ทนายความคดีกอรมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องหมิ่นประมาท นักกิจกรรมสิทธิ 3 คน ยื่นหนังสือขอเลื่อนกำหนดนัดหมายเรียกผู้ต้องหาเป็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2559
2016_06_25_ใบแจ้งข่าว ขอเลื่อนนัดหมายเรียกผู้ต้องหา กรณีหมิ่นประมาท กอรมน. Thai & eng
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ใบแจ้งข่าว
เผยแพร่วันที่ 25 มิถุนายน 2559
ทนายความคดีกอรมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องหมิ่นประมาท นักกิจกรรมสิทธิ 3 คน
ยื่นหนังสือขอเลื่อนกำหนดนัดหมายเรียกผู้ต้องหาเป็น 26 กรกฎาคม 2559
ในวันที่ 26 มิถุนายน 2559 เวลา 13.00 น. นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีจะเดินทางที่สถานีตำรวจภูธรเมือง จ.ปัตตานีเพื่อไปยื่นหนังสือขอเลื่อนกำหนดนัดหมายเรียกผู้ต้องหา ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ( พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช) โดยอ้างถึง หมายเรียกผู้ต้องหา คดีอาญา สภ.เมืองปัตตานี ระหว่าง กองอำนายการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า กับ นายสมชาย หอมลออ กับพวก ฉบับลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559
ตามที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ( พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช ) ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาคดีอาญา ระหว่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผู้กล่าวหา กับ นายสมชาย หอมลออ กับพวก ผู้ต้องหาโดยให้ นายสมชาย หอมลออ, นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, นางสาวอัญชนา หีมมิหม๊ะ ผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหาความละเอียดตามหมายเรียก
เนื่องจากทนายความเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ต้องหาให้เป็นทนายความยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีโดยละเอียดครบถ้วน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยผู้ต้องหามีความประสงค์ที่จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับทนายความ โดยหากพนักงานสอบสวนประสงค์จะขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอสืบพยานล่วงหน้าก่อนฟ้อง ขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งกำหนดวันนัดสืบพยานล่วงหน้าก่อนฟ้องให้ทนายความทราบล่วงหน้าด้วย อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสามมีภูมิลำเนาต่างท้องที่คือสองรายมีภูมิลำเนาที่กรุงเทพ และอีกรายมีภูมิลำเนาที่ จ.สงขลา ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสามได้ต่อสู้คดีของผู้กล่าวหาได้อย่างเต็มที่ ทนายความจึงขอเลื่อนกำหนดนัดหมายเรียกผู้ต้องหาเป็นวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ โทร 081-8987408
ข้อมูลเบื้องต้นของคดี (ข้อมูลจาก https://www.amnesty.or.th/news/press/831) เอกสารแนบ
ข้อมูลเบื้องต้นของคดี (ข้อมูลจากhttps://www.amnesty.or.th/news/press/831)
นายสมชาย หอมลออ เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่วนนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนางสาวพรเพ็ญได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ด้วย โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้วที่กองทัพบกได้กล่าวหามูลนิธิผสานวัฒนธรรมในคดีหมิ่นประมาทจากการจัดทำรายงานการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายแก่ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย
ทันทีหลังจากทั้งสามองค์กร คือ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี กลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่รายงาน “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างปี 2557-2558” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โฆษกกองทัพบกก็กล่าวหาว่าพวกเขาปลอมแปลงข้อมูลรายงานการทรมานเพื่อขอทุนจากต่างชาติ และตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับขู่ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทหากมีการเผยแพร่รายงานที่อ้างถึงกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กอ.รมน. ภาค 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้แจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อนักปก้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ในฐานะที่เป็นกองบรรณาธิการรายงานฉบับดังกล่าว โดยระบุเหตุผลที่ต้องแจ้งความว่าการกล่าวหาในรายงานเป็นการทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก และที่ผ่านมานักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือกับทางการเมื่อมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่ถูกพูดถึงในรายงาน
ก่อนหน้านี้ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากกองทัพบกได้แจ้งความกล่าวหาทั้งคู่ว่ามีการกระทำที่ทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก จงใจบิดเบือนความจริง และเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ เนื่องจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 ซึ่งเรียกร้องให้ทางการสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อเดือนกันยายน 2558
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาททางอาญามากขึ้น จากการจัดกิจกรรมโดยสงบเพื่อปกป้องสิทธิและเรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้เสียหาย นอกจากนี้ ทางการมักบอกปัดอย่างรวดเร็วเมื่อมีข้อร้องเรียนและรายงานว่ามีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มุ่งโจมตีทางการให้เสียภาพลักษณ์หรือเพื่อประโยชน์คนบางคนเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ทางการยังขู่จะดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อบุคคลที่รายงานหรือกล่าวหาว่ามีการทรมาน หรือบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการ ทั้งที่เป็นการวิจารณ์จริงและที่ทางการมองว่าเป็นการวิจารณ์ด้วย
การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกระตุ้นให้รัฐต่างๆ พิจารณายกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทและเน้นย้ำว่าการจัดทำกฎหมายหมิ่นประมาทต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อประกันให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของตนและไม่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกเชิงปฏิบัติ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com