แถลงการณ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล 26 มิถุนายน คำชี้แจงเรื่องรายงานสถานการณ์การทรมาน ในจังหวัดชายแดนใต้
แถลงการณ์วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมาน 26 มิย 2559 final4
เผยแพร่วันที่ 26 มิถุนายน 2559
แถลงการณ์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เนื่องในวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล 26 มิถุนายน
คำชี้แจงเรื่องรายงานสถานการณ์การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้
ตามที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เปิดเผย “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558”โดยได้มีการจัดการเสวนาสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจรายงานข่าว รวมทั้งนำเสนอรายละเอียดเป็นจำนวนมาก และต่อมาได้มีแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เผยแพร่ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 และได้มีการจัดแถลงข่าวเผยแพร่ตามสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี (พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช ) ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาคดีอาญา ระหว่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ผู้กล่าวหา กับ นายสมชาย หอมลออ กับพวก ผู้ต้องหา โดยเรียกให้ นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมิหม๊ะ รวมสามคนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 มิถุนายน 2559 โดยตามหมายเรียกได้กล่าวหาว่า ผู้ต้องหาทั้งสามคนได้ “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสาร รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ.2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว๊ปไซด์ https://voicefromthais.wordpress.com และจัดพิมพ์แจกจ่ายให้คนทั่วไปทราบ”
วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล ทั้งนี้เพราะการทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญกรรมสากลที่ร้ายแรง โดยตามกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย การทรมานเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดไม่ว่าในสถานการณ์หรือด้วยเหตุผลใด ๆ แต่การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรียังคงเกิดขึ้นเป็นประจำในหลายประเทศ ดังนั้น การกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมาน นอกจากเป็นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนร่วมกันยุติการทรมานฯ ให้หมดสิ้นไปแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการช่วยเหลือผู้เสียหายให้รอดพ้นจากการทรมานและฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาคืนมาด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอสนับสนุนรัฐบาล ในการกำหนดนโยบายในการต่อต้านและป้องกันการทรมานฯ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ.1984 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยมีผลบังคับต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 และที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบใน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ…ซึ่งจะเป็นการกำหนดให้เกิดมาตรการทางกฎหมายอาญาที่เหมาะสมในการลงโทษผู้กระทำผิด และมาตรการป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งตำรวจและทหารก็ได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้ตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความพยายามทั้งปวงในการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์และการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรเครือข่าย พบว่าในทางปฏิบัติ ยังคงมีปัญหาและการร้องเรียนเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอยู่เป็นจำนวนมาก จนนำมาซึ่งการนำเสนอรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ต่อหน่วยงานของรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “การต่อต้านการทรมานเป็นหลักกฎหมายสากลและเป็นหลักการทางสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเห็นด้วยและเข้าเป็นรัฐภาคี หน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนบทบาทนักสิทธิมนุษยชนในการต่อต้านการทรมาน ประเทศไทยควรเร่งรัดในการออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ออกเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว และกำชับหน่วยงานทั้งเจ้าหน้าที่ในกำกับให้เอาจริงเอาจังในการต่อต้านการทรมาน”
“หากมีการนำคดีที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิและเครือข่ายในข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล มูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งสามและยืนยันความตั้งใจในการทำงานในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป” นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวเสริม
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯ 081-6424006
คำชี้แจงเบื้องต้น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอชี้แจงเบื้องต้นว่าการเผยแพร่รายงานจัดทำเป็นภาษาไทยและอังกฤษ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายความมั่นคง หากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันที เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ โดยในการจัดทำรายงานดังกล่าว มูลนิธิและองค์กรเครือข่าย ได้ดำเนินการดังนี้
- การตรวจสอบกรณีการทรมานฯ มีความยากลำบากในการหาพยานหลักฐาน ดังนั้นตั้งแต่ปี 2554 โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ( UN Voluntary Fund for Torture Victims) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี จึงได้ทำงานร่วมกันรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวโดยการเข้าถึงและสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานอย่างเป็นระบบ โดยรับฟังเรื่องราวผ่านการบอกเล่าของผู้เสียหายทั้งสิ้นกว่า 54 ราย ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในทางสากลในการตรวจสอบค้นหาความจริงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งรุนแรง
- การเก็บข้อมูลใช้แบบฟอร์ม 34 หน้า ที่มีมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยผู้สัมภาษณ์ได้รับการฝึกอบรมและทำความเข้าใจกับแบบฟอร์ม ในเรื่องกฎหมายและความเข้าใจเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อย่างน้อย 7 ครั้ง รวมทั้งความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์และสุขภาพจิตของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย
- ผู้สัมภาษณ์เป็นอาสาสมัครจากกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานทางสังคมในด้านอื่นๆ มาแล้ว และสามารถเข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ผู้เสียหายกล้าบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเมื่อตนถูกจับกุม ควบคุมตัว ซักถาม สอบสวน ถูกทำร้ายร่างกาย ทรมานหรือถูกปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการคุมขังในกรณีถูกดำเนินคดี ซึ่งหลายกรณีกว่าที่ผู้เสียหายจะกล้าที่จะเล่าและระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาพูดต่อหน้าบุคคลอื่นนั้นอาจใช้เวลานานเป็นปี เชื่อว่ามีผู้เสียหายจากการทรมานอีกหลายรายที่อาจจะยังไม่เคยเล่าหรือบอกเรื่องราวทั้งหมดหรือเพียงแค่บางส่วนแม้แต่กับครอบครัวของตนเอง แต่เรื่องราวความเลวร้ายทั้งหมดกลับยังวนเวียนอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จิตใต้สำนึก และเป็นบาดแผลและฝันร้ายของพวกเขาตลอดเวลา
- ในปี 2557-2558 คณะทำงานฯได้จัดเก็บข้อมูลคำบอกเล่า จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายทั้งสิ้น 54 กรณี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2558 จำนวน 15 กรณีและในปี 2557 จำนวน 17 กรณี อีก 22 กรณีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547-2556 รายงานสถานการณ์การทรมานจึงมีทั้งข้อมูลของเหตุการณ์ใหม่ในปี 2557 (24 เดือนที่ผ่านมา) และปี 2558 (12 เดือนที่ผ่านมา) ส่วนจำนวน 22 กรณีเป็นเหตุการณ์เก่าที่เกิดขึ้นในปี 2547-2556 ซึ่งยังไม่เคยมีการบันทึกคำบอกเล่า และผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและยังไม่มีการฟื้นฟูเยียวยาแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ทางกอ.รมน.จะอ้างว่า ในระยะที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่กรณีที่เกิดขึ้นในอดีตทั้ง 22 กรณีนั้น ก็ยังเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าสมควรที่ทางกอ.รมน.จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
- ก่อนหน้านี้ทางกอ.รมน. เคยได้รับข้อมูลของกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2555-2557 ที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดเก็บโดยการสัมภาษณ์โดยแบบวิธีเดียวกันได้ทั้งสิ้นจำนวน 92 กรณี และได้นำเสนอรายงานดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ โดยรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้เผยแพร่เป็นภาษาไทยต่อสาธารณะ แต่เสนอโดยตรงต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งองค์การสหประชาชาติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เมื่อเดือนเมษายน 2557 โดยทางองค์การสหประชาชาติเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเพื่อให้แก้ไข แต่ก็ยังไม่ส่งผลอย่างจริงจังในทางปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากมีผู้เสียหายยังร้องเรียนมากขึ้นในช่วงปี 2557-2558 รวมทั้งล่าสุดมีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
- แม้ว่าการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ จะเกิดขึ้นมากมายหลายกรณีตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีที่ทางมูลนิธิได้ส่งให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งองค์การสหประชาชาติจำนวน 92 กรณีเมื่อปีพ.ศ. 2557 ดังกล่าวแล้ว การตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยและกฎหมายโดยต้นสังกัดและหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมต่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดยังไม่เกิดขึ้นอย่างได้ผล
- มูลนิธิฯ มีประสบการณ์ว่า ผู้เสียหายจากการทรมานที่เคยร้องเรียน รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานขององค์กรเครือข่ายที่ตรวจสอบปัญหาหลายราย เคยถูกข่มขู่คุกคามและกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตลอดมา ดังนั้นการสืบสวนสอบสวนกรณีทรมานจะต้องดำเนินการโดยพลัน โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย มูลนิธิฯ จึงไม่สามารถที่จะเปิดเผยชื่อผู้เสียหายต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยปราศจากความยินยอมของผู้เสียหาย และโดยปราศจากหลักประกันอันน่าเชื่อถือได้ว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกข่มขู่คุกคามแต่อย่างใด เพราะการเปิดเผยนอกจากจะทำให้การตรวจสอบไร้ผลและเป็นภัยอันตรายต่อผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว ยังจะส่งผลให้ผู้เสียหายรายอื่นๆไม่กล้าร้องเรียนอีก
- นอกจากนี้แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยทำข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น
- เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีคำร้องที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกสม.ได้รับการร้องเรียนที่ขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซ้อมทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งกสม.เคยพิจารณาคำร้องจากประชาชนในพื้นที่จำนวน 33 คำร้อง โดยกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่กระทำทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ต่อผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมตัวเพื่อมุ่งประสงค์ทีจะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้น
- กสม.ได้เสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยในด้านกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น 1) รัฐต้องสร้างระบบและว่างมาตรการในการป้องกันการทรมานทุกขั้นตอน 2) มีการทำทะเบียนการตรวจบันทึกการตรวจร่างกายโดยแพทย์ 3) สร้างระบบให้โปร่งใสและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ 4) รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่คุมขังให้แยกต่างหากจากหน่วยงานที่ทำการจับกุม สอบสวนหรือซักถามต้องเป็นคนละหน่วยงาน และต้องกำหนดระยะเวลาการควบคุมตัวของแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน 5) นอกจากนี้กสม.ยังเสนอให้จัดให้มีคณะทำงานอิสระให้ทำหน้าที่ในการตรวจเยี่ยมสถานที่และผู้ถูกควบคุมตัวเป็นประจำ 6) ต้องปรับปรุงกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในเชิงด้านการข่าว การแสวงหาข้อมูล หรือการปรับทัศนคติโดยจะต้องกระทำโดยไม่สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง 7) ต้องดูแลผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่เมื่อมีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามและการควบคุมตัว โดยกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การซักถามผู้ต้องสงสัยเป็นไปตามหลักการสืบสวน สอบสวนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และ 8) เมื่อผู้ต้องสงสัยตามหมายเรียกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งทางราชการแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องลบชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากระบบฐานข้อมูลทางระเบียนว่าเป็นบุคคลถูกออกหมายเรียกที่ยังปรากฏอยู่ตามด่านตรวจต่างๆในพื้นที่ฯ
- ส่วนข้อเสนอด้านกระบวนการยุติธรรม กสม.ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนต้องดำเนินการสอบสวนข้อร้องเรียนโดยพลัน โดยเที่ยงธรรมและโปร่งใส และต้องกำหนดมาตรการในการคุ้มครองพยานปกป้องเหยื่อหรือญาติที่ร้องเรียนให้พ้นจากการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งควรมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับ กัก หรือควบคุมตัวที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาและมาตรฐานระหว่างประเทศ และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรมให้นำตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯมารายงานตัวต่อศาลทุกครั้งที่มีการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว
ในเรื่องดังกล่าว แม้คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติรับทราบแล้วและยังได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. รับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการได้หรือไม่ประการใดก่อน โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมผลการดำเนินการแล้วแจ้งต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ทราบต่อไปทั้งนี้ในทางปฏิบัติกลับไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. และมติ ครม. อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
เนื่องในโอกาสของวันที่ 26 มิถุนายน อันเป็นวันสนับสนุนผู้เสียหายจากกการทรมานสากล จึงขอชี้แจงว่าการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558 ก็เพื่อให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติในฐานะรัฐภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและเอื้อให้เกิดการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯ 081-6424006
เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com