Skip to main content

 

Original Link Clik Here .

 

กินขนมหายาก “งาแน” ที่ปัตตานี หนึ่งปีมีหนเดียว

 

 

เตาถ่านบนขาตั้งนั้นมีไฟคุแดงแต่ไม่มาก บนกองถ่านวางไว้ด้วยถาดแม่พิมพ์สีดำมีฝาปิด ผู้หญิงในผ้าคลุมที่นั่งอยู่ข้างๆฉีกกาบมะพร้าวแห้งสุมไฟวางลงบนฝาถาด ควันจากกาบมะพร้าวโขมงเต็มห้อง

สักพักเธอก็เอาถาดออก ในถาดแม่พิมพ์ใบนั้นมีหลุมที่หยอดส่วนผสมของขนม “งาแน” เอาไว้ ขนมที่สุกสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมของแป้ง น้ำตาล ไข่ และกะทิ ผสมด้วยกลิ่นกล้วยลอยกรุ่น ขนมในหลุมดูเผินๆราวกับเค้กกล้วยหอมแต่เมื่อหยิบเข้าปากจะรู้ว่ารสชาติหวานจัดกว่ากันมาก

งาแน เป็นภาษามลายู และเป็นขนมหายากที่แทบจะไม่มีใครทำแล้ว วิธีทำขนมงาแนที่เห็นในภาพนี้ก็เป็นวิธีแบบโบราณ คือการใช้เตาที่มีถ่านติดไฟอ่อนๆ ใช้พิมพ์ใส่ขนมที่ต้องสั่งทำเป็นพิเศษจากทองแดง และมีฝาปิด อาศัยความร้อนที่สม่ำเสมอจากการเผากาบมะพร้าวแห้งประกบลงไปบนฝา การใช้ความร้อนทั้งล่างและบนเพื่ออบขนมนั้น คนทำบอกว่า จะช่วยทำให้ขนมฟูสวยงาม

แหล่งทำขนมงาแนที่ขึ้นชื่ออยู่ที่ ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก ปัตตานี อาจจะเป็นเพราะความยากของการทำก็เป็นได้ทำให้ปัจจุบันเหลือคนทำอยู่แค่ไม่กี่ราย งาแนแบบโบราณจริงๆปัจจุบันหารับประทานได้เฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น เช่นเดียวกันกับขนมแบบโบราณอีกหลายอย่าง

แวปิเสาะ คารี วัย 65 ทำขนมงาแนมาร่วมยี่สิบปี เธอบอกว่าช่วงเวลาปกติจะขายยาก ส่วนใหญ่ผู้คนจะหาซื้อไว้สำหรับตอนละศีลอด อาจจะเพราะรสชาติที่หวานจัดทำให้เหมาะสำหรับคนที่อดน้ำและอาหารมาแล้วทั้งวันจะได้เริ่มต้นการรับประทานอาหารของวันในช่วงเย็นด้วยของที่ให้พลังงานเช่นนี้

ดังนั้นถึงแม้จะขายแค่ช่วงเดือนรอมฎอนแต่สำหรับในช่วงนี้ก็จะมีคนสั่งซื้อทุกวัน แวปิเสาะบอกว่า ต้องทำขนมตามคำสั่งซื้อวันละไม่ต่ำกว่า 700-800 ลูก บางวันถึงพัน ซึ่งก็ต้องทำกันตั้งแต่เช้ายันเย็นกับลูกจ้างอีกสองคน โดยมีพิมพ์ขนมที่มีอยู่เพียงสองถาด แต่ละถาดมีหลุมสำหรับหยอดขนมได้ครั้งละสิบลูกเท่านั้น กว่าที่จะ “อบ” เสร็จได้ขนมหน้าตาดีแต่ละถาดก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสิบนาที

งาแน ก็เหมือนขนมหายากและอาหารอีกไม่น้อยในสามจังหวัดภาคใต้ที่หากินได้เฉพาะช่วงเดือนถือศีลอด เพราะช่วงเดือนถือศีลอดผู้คนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดลดอาหารเหลือเพียงมื้อเย็น ร้านอาหารทั่วไปส่วนมากจึงมักจะปิดหรือไม่ก็เปิดอย่างจำกัด ช่วงเดือนถือศีลอดจึงเป็นเวลาพิเศษที่ทำให้มีคนก้าวเข้ามาทำอาหารขายเฉพาะในช่วงนี้

แต่ถึงแม้จะยังมีตลาดอยู่ในช่วงเดือนถือศีลอด อนาคตของ “งาแน” ก็ยังไม่แน่ เพราะแวปิเสาะบอกว่า ขณะนี้เหลือคนทำขนมงาแนแค่สองเจ้าในหมู่บ้านเดียวกัน ส่วนอีกรายอยู่คนละหมู่บ้าน ขณะที่คนทำแต่ละคนก็อายุมากแล้ว ที่สำคัญพวกเธอไม่มีคนสืบทอดการเป็นทายาทจะทำขนมต่อเสียด้วย