Skip to main content

รอซี ฮารี

เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดที่อังกฤษเมื่อสมาชิกสภาหญิงท่านหนึ่งจากพรรคแรงงานถูกยิงและกระหน่ำแทงจนเสียชีวิตขณะที่เธอกำลังเดินทางไปหอสมุดเบิร์สทอลในเขตลีดส์โดยที่พยานซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้ยินเสียงผู้ลงมือสังหารเธอตะโกนออกมาว่า “put Britain first”       

โจแอน ค๊อกซ์เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์สังกัดพรรคแรงงานจากเขตแบ็ทลี่แอนด์สเป็น หลังจากที่เธอได้คัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเมื่อปีที่แล้ว  เธอก็ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลักดันให้รัฐบาลของเดวิด คาเมร่อนเปิดกว้างในการรับผู้อพยพที่หนีการสู้รบจากซีเรีย                   

โจเกิดในปี ๑๙๗๔ ในเมืองแบ็ทลี่ในแคว้นเวสท์ยอร์กเช่อร์ แม่ของเธอเป็นเลขานุการโรงเรียน ส่วนพ่อเป็นเจ้าโรงงานยาสีฟันและสเปรย์ผม  เธอโดดเด่นในเรื่องกิจกรรมจนได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน หลังจากเรียนจบระดับมัธยม เธอก็เรียนต่อที่แคมบริดจ์ในคณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์  เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ   ค๊อกซ์ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกสภาของพรรคแรงงาน และต่อมา เธอได้ย้ายไปทำงานในกรุงบรัสเซลส์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ กลีนนี่ คินน๊อก ซึ่งเป็นสมาชิกสภารัฐสภายุโรปก่อนที่จะผันตัวเองทำงานด้านมนุษยธรรมและสังคมสงเคราะห์โดยร่วมงานกับองค์กร Oxfam ระหว่างปี ๒๐๐๑-๒๐๐๙

โจเป็นผู้หญิงที่เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่กลุ่มผู้หญิงและเด็ก ในปี ๒๐๐๙ เธอได้ร่วมงานกับ White Ribbon Alliance รณรงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและแอฟริกา เธอสร้างแนวร่วมเพื่อเรียกร้องผู้นำโลกให้หันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจังจนกระทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงได้รับการถกเถียงและถูกนำมาหยิบยกเป็นวาระสำคัญระดับโลก ผลงานที่เด่นของเธอคือการร่วมมือกับซาราห์ บราวน์ นักเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี นำเสนอปัญหานี้แก่สหประชาชาติ และส่งผลให้สหประชาชาติชาติภายใต้การนำของบัน คี มุน อนุมัติแคมเปน “ยุทธศาสตร์โลกเพื่อสุขภาวะแม่และเด็ก” ด้วยการจัดสรรรค์งบก้อนโตผ่านองค์การอนามัยโลก      

นอกเหนือจากการรณรงค์เพื่อให้สังคมให้ความสำคัญกับเด็กและสตรีแล้ว โจยังเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของอังกฤษในการร่วมแก้ปัญหาวิกฤติผู้อพยพ ด้วยความตระหนักของเธอในเรื่องมนุษยธรรมที่เธอสร้างสมผ่านการทำงานในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง เช่น ซูดาน ยูกันดา และอัฟกานิสถานในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาของอังกฤษ โจได้ทักท้วงรัฐบาลอังกฤษไม่ให้ส่งกองกำลังทหารในการโจมตีกลุ่มดาอิชในซีเรียเพราะเห็นว่าสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จะตกเป็นเหยื่อของการโจมตี เธอเคลื่อนไหวเพื่อให้อังกฤษรับผู้อพยพจากซีเรียและเรียกร้องให้อียูร่วมหามารตราการร่วมกันในการร่วมรับมือกับวิกฤติผู้อพยพ เธอให้เหตุผลว่า “งานที่ผ่านมาได้สร้างฐานให้แก่งานที่ดิฉันกำลังทำอยู่ ณ ตอนนี้ในเรื่องซีเรีย”

ในการกล่าวแถลงครั้งแรกของเธอต่อหน้าเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนหลังจากที่ได้รับคัดเลือก โจได้ย้ำถึงจุดยืนของเธอในการให้ความสำคัญต่อความหลากหลายของวัฒนธรรมโดยยกตัวอย่างชุมชนของเธอ โจได้กล่าวว่า “กลุ่มชาวผู้อพยพได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนของเรา ชุมชนของเราประกอบไปด้วยชาวไอริชคาทอลิก มุสลิมจากกุชจาราตของอินเดียหรือปากีสถานโดยเฉพาะอย่างจากแคชเมียร์ พวกเราภูมิใจในความหลากหลายของเรา สิ่งที่ทำให้ดิฉันประทับใจครั้งแล้วครั้งเล่าคือ เมื่อดิฉันเดินทางในย่านของเรา เรากลับพบว่า สิ่งที่เรามีเหมือนกันคือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในหมู่ของพวกเรามากกว่าความแตกแยก”

จุดยืนของโจอยู่คนละฝั่งกับกลุ่มพรรคที่มีแนวคิดออกไปทางขวาจัดที่ต่อต้านกลุ่มผู้อพยพและมีความระแวงต่อคนต่างถิ่นหรือซีโนโฟเบีย ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต โจอยู่ในช่วงจัดทำรายงานเสนอต่อสภาเกี่ยวกับสถานการณ์กระแสอิสลาโมโฟเบียและภัยอันตรายจากกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในอังกฤษ โจร่วมจัดทำรายงานชิ้นดังกล่าวซึ่งกำหนดเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ ๒๙ ที่กำลังจะมาถึงนี้ กับองค์กร เทลมามา (TellMAMA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเป็นหูเป็นตาและเก็บรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านมุสลิมในอังกฤษ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในปีทีผ่านมา ผู้อำนวยการขององค์กรแห่งนี้ระบุว่า แคว้นยอร์กเช่อมีสติถิเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านอิสลามมากที่สุดโดยเฉพาะในเขตเซาท์ยอร์กเช่อ

กระแสอิสลาโมโฟเบียในอังกฤษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ตามรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสลาม (IHRC) ซึ่งได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างมุสลิมในอังกฤษ ๑,๗๘๐ คนเกี่ยวกับการถูกปฏิบัติแบบมุ่งร้าย พบว่า ร้อยละ ๖๐ เคยประสบโดยตรงกับตัวเองหรือไม่ก็กับคนที่ตนรู้จัก ซึ่งสูงขึ้นกว่าหกปีก่อนที่ผลสำรวจอยู่ที่ร้อยละ ๔๐

อิสลาโมโฟเบียไม่ได้ทำให้เฉพาะมุสลิเท่านั้นตกเป็นเป้าการโจมตีและการถูกเลือกปฏิบัติ บุคคลที่ออกมารณรงค์หรือสนับสนุนพหุวัฒนธรรม ต่อต้านวาทกรรมชาตินิยมของกลุ่มขวาจัดก็พลอยตกเป็นเหยื่อได้เช่นกันอย่างกรณีของโจ ตามความเห็นของสามีของเธอ โจตกเป็นเป้าของการสังหารเพราะที่ผ่านมาเธอได้ทำงานอย่างหนักในการเรียกร้องให้ชาวอังกฤษผนึกมือกันต่อสู้กับกระแสการสร้างความเกลียดชังที่ถูกโหมกระพือโดยกลุ่มขวาจัดในอังกฤษที่ออกมาต่อต้านผู้อพยพหนีสงครามจากซีเรีย

ชาวอังกฤษที่สำนึกในความเท่าเทียมกันของมนุษย์และส่งเสริมคุณค่าของความหลากหลายได้สูญเสียบุคคลที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนชายขอบอย่างผู้อพยพ กองบรรณาธิการเดอะการ์เดียนของอังกฤษแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์อันเศร้าสลดครั้งนี้ว่าเป็นการโจมตี “มนุษยชาติ อุดมการณ์ และประชาธิปไตย”

 

ภาพจาก Telegraph.co.uk