Skip to main content

แถลงการณ์พิเศษ1/2559
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR)
วันที่ 9 มิถุนายน 2559
เรื่อง กอ.รมน.ภาค4ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีกับ 3 นักสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้

เนื่องด้วยได้มีเหตุการณ์ที่กระทบสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อกลุ่มคณะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไม่คาดฝัน หลังจากที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายนุษยชนปาตานี เก็บข้อมูลและเรียบเรียงโดยทำ‘รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558’ (http://www.deepsouthwatch.org/node/8106) และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ต่อมาวันที่12 กุมภาพันธ์ 2559 ทางกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ได้ทำการแถลงข่าวชี้แจงว่า ไม่มีการซ้อมทรมานจริงตามรายงานตามที่รายงานดังกล่าวได้อ้างไว้ และข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเก่า รายงานฉบับนี้จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ พร้อมที่จะเปิดให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส

จากนั้นทางกอ.รมน.ภาค4ส่วนหน้า ได้เปิดให้สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมบางส่วนได้เข้าไปสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ขณะเดียวกันทางกอ.รมน.ภาค4ส่วนหน้า ก็ได้เชิญนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีนะ ไปคุยที่ค่ายสิริธร อีก 2-3 ครั้ง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังได้ไปเยี่ยมนางสาวอัญชนา หีมมีนะที่บ้านหลายครั้งเช่นกัน

อยู่ๆ เว็บไซต์ข่าววอยท์ทีวี รายงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อนักสิทธิมนุษยชน ที่เผยแพร่ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558’ โดยระบุว่า ฝ่ายกฎหมายกอ.รมน.ภาค 4 ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้เอาผิดนักสิทธิมนุษยชน

จากการตรวจสอบพบว่าเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กอ.รมน.ภาค 4ส่วนหน้าได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวอัญชนาหีมมีนะที่สภ.เมืองยะลา ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทางอดีตผู้ต้องสงสัย อดีตผู้ต้องหา ตลอดจนครอบครัวญาตสนิทของเหยื่อก็เป็นสักขีพยานได้ อีกทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลเองเช่น องค์กรนิรโทษกรรมสากล และฮิวแมนไรช์วอทช์ ก็เคยออกแถลงการณ์รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในลักษณะดังกล่าวเหมือนกัน แต่ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด

เหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้นกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนข้างต้นนั้น ได้ทำให้สาธารณชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และแวดวงนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ มีความรู้สึกแปลกใจกับมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ได้ดำเนินการต่อบุคคลที่มีบทบาทเดียวกันคือ เป็นนักสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่มีสถานะทางองค์กรต่างกันคือ เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศกับระหว่างประเทศ

ในกรณีที่เกิดกับนักสิทธิมนุษยชนชายแดนภาคใต้ทั้ง3คนครั้งนี้ รัฐเลือกที่จะไม่ได้ดำเนินคดีกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่กลับเลือกปฏิบัติดำเนินคดีกับองค์กรสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ทำให้ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ รู้สึกว่ารัฐไทยได้ใช้กระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐานหรือไม่ และแน่นอนว่าหากนักสิทธิมนุษยชนทั้ง3คนดังกล่าวไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลบั่นทอนต่อบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการสันติสุขที่นำโดยรัฐไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) และองค์กรภาคี จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อไม่ให้สถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนี้

1.ขอให้เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ดังกล่าวด้วย 

2.ขอให้ทางภาครัฐให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแห่งรัฐ
 

ด้วยจิตรักษ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) 

และขอเชิญชวนองค์กรภาคีลงชื่อในแถลงการณ์