อะไรคือดนตรี? ชวนคิด ชวนอ่านมุสลิมศึกษาแบบทวนกระแส
ติรมีซี ยามา
คำถามที่ดูเหมือนจะง่าย แต่เรามักจะเจอทางตันเมื่อเราถามไปเรื่อยๆ ถึงประเด็นว่าอะไรคือดนตรี? เพราะเอาเข้าจริงดนตรีมันเป็นฟิตเราะห์ (ธรรมชาติ) ที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด เครื่องดนตรีคือเครื่องมือถ่ายทอดศิลปะทางเสียงอย่างหนึ่ง เครื่องดนตรีหากเอามาตีมั่วๆ เล่นมั่วๆ มันก็คงไม่เกิดเป็นเสียงดนตรีที่ไพเราะ มันก็คงไม่ต่างจากการที่เราเอามือทุบกำแพงมั่วๆ แล้วเกิดเสียง หรือการปรบมือให้เกิดเสียง เสียงที่เป็นดนตรีคือเสียงที่เป็นจังหวะซึ่งมันอาจจะเกิดจากอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องดนตรี
เสียงนกร้องตามป่าเขา เสียงน้ำตกหรือเสียงธรรมชาติอื่นๆ นับว่าเป็นเสียงดนตรีได้มั้ย ? ตกลงเสียงไหนมาก่อนกันระหว่างเครื่องดนตรี หรือเสียงธรรมชาติ?
มนุษย์ชอบความไพเราะจริงมั้ย? เราคงไม่สะดวกหูที่จะฟังอิหม่าม (ผู้นำละหมาด) อ่านกุรอานแบบไม่มีความไพเราะเลย ทั้งๆที่มันเป็นพระดำรัสของพระเจ้าแต่เราก็ใช้ทำนองต่างๆ นานา ในการอ่าน แม้แต่ในการกล่อมลูกหรือต่อให้เรากล่อมด้วย "ลา อิลาฮา อิลลัลลอฮ" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์) ก็ตาม แม่แต่ละคนก็จะนำประโยคนี้มาสร้างทำนองไม่เหมือนกัน ตกลงทำนองคือดนตรีไหม? แล้วเรามีปัญหากันเรื่องอะไรกันแน่ในเมือเราก็อยู่กับ "ดนตรี" แบบนี้มาโดยตลอด หรือมันเป็นเพราะเครื่องดนตรี?
เจอร์มี มอนตากู (2007) ได้นิยามเครื่องดนตรีไว้ว่า วัตถุอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิด sound (เสียง) และเป็นทำนองถือเป็นเครื่องดนตรี ผมคิดว่าคำนิยามนี้ถือเป็นการนิยามที่กว้างที่สุดที่เราหลายคนคงรับได้ เครื่องดนตรีมีวิวัฒนาการของมัน การใช้ approach หรือระเบียบวิธีที่ตึงจนเกินไปจะบอกเราว่าเครื่องดนตรีคือสิ่งที่หะรอม (ไม่เป็นที่อนุญาติโดยศาสนา) ถ้าเราใช้วิธีทำความเข้าใจลักษณะนี้มันจะมีปัญหาในตัวมันเองเพราะแทบทุกอย่างสามารถทำให้เป็นเครื่องดนตรีได้
กีต้าเกิดจากแถบยุโรป โลกอาหรับยังไม่รู้จักเลยในตอนนั้นว่ามันมีเครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงประเภทนี้อยู่ ยุคนี้แทบไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีเพราะมันกำลังจะเข้าสู่ยุคดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic sound) ซึ่งมันเจ๋งกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ เยอะ ตกลงอะไรเป็นที่ต้องห้ามในศาสนา (หะรอม) กันแน่? ระหว่างรูปแบบวิธีการ (means) ที่เป็นเครื่องดนตรีกับเป้าหมายของการเล่นดนตรีนั้น (ends)
ตกลงอะไรคือดนตรี? ถ้าไม่ใช่เครื่องดนตรี?
หากไปดูนักวิชาการสายดนตรีนิยามกัน เราแทบจะไม่เห็นเลยว่าการเป็นดนตรีได้ต้องมีเครื่องดนตรี ส่วนใหญ่ที่พูดตรงกันหลักๆ แล้ว จะมีสิ่งที่เรียกว่า จังหวะ ท่วงทำนอง การขึ้นเสียงและหลบเสียง (melody, rhythm และ dynamic) เป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เกิดคำว่า "ดนตรี" หรือ mousike (เดิมเป็นภาษากรีก)
ปัจจุบันเป็นปรากฏการณ์ที่มุสลิมเราพยายามทำอะไรที่มาจากตะวันตกให้เป็นอิสลามด้วยการ Islamize ดังนั้น เพลงหลายเพลงที่มาจากตะวันตกถูกปรับแต่งใหม่ (cover) ด้วยกับการไม่ใส่ดนตรีและการเปลี่ยนเนื้อหา จริงอยู่ที่ผมเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเนื้อหาเพราะมันเป็นการเล่นกับ "วัตถุประสงค์" แต่การเปลี่ยนจากเครื่องดนตรีมาเป็นแนว acapella (การร้องเพลงประสานเสียงโดยที่ไม่ใช้เครื่องดนตรีแม้แต่ชิ้นเดียว) หรือ beatbox (วิธีทำเสียงลักษณะเสียงตีหรือเสียงกระทบ) ก็เป็นแค่ "การเลี่ยงบาลี" แบบหนึ่งเท่านั้น เพราะมันไม่ได้ทำให้คุณหนีความเป็นดนตรีได้เลย
มนุษย์ชอบความสวยงาม ดนตรีที่ดีจึงตอบโจทย์ความสวยงามที่เราต่างชอบในแบบที่ไม่เหมือนกัน บางคนชอบแนวซอฟๆ (เบาๆ) นั่นก็คือดนตรีแนวหนึ่งที่เวลาเราบริโภคไปแล้วเรารู้สึกถึงความสงบและไพเราะ บางคนค้นหาความสงบนี้ได้จากเพลงแนว metal rock (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเข้าใจเลย) แต่นั้นคือความจริง ความจริงที่มนุษย์ย่อมใฝ่หาศิลปะหรือความเป็นสุนทรีย์ เพราะสุนทรียภาพเป็นฟิตเราะห์ (ธรรมชาติ) หนึ่งที่พระเจ้าให้มา ไม่ใช่ทุกคนสามารถมีเซ็นส์เรื่องดนตรีได้ มันเป็นพรสวรรค์ และไม่ใช่คนที่เล่นดนตรีได้จะมีผลที่ไม่ดีทางคุณธรรมและจริยธรรมของเขา
ประเด็น "ดนตรี" จึงเป็นประเด็นที่ล่อแหลมและละเอียดอ่อน (sensitive) ในสังคมมุสลิมมาโดยตลอด และไม่เคยมีการมาถกกันแบบจริงจัง เพราะมันถูกตีตราให้ไปเข้าใจเป็นโทนเดียวมาโดยตลอด นั่นคือ "โทนแห่งการห้าม" พื้นที่นี้จึงถูกครอบครองและครอบงำ (dominate)โดยนักวิชาการสายตัวบทเรื่อยมา เพราะมันถูกทำให้เป็นประเด็นเชิงศีลธรรม ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการพูดคุยกันในกรอบศีลธรรมหรือจริยศาสตร์เลยว่ามันให้คุณหรือให้โทษอย่างไร วิธีการตีความจากตัวอักษรแบบแข็งทื่อ (rigid) เลยถูกนำมาใช้อย่างไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นเลย การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาบนดินอีกครั้งจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผม เพราะผมมองว่ามันไม่ยุติธรรมต่อสังคมโดยกว้าง เนื่องจากประเด็นนี้ทำให้คนที่เห็นด้วยกับดนตรีมักถูกมองในลักษณะที่ไปลดค่าของเขาในเชิงศีลธรรม ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโดยภาพรวมแล้วคนฟังหรือไม่ฟังมีความยำเกรง (ต่อพระเจ้า) มากกว่ากัน บางคนยำเกรงผ่านตัวอักษรในขณะที่บางคนยำเกรงผ่านเจตนารมณ์ของตัวอักษร
ดังนั้นผมขอสรุปว่า เรื่องปรากฏการณ์การตีความดนตรีให้เป็นสิ่งที่หะรอม (เป็นที่ต้องห้าม) ก็ไม่ต่างจากการบอกว่า การวาดรูปคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หะรอม (เป็นที่ต้องห้าม) เช่นกัน หากงานเขียนหรืองานวาดคือศิลปะทางสายตา ดนตรีก็คือศิลปะทางการรับฟัง
การบอกว่าดนตรี หะรอม (เป็นสิ่งต้องห้าม) เป็นทัศนะหนึ่ง แต่ขอร้องว่า อย่ามาบอกว่าเป็นทัศนะเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง
(ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการและเจ้าของบล็อก)