องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนแล้วเป็นผลมาจากการรวมตัวก่อตั้งโดยมนุษย์ ทุกองค์กรย่อมถูกออกแบบผ่านกฎเกณฑ์ กติกา เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ โครงสร้าง และบทบาทหน้าที่ของมันอย่างชัดเจน หลายองค์กรมีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักเพียงข้อเดียวในการขับเคลื่อนองค์กรโดยหวังให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ถ้าเราเข้าใจถึงธรรมชาติของสังคมในยุคปัจจุบันเราจะพบว่า สังคมที่เราอาศัยมีความหมายถึง“องค์กรต่างๆมารวมตัวกันจนกลายเป็นสังคมหนึ่ง ” ซึ่งภารกิจต่างๆทางสังคมหลายต่อหลายอย่างได้รับการแก้ไขโดยองค์กรที่มีอยู่ในสังคม เช่น องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรทางทหาร โรงพยาบาล โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย เป็นต้น ล้วนมีหน้าที่ของตัวเองในการรับผิดชอบสังคมอย่างชัดเจน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กรที่กล่าวมาคือหัวใจหลักของสังคม หมายถึงว่า องค์กรต่างๆพยายามที่จะทำหน้าที่ในการ “ผ่องถ่ายความรู้” ให้แก่กันและกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าองค์กรที่มีอยู่ในสังคมมีความสามารถพอที่จะสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นไปสู่สมาชิกของสังคมในทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมนั้นๆก็จะได้รับการชื่นชมว่าเป็นสังคมที่มีความพร้อมเชิงการแข่งขันสูง
ธรรมชาติอีกประการหนึ่งของความเป็นสังคมที่เราจะต้องเข้าใจได้แก่ สังคมได้ก้าวย่างไปสู่สังคมโลกาภิวัตน์และสังคมแห่งการพึ่งพาระหว่างกันและกันอย่างสมบูรณ์ ความเปลี่ยนแปลงในบริบทสังคมโลก ได้ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่ๆต่อความสำเร็จขององค์กรเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ความท้าทายที่ว่านี้ ได้แก่ การจัดการต่อกำลังซื้อของโลกที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไป การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ การธำรงรักษาผลผลิตที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งความต่อเนื่องในการผลิตผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพ เป็นต้น
มีการยอมรับโดยทั่วไปว่า ปัญหาแกนกลางในองค์กรภาคเอกชน (อาจรวมภาครัฐด้วย) คือการขาดทิศทางด้าน “จริยธรรมในการบริหารจัดการ” หรือ ขาด “พันธสัญญาทางศาสนา” เนื่องจากว่าทั้งตัวองค์กรและสมาชิกพยายามที่จะมองในมุมการบริหารแบบมุ่งเน้นความต้องการส่วนตัว ส่วนองค์กรเป็นที่ตั้ง (profit) ซึ่งกำลังส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของการบริหารจัดการองค์กร ท้ายที่สุดแล้ว ในระยะยาวความสามารถเชิงแข่งขันขององค์กรจะต้องขึ้นอยู่กับการเคารพกฎกติกาทางจริยธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับ โดยสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยหลักในการนำองค์กรสู่ความสำเร็จ (ซึ่งตรงจุดนี้ องค์กรศาสนาก็อาจจะหนีไม่พ้นกับวิกฤตทางจริยธรรมภายในองค์กรด้วยเช่นกัน-ผู้เรียบเรียง)
นอกจากนี้ “คุณภาพความเป็นผู้นำ” ในองค์กรจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดความสำเร็จขององค์กร ผู้นำองค์กรที่ดีจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงโอกาสของเขาในการนำองค์กรเพราะ “การนำ” ถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขา ผู้นำที่ดีต้องกล้าริเริ่มสิ่งใหม่สำหรับการพัฒนาองค์กร เขาจะต้องไม่รอช้าเมื่อเห็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องต่อองค์กร ซึ่งโดยธรรมชาติ ในทุกๆองค์กรย่อมมีโอกาสสำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรอยู่เสมอ
ในทางเดียวกัน ผู้นำที่มีพลวัตรไม่หยุดนิ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาความสามารถในการทำงานของเขาควบคู่ไปด้วย และสิ่งที่พึงระวังในประเด็นนี้คือ “ผู้นำเปรียบเสมือนหัวใจของร่างกาย” และถ้าหัวใจมีภาวะล้มเหลวเฉียบพลันขึ้นมา สุขภาพของคนเราก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่ารักษาอย่างประเมินค่าไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม “คุณภาพของพนักงานในองค์กร” ถือว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จที่เราไม่ควรมองข้ามและละเลยเป็นอย่างยิ่ง “ทัศนคติ” “ภาพลักษณ์” และ “ทักษะต่างๆ” ของพนักงานจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขามีการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการทำงานเพื่อบริการสังคมส่วนรวมด้วยความรับผิดชอบ (accountability) ในประเด็นนี้ เราต้องอาศัยความสามารถของผู้นำที่มีคุณภาพ เพราะพวกเขาย่อมรู้ดีว่า การพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรมีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จขององค์กร ซึ่งเรามีความเชื่อว่า พนักงานสามารถที่จะมีผลงานที่ดีได้ ถ้าพวกเขารู้จักทำงานเป็นทีม
ดังนั้น “การจัดการแบบมีส่วนร่วม” จึงเป็นแนวทางการบริหารองค์กรที่ต้องคำนึกถึงให้มากที่สุด พนักงานทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเป้าหมายองค์กร และองค์กรจะต้องมีพันธกิจที่ชัดเจนไม่คลุมเครือ องค์กรจะต้องประเมินค่าตอบแทน การให้รางวัลต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม นอกจากนั้น พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการดูแลและได้รับการเคารพจากผู้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ การขึ้นเงินเดือนและเส้นทางความก้าวหน้า (career path) จะต้องถูกจัดการอย่างโปร่งใส (transparent) สำหรับพนักงานทุกคนอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรจะต้องเข้าใจว่า ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จใดๆ ทุกองค์กรจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ยืนหยุด และต้องผลิตความคิดสร้างสรรค์ (Creative ideas) ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรจะต้องเผชิญ
ที่สำคัญ...ความสำเร็จของสังคมย่อมเป็นผลมาจากความสำเร็จขององค์กรที่เป็นส่วนประกอบของสังคมอย่างเหมาะสม ซึ่งแน่ชัดว่า ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จของการสร้างชาติเป็นเงาตามตัว ดังนั้น องค์กรที่มีความก้าวหน้าในสังคมย่อมผูกโยงกับ “จริยธรรม” และ “ความตั้งใจจริงที่จะยกระดับคุณภาพ” และ “สวัสดิการสังคม” อย่างเป็นรูปธรรม เพราะภารกิจนี้คือสิ่งที่จะนำมาเป็นหลักการพื้นฐานต่อการสร้างคุณภาพองค์กรในที่สุด
(วัลลอฮุอะลัม วะอะอ์ลา วะอะฮ์กัม)
(หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียงจาก บทความชื่อ Criteria for Effective Organization โดย Datuk Nik Mustapha Nik Hassan ในหนังสือ Islamic Management for Excellence พิมพ์เมื่อปี 1998 โดย INMIND, Malaysia)