Skip to main content

 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Abdullah Benyala

 

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เวลา 14.00 น. ที่ใต้ถุนอาคารคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ หรือ Permatamas ได้จัดการเสวนาสาธารณะ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” โดยมีนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วม

ทั้งนี้ในช่วงเช้า คณะผู้จัดงานได้รับการประสานจาก ม.อ.ปัตตานี ว่า ทาง รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีของมหาวิทยาลัย ขอร้องให้เลื่อนการจัดไปก่อน และเปลี่ยนชื่อการเสวนา ซึ่งมหาวิทยาลัยแจ้งให้ทราบว่ายังยินดีให้ใช้พื้นที่ทางวิชาการอยู่ เนื่องจากมีแรงกดดันมหาศาลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงที่ได้เข้าพบอธิการบดี ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ห้อง A310 ตามกำหนดเดิมได้ อย่างไรก็ตามทางคณะผู้จัดงานยืนยันจะจัดกิจกรรมนี้ โดยมีการเปลี่ยนสถานที่ไปจัดที่ลานชั้นใต้ถุนของอาคารแทน นอกจากนี้ ในระหว่างการจัดเสวนา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนอกเครื่องแบบร่วมสังเกตการณ์ตลอดกิจกรรม

นางอัญชนา หีมมีน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ 1 ใน 3 นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เเละความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ก่อนหน้าเจ้งความความดำเนินคดีจากทหาร กลุ่มด้วยใจมักจะถูกโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรงจากเพจเฟซบุ๊กต่าง ๆ และเมื่อเราเริ่มร้องเรียนการปฏิบัติการของทหารในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ก็มีการเข้าไปทำลายข้าวของในบ้านของชาวบ้าน จนไม่กล้าเข้าไปอาศัยในบ้าน ขณะที่มีการปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งแม้จะเข้าใจในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ แต่เห็นว่าเป็นการปฏิบัติเกินกว่าเหตุ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาเยี่ยมที่บ้าน 3-4 ครั้ง ซึ่งจะเจอแต่แม่ เพราะตนเองต้องไปทำงานตลอด ดังนั้นแม่จะเป็นคนที่เจอกับเจ้าหน้าที่อยู่ตลอด จนเกิดความเป็นห่วงความปลอดภัย และจะโทรติดตามทุกเย็นตามเพื่อให้รีบกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการคุกคามในความรู้สึกของเรา ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ก็ได้

นางอัญชนา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการถูกแจ้งความดำเนินคดีจากทหารเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงต้องการให้เราหยุดสื่อสารความเดือนร้อนของชาวบ้านเท่านั้น แต่ความต้องการหยุดการส่งเสียงของเอ็นจีโอ หยุดเสียงของประชาชนที่ร้องเรียนว่า ตนเองถูกละเมิดอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังทำให้ทุกคนเริ่มมีความหวาดกลัวว่า ถ้ามีการร้องเรียนอาจจะถูกดำเนินคดี จะมีความปลอดภัยหรือไม่ เพราะนักสิทธิมนุษยชนเปรียบเสมือนตัวแทนในการส่งเสียงของชาวบ้านยังถูกแจ้งความ แล้วเขาจะกล้าฝากความหวังไว้กับใคร ซึ่งการดำเนินคดีนี้คงต้องยอมรับให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ขอยืนยันว่าจะไม่หยุดส่งเสียงของประชาชนถึงปัญหาต่าง ๆ เพราะเราไม่ได้ต้องการการหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายคือการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งนี้

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 1 ใน 3 นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้ายื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เเละความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวว่า การฟ้องร้องคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนเป็นวิธีการคุกคามที่แยบยลมากกว่าวิธีการในอดีต ที่มักจะใช้วิธีการลอบสังหาร หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีนายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่หายไปตัวไป แต่วิธีการฟ้องร้องไม่ใช่วิธีการใหม่ เพราะประเทศไทยเคยมีการใช้กลไกนี้มานานแล้ว ที่เป็นการฟ้องแพ่งโดยบริษัทเอกชนในข้อหาหมิ่นประมาท เพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ของบริษัทและยับยั้งการการทำงานหรือการเปิดเผยข้อมูลโดยนักสิทธิมนุษยชน

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า ต่อมากลไกนี้ก้าวล้ำมาถึงการฟ้องเอาผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ จนมีการออกกฎหมายการป้องกันไม่ให้มีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมสาธารณะ เพราะถือเป็นการใช้ความรุนแรงทางกฎหมาย ที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชนต้องไปกังวลกับคดีความ และใช้เวลาในการต่อสู้คดี จนอาจทำให้ประเด็นปัญหาที่เรียกร้องไม่ถูกแก้ไข เช่น โรงไฟฟ้า เหมือง เป็นต้น ดังนั้นตนคิดว่า การใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการติดอาวุธ หรือการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามของนักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ดังนั้นเราทุกคนยืนยันว่า พวกเราเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช้ความรุนแรง การใช้ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้หลายวิธี การรายงานของเราที่อาจถูกมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงทำให้เสียชื่อเสียง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องแก้ไข และการฟ้องร้องคดีก็หวังว่าจะเป็นตัวอย่างของการทำงานของทุกคนด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้มีเวลาพูดคุยกับผู้ที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงนโยบายร่วมกันให้มากกว่านี้ เราคงจะไม่ต้องไปเจอกันที่โต๊ะพนักงานสอบสวน เราหวังว่าเราจะมีโอกาสพบปะพูดคุยกันมากกว่านี้

ด้านนายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อแกนนำชาวบ้านที่ถูกเฝ้าติดตามจากฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของชาวบ้านเทพานั้น เราเพียงตั้งคำถามถึงรัฐในฐานะที่รัฐเป็นตัวแทนของประชาชน แต่เราเป็นเจ้าของทรัพยากร จะถามกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า ทะเลที่เราอยู่ ที่ดินที่เราอยู่ หรืออากาศที่เราหายใจ ท่านจะเอาไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรกับชีวิตเรา เราตั้งคำถามเท่านี้มาสองปีแล้ว ก็ไม่ได้รับคำตอบ ถามตั้งแต่ระดับพื้นที่ อำเภอ จังหวัด กระทั่งนายกรัฐมนตรี เพราะเราเชื่อข้อมูลวิชาการที่ระบุว่า ไม่ใช่เฉพาะคนเทพาเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ในรัศมี 100 กิโลเมตรก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ขณะที่นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เป็นหนึ่งในรายชื่อแกนนำชาวบ้านที่ถูกเฝ้าติดตามจากฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ได้กระทบต่อพื้นที่เทพาเท่านั้น แต่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อห่างจากเทพาเพียง 5 กิโลเมตร แต่มีพรมแดนของจังหวัดกั้นไว้ แต่เหตุใดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาถึงถามเพียงชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาเท่านั้น และยังมีกระบวนการที่สกัดกั้นความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ทั้งที่เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอากาศหรือทะเลไม่มีพรมแดน

“ทั้งเรื่องถ่านหินและสิทธิมนุษยชนมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะสถาปนาสันติภาพให้เกิดในพื้นที่ และจะเกิดขึ้นไมได้ถ้าไม่ได้สถาปนาจากประชาชน ที่ยึดโยงกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีเรื่องราวมากมายที่ซ่อนอยู่ พี่น้องเทพาก็ไม่มีความปลอดภัยในการคัดค้านร้องโรงไฟฟ้าถ่านหิน พี่น้องปัตตานีก็ยังไม่มีความปลอดภัยจากความรุนแรง จึงถึงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมกันเป็นกระบอกเสียงให้สังคมเห็นความต้องการที่แท้จริง ที่พี่น้องปัตตานีและเทพาสามารถออกไปเรียกร้องร่วมกันได้ เพราะถือเป็นเรื่องเดียวกัน” นายตูแวดานียา กล่าว

ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น มีการอ่านแถลงการณ์ร่วมกัน ต่อกรณีการต้องเปลี่ยนสถานที่จัดเสวนา “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( permatamas ) ได้มีการจัดเสวนาสาธารณะ “สันติภาพจอมปลอม เมื่อรัฐคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิ” ซึ่งได้กำหนดสถานที่ไว้ที่ห้อง A310 คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี ในวันนี้ 21 มิถุนายน 2559 แต่มีแรงกดดันให้ต้องมีการเปลี่ยนสถานที่จัดการเสวนาสาธารณะนั้น ทางเครือข่ายเข้าใจดีถึงความลำบากใจของทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อแรงกดดันในการให้ใช้สถานที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยในการจัดเสวนาในประเด็นที่ร้อนแรงเช่นนี้ ทั้งนี้ทางเครือข่ายต้องขอขอบคุณคณะวิทยาการสื่อสารที่ได้ตอบรับยินดีให้ใช้ห้องประชุมของคณะในเบื้องต้น แม้ว่าในที่สุดจะไม่ได้ใช้จัดเสวนาก็ตาม

แถลงการณ์ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันเสรีภาพทางวิชาการไม่ให้ถูกคุกคามด้วยอำนาจสีดำ และเพื่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคม พื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังมีความสำคัญและเป็นพื้นที่กลางที่สำคัญที่สุดของชายแดนใต้ ทางเครือข่ายจึงได้ขยับมาจัดเสวนา ณ ลานใต้ร่มไม้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แห่งนี้ ทั้งนี้การคุกคามนักสิ่งแวดล้อมและการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายความมั่นคงนั้นมีอยู่จริง ดังในหลักฐานเอกสารมากมายที่ปรากฏทางสื่อ การเสวนาครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อมุ่งโจมตีภาครัฐ แต่เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจประเด็นและแสวงหาทางออกที่ควรจะเป็น แถลงการณ์ระบุว่า ในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระนั้น เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนชายแดนใต้ แทนที่ทางฝ่ายความมั่นคงจะยืนตรงกลาง จัดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้นำข้อมูลมาดีเบตถกเถียงกันอย่างเป็นวิชาการ (เพราะ กฟผ.กลัวแพ้ไม่ยอมดีเบตด้วย) การมากดดันและคุกคามฝ่ายคัดค้านด้วยอำนาจไม่ใช่ด้วยเหตุด้วยผล ย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม “ในกรณีของนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ท่านที่ถูกฝ่ายความมั่นคงฟ้องต่อศาลว่าด้วยการซ้อมทรมาน แทนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบเพื่อการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานอันเป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่ก่อให้เกิดความเคียดแค้นและนำไปสู่การเสริมพลังของฝ่ายขบวนการ แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับมุ่งกดดันให้หยุดพูด หยุดแฉด้วยการฟ้องคดี ซึ่งเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่ได้ช่วยสร้างสันติภาพแต่อย่างใด”ในแถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่า ทั้งสองกรณีคือภัยอันอาจแทรกซ้อนต่อการก้าวเดินสู่สันติภาพ ทางเครือข่ายไม่อยากเห็นสันติภาพที่หลายฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนมายาวนานเป็นเพียงวาทกรรมสันติภาพจอมปลอม เครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( permatamas ) จึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายความมั่นคง ให้หยุดการคุกคามต่อนักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิมนุษยชน การใช้เหตุผลแทนการใช้อำนาจเท่านั้น คือหนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง //////////

 

....ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13126