่อย่างใด มีเพียงการเก็บภาพผู้เข้าร่วมตลอดงาน อย่างไรก็ตามไม่มีใครให้สัมภาษณ์ โดยส่วนใหญ่อ้างว่าไม่สะดวก หรือไม่ก็บอกว่าผู้บังคับบัญชาไม่ต้องการให้มีภาพที่สับสนปรากฎออกสู่สายตาสาธารณะ นายทหารรายหนึ่งชี้ว่า การจัดเวทีเช่นนี้เจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติแต่สิ่งที่ควรระวังคือการจัดพูดคุยต้องกระทำบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง พร้อมระบุว่าสิ่งที่ฝ่ายทหารต้องการเห็นในเวลานี้คือให้ทุกฝ่ายรอดูการทำงานของกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด และเชื่อว่าศาลจะตัดสินอย่างตรงไปตรงมา “หากเจ้าหน้าที่ทำผิดก็อยากให้ศาลตัดสินไปตามนั้น” นายทหารคนดังกล่าวยืนยัน ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ถอนเรื่องของโครงการที่จะทำทุ่งยางแดงโมเดลในฐานะที่จะให้เป็นแม่แบบของความร่วมมือของชุมชนในการดูแลความปลอดภัยไปแล้ว