แถลงการณ์
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพและภาคีร่วม
เรื่อง 26 มิถุนายน วันต่อต้านการทรมานสากล ประเทศไทยกับมาตรการป้องกันการทรมาน
สืบเนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันต่อต้านการทรมานสากล อนึ่งประเทศไทยนั้น เป็นภาคีกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550 ทว่าการทรมานยังคงมีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีการกระทำการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สู้รบจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเรื่อยมา
แม้ว่าจะมีการทำรายงานโดยกลุ่มภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนไปยังกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ จนหลายประเทศสมาชิกของสหประชาชาติให้การท้วงติงมายังประเทศไทยก็ตาม และจากรายงานที่น่าเชื่อถือได้นั้นสะท้อนว่า หลายครั้งของการซ้อมทรมานนั้น เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาเฉกเช่นที่ควรจะเป็น
สาเหตุหลักสำคัญที่ทำใหการปฏิบัติตามพันธะกรณีของประเทศไทยต่อสหประชาชาติ(UN)เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้นคือในระบบของกฎหมายไทยไม่รองรับปัญหาการซ้อมทรมานที่ได้เกิดขึ้นหรืออีกนัยยะหนึ่ง สามารถกล่าวได้ว่า คำว่า "การทรมาน" ไม่มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายไทย
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานกับสหประชาชาติ(UN)แล้วก็ตาม แต่ในระบบกฎหมายไทยกลับไม่มีการให้คำนิยามของการทรมานไว้ ซึ่งโดยสรุปแล้วสถานะของการทรมานในกฎหมายไทยนั้น ไม่เป็นความผิด กฎหมายอาญา จึงไม่สามารถจะเอาโทษกับผู้กระทำการทรมานผู้เสียหายได้
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นเหยื่อของการทรมานไม่ได้มีเพียงแค่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีเท่านั้น ยังมีผู้มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทรมานยังอีกมีหลายกลุ่ม เช่น ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่สภาพที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักตัวรวมกันไว้ในพื้นที่แคบๆ และประสบความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำสะอาดและอาหารก็อาจถือเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ในวาระโอกาสวันนี้ซึ่งเป็นวันต่อต้านการทรมานสากลนั้น ทางเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.)และองค์กรภาคี จึงขอเรียกร้องรัฐในฐานะผู้ที่จะต้องทำหน้าที่ให้การคุ้มครองชีวิตประชาชนให้กินดีอยู่ดีอย่างมีหลักประกันความสุขนั้น "ได้พิจารณาปัญหาการทรมานประชาชนสู่การได้บัญญัติกฎหมายที่สอดรับกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งทางประเทศไทยได้มีพันธกรณีจะต้องปฎิบัติตาม เพื่อที่ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการของมนุษยธรรมอย่างแท้จริงในเร็ววัน และไม่เป็นที่ท้วงติงของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ(UN)จนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในด้านมนุษยธรรมมีความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่"
ด้วยจิตรักสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) และภาคีร่วม
26/6/2559
หมายเหตุ หากบุคคลหรือองค์กรใดที่มีจิตร่วมจะแสดงเจตนารมณ์รักสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ตามเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เชิญลงชื่อร่วมได้ในท้ายจดหมาย ที่นี่
#StopTorture