Skip to main content

ความมั่นคงชายแดนใต้สั่งจับตา 11 แกนนำค้านโรงไฟฟ้าเทพา ทั้งนักวิชาการ-ข้าราชการ-ชาวบ้านในพื้นที่ เผยสั่งสอบวินัยตำรวจชั้นประทวนอ้างพฤติกรรมไม่เหมาะสม

 

ภาพการเดินขบวนรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพ-ปานาเระ เมื่อ 10 เมษายน 59 (ภาพโดย ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 มีรายงานข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในการประชุมของหน่วยงานต่าง ๆ ด้านความมั่นคงในพื้นที่ปัตตานีและสงขลาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการพูดถึงการเฝ้าติดตามแกนนำคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้ดำเนินการพบปะพูดคุยปรับทัศนะคติ โดยระบุชื่อแกนนำที่ในพื้นที่ 2 คน ข้าราชการ 4 คน นักวิชาการ 5 คน รวมทั้งการให้หน่วยงานความมั่งคงเข้าร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าพบปะกับอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เพื่อให้ไปทำความเข้าใจกับอาจารย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นอกจากนี้ที่ประชุมยังระบุให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รนม.ภาค 4 สน.) รายงานพฤติกรรมของแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าเทพาคนหนึ่งที่เป็นตำรวจชั้นประทวน เพื่อขอให้มีการลงโทษทางวินัย และให้หยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับหน้าที่ของความเป็นข้าราชการของรัฐ
 
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็น 1 ในแกนนำที่ถูกอ้างถึง เปิดเผยว่า ในแกนนำของเครือข่ายทราบเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่ไม่อยากให้เรื่องราวถูกเผยแพร่ออกมา เพราะกังวลว่าอาจกระทบต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้ชาวบ้านยิ่งมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อรัฐยิ่งขึ้น
 
“อาจไม่ดีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของชายแดนใต้ แต่เวลาทหารพูดกับเรา ก็บอกว่าอย่าเอาไปเชื่อมโยงกับเรื่องสันติภาพ แต่เราก็บอกทหารว่าการกระทำเช่นนี้ มันยิ่งถูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน และยิ่งมีเรื่องหลุดออกมา ยิ่งทำให้คนสามารถสรุปได้เลยทันทีกับสิ่งที่เขาคิดกันอยู่ว่า ทหารกับ กฟผ. เป็นพวกเดียวกัน” นายดิเรก กล่าว
 
นายดิเรก กล่าวต่อว่า ชาวบ้านเสนอต่อรัฐหลายครั้งแล้วว่า อย่าใช้อำนาจทหารในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะอาจถูกผลักให้กลายเป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งชาวบ้านต้องการให้ทหารเป็นคนกลางในการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้ทหารกลายเป็นคู่ขัดแย้งไปเสียแล้ว จึงมองว่าหากเป็นเช่นนี้ปัญหาความไม่สงบจะไม่มีทางยุติลง เพราะทหารกำลังทำให้การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นสิทธิชุมชน กลายเป็นปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้ไปโดยปริยาย
 
“เราพยายามบอกว่าอย่าเพิ่มเงื่อนไขหรือภัยแทรกซ้อนเข้ามา เพราะอย่าลืมว่าเครือข่ายภาคประชาชนส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ทหารก็กำลังทำให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน จาก 3 นักสิทธิที่ถูกทหารฟ้องร้อง กับ ชาวบ้านถูกทหารเรียกตัว พูดง่ายๆ ประชาชนไม่มีที่ยืน” นายดิเรก กล่าว
 
นายดิเรก กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจชั้นประทวนที่เป็นแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถูกกำลังถูกสอบสวนทางวินัย ว่า เป็นความชอบธรรมของตำรวจผู้นั้นที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นตามสิทธิ เนื่องจากเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินฯ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่เขาถูกสอบสวนทางวินัย นอกจากนี้ยังถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินแจ้งความหมิ่นประมาทอีกด้วย ส่วนตัวคิดว่ากระบวนการของ ฉก.สงขลา เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นกลาง ที่พยายามชงเรื่องไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ใช้อำนาจควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชา ถือเป็นการล้ำเส้นของประชาชนในการแสดงออกตามสิทธิ
 
“เขาก็ไม่ได้ทำอะไรเกินเลย เพราะเป็นตำรวจที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่โครงการ เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่มานั่งฟัง เพราะว่าผมไปจัดเวทีในพื้นที่เขา แล้วครอบครัวเขาก็ไปร่วมนั่งฟังในฐานะคนในพื้นที่ตั้งโครงการ และหลังจากถูกฟ้องหมิ่น เขาก็ไม่ได้ร่วมขึ้นเวที อาจมีแค่การแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กบ้างเท่านั้น แต่ได้ข่าวมาว่าเขาอาจถูกย้ายไปภาคเหนือหรือที่เจาะไอร้อง เพียงแต่ยังไม่มีคำสั่งโยกย้ายอย่างเป็นทางการออกมา” นายดิเรก กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13068 .