รอมฎอนกับการกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี (2)
บทความโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ฝึกการอดและลดอาหารมานานหลายปีก่อนเริ่มต้นอิสลาม โดยท่านถือศีลอดทุกเดือนรอมฎอน 7 วันบ้าง 10 วันบ้างหรือแม้กระทั่งทั้งเดือน ส่วนเดือนอื่นๆท่านนบียังถือศีลอดอยู่บ่อยๆ ระหว่างการถือศีลอดท่านฝึกจิตให้สงบโดยการทำสมาธิในยามค่ำคืน ยุคก่อนการมาของอิสลาม ท่านนบียังไม่รู้จักการละหมาด ยิ่งละหมาดตะรอเวียะฮ์ยิ่งไม่มีใครรู้จัก ส่วนการอ่านอัลกุรอ่านไม่ต้องพูดถึงเพราะท่านนบีอ่านไม่เป็นอยู่แล้ว
มาถึงวันนี้มีรายงานวิจัยยืนยันผลดีของการอดอาหารเป็นครั้งเป็นคราวรวมถึงการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนกันเป็นเรื่องเป็นราว นอกเดือนรอมฎอนท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) มักถือศีลอดสัปดาห์ละสองครั้ง รายงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าวิธีอดอาหารสองวันพักหรือใช้ชีวิตปกติห้าวันเป็นเสมือนการหยุดพักงานในแต่ละสัปดาห์ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น รู้ๆกันอยู่ว่าทางเดินอาหารคือแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันแหล่งใหญ่ของร่างกาย การอดอาหารช่วงสั้นๆจึงช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เรื่องอย่างนี้มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
งานวิจัยก่อนหน้านั้นยืนยันด้วยว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายได้ ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขว่าการถือศีลอดต้องควบคู่ไปกับการลดการบริโภคอาหารซึ่งเป็นไปตามคำสอนของท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ตามปกติท่านนบีแนะนำให้แบ่งกระเพาะอาหารเป็นสามส่วน ให้เป็นพื้นที่ของอาหารหนึ่งส่วน น้ำหนึ่งส่วนและเป็นที่ว่างอีกหนึ่งส่วน หมายความว่าคนเราหากประสงค์จะมีสุขภาพที่ดี การบริโภคอาหารไม่ถึงขนาดอิ่มก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้แล้ว การบริโภคแต่น้อยนี้ท่านนบีทำมากขึ้นในเดือนรอมฎอน
รายงานวิจัยยุคใหม่พบด้วยว่าการกินแต่น้อยสร้างประโยชน์ให้แก่สุขภาพได้มากกว่า ที่สำคัญคือช่วยให้อายุขัยยืนยาวขึ้น ลองสังเกตดูเถอะคนที่อายุยืนเกิน 90 ปี หรือแม้กระทั่งร้อยปีตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นคนรูปร่างพอเหมาะหรือบอบบางแทบทั้งนั้น คนยิ่งอ้วนยิ่งน้ำหนักตัวมากก็ยิ่งตายง่ายตายไว ไขมันในร่างกายที่มากเกินสร้างสารพิษทำลายร่างกายไปทีละน้อย ส่วนคนที่มีไขมันรอบพุงต่ำ ไขมันรอบอวัยวะน้อย ไม่ผอมจนเกินไปกลับมีชีวิตที่เป็นสุขกว่า
การบริโภคแต่น้อยให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์พบเพิ่มเติมอีกว่าการควบคุมจิตใจไว้ให้มั่นคงด้วยการตั้งสมาธิ ในกรณีมุสลิมถือศีลอดคือการละหมาดสงบจิตใจรวมทั้งการอ่านหรือแม้กระทั่งการฟังอัลกุรอ่าน ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของสารเคมีต่างๆในร่างกายมีมากขึ้น การปลดปล่อยสารเคมีที่ลดลงด้วยประสิทธิภาพที่มากขึ้นจึงช่วยลดกลไกการเผาผลาญในร่างกาย นี่คือความลับของการเพิ่มอายุขัย ทั้งนี้โดยต้องให้ร่างกายได้ทำงานเป็นปกติไม่หนักหรือน้อยจนเกินไป ทำได้อย่างนี้สุขภาพร่างกายในเดือนรอมฎอนรวมทั้งหลังเดือนรอมฎอนดีขึ้นได้แน่นอน
อ่านบทความตอนที่แล้ว
รอมฎอนกับการกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี (1) โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน