Skip to main content

 

บทเรียนและข้อเสนอจากงานพัฒนาของ ช.ช.ต.

 

 

ข้อสรุปในการนำเสนอประสบการณ์ บทเรียนและสังเคราะห์ ยกระดับสู่องค์ความรู้และข้อเสนอทางนโยบาย จาก เศรษฐกิจท้องถิ่น การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น แผนบูรณาการสู่ท้องถิ่น และกลั่นหัวใจสู่ชุมชนศานติ ในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ ปี 2559 สานภาคีพัฒนาสู่การสร้างสันติชายแดนใต้ : Building Trust and Fostering Peace เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2559

ห้อง เศรษฐกิจท้องถิ่น “ออมเงิน ออมใจ ฝากเงิน ฝากชีวิต : กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน” นำผลการศึกษาวิจัยการเข้าถึงแหล่งทุน กรณีตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ใน 3 หมู่บ้าน การให้ข้อแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ประเด็นสำคัญคือ ความสำคัญของการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นการสร้างวินัยการออม ช่วยเหลือคนยากจนและลดภาระครอบครัวด้านการเงินในยามฉุกเฉิน ลดภาระการซื้อเงินผ่อน มีผลตอบแทนสู่ชุมชน การดำเนินงานโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน มีสถาบันการเงินชุมชนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา การบริหารกลุ่ม การจัดทำบัญชี และความโปร่งใสในการบริหารจัดการ

โดยมีข้อสรุปว่า การตั้งกลุ่มต่างๆ ควรเป็นความต้องการของชุมชน และการมีส่วนร่วม กฎ ระเบียบของกลุ่มจะทำให้การดำเนินงานมีความชัดเจน และชำระหนี้ได้ตรงต่อเวลา การมีส่วนร่วมจะทำให้กลุ่มมีความยั่งยืน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะคือ กลุ่มควรมีการทำระบบข้อมูลการเงินและชี้แจงให้กับสมาชิกได้รับทราบ, โครงการช.ช.ต. ควรทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด และให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออม กลุ่มสหกรณ์เข้ามาให้ความรู้ หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่ม รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานในการบริหารจัดการ การจัดทำบัญชี

ห้อง การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เป็น “เรื่องเล่าประสบการณ์ วิถีคลอง วิถีชุมชน: ทำไมต้อง “กาเซะฮฺซูงา” จากตำบลปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนคลองปะเสยะวอ ด้วยการเป็นเมืองท่า สังคมพหุวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย สร้างกิจกรรมปลูกฝังให้เยาวชนรักคลอง ให้สำรวจ เรียนรู้ วาดภาพ สร้างความตระหนักจากคลองที่เสื่อมโทรม สร้างผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อทุกชีวิตในปะเสยะวอ สำคัญคือ ชุมชนต้องจัดการและฟื้นฟูคลองด้วยตนเอง

ประเด็นสำคัญที่ต้องทำโครงการนี้คือ เพื่อคนรุ่นหลังได้มีทรัพยากร มีพื้นที่ที่อยู่ได้ หากินได้ ในอนาคต ต้องดูแลทรัพยากรส่วนรวมและเรียนรู้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง สร้างการเรียนรู้แก่เยาวชน ปลูกฝังให้รักคลอง รักแม่น้ำ สร้างความตระหนักในการร่วมกันดูแลทรัพยากรของชุมชน

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการสนับสนุนความรู้ (เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย) ของหน่วยงานภาครัฐ, การติดตามผลกระทบของการขุดลอกคลอง (ทรายปิดกั้นทางน้ำ), จัดตั้งกองทุนเครือข่ายรักคลอง มีกติกาในการอยู่ร่วมกับคลอง, หลักสูตรท้องถิ่นสร้างการเรียนรู้ของเยาวชน,ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มมูลค่า เสริมรายได้แก่ชุมชน และการทำแผนร่วมกันในการพัฒนาและจัดการร่วม

สำหรับห้อง แผนบูรณาการสู่ท้องถิ่น “ประชาคม แผนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม สู่ข้อบัญญัติท้องถิ่น” มีการนำเสนอ กระบวนการทำแผนท้องถิ่นที่อยู่บนพื้นฐาน ความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างความร่วมมือต้องใช้กระบวนการและเครื่องมือที่เหมาะสม ระดม-วิเคราะห์ปัญหาความต้องการ จัดลำดับความสำคัญ และการตัดสินใจร่วม มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนถึง การทำแผนแบบมีส่วนร่วมของชุมชนสู่ข้อบัญญัติต้องมีการเตรียมความพร้อม การจัดทำ-วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสาร ความสอดคล้องกับระเบียบและกฎหมาย คณะทำงานและการติดตามประเมินผล สำหรับข้อเสนอแนะในห้องนี้คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการทำเวทีประชาคมสู่การทำแผนท้องถิ่น และการจัดทำข้อบัญญัติ การสร้างกระบวนการและกลไกจัดการความขัดแย้งโดยชุมชน