Skip to main content

ผมเดินทางไปประเทศกัมพูชา ครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ไปในภารกิจสุนัตหมู่ที่หมู่บ้านนอกเขตกรุงพนมเปญ

สิ่งที่เจอได้มอบบทเรียนและความคิดสำคัญหลายอย่าง อยากเผยแพร่ให้ได้อ่านกันครับ (บันทึกเมื่อ 12/10/2015)

1. ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ได้ไม่ถึง 30 ปี ซึ่งจะนับอายุของการตั้งรัฐชาติแบบสมัยใหม่ที่มีความมั่นคง คงต้องเริ่มนับตั้งแต่ตอนสิ้นสุดสงคราม สงครามกลางเมืองคร่าชีวิตประชานชาวกัมพูชาถึง 2 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1/3 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ณ ขณะนั้น ความลำบากยากแค้นทั้งเรื่องจิตใจที่ต้องเจอกับสงคราม ทั้งเรื่องความต้องการพื้นฐาน พวกข้าวปลาอาหาร ยารักษาโรค ที่พัก ที่ไม่ได้รับการตอบสนองเลย ในช่วงสงคราม ทำให้โครงสร้างประเทศเสมือนเริ่มนับจากศูนย์ 
หลังสงครามคือช่วงของการเซ็ทระบบใหม่ ตั้งรัฐบาลใหม่ ฟื้นฟูบ้านเมืองทั้งทางโครงสร้างกายภาพ เช่นบ้านเรือน ถนน อาคาร พื้นที่ราชการ โครงสร้างระบบของหน่วยงานราชการ และโครงสร้างนามธรรม เช่น ทำลายความรู้สึกห่อเหี่ยว รวมใจคนในชาติ และสมานบาดแผลจากความแตกแยก

คุณพ่อของผมเดินทางเข้ากัมพูชาตั้งแต่ช่วงหลังจบสงคราม ไปในฐานะ NGO ที่เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สิ่งที่ท่านเห็นในวันแรกที่เข้าไปในกัมพูชา กับวันนี้ที่ได้ไปเยือนอีกครั้งคือการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร

2. กรุงพนมเปญ 
พนมเปญในช่วงหลังสงครามมีขนาดเท่ากับตัวอำเภอในบ้านเรา พื้นที่ริมแม่น้ำโขงมีแต่ป่ารกร้าง ปัจจุบันพนมเปญปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ มีตึกสูงมากกว่า 30 ชั้นเต็มไปหมด โรงแรม 5 ดาว เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำโขง ตลอดระยะทางหลายกม. บ้านช่องของผู้คนใหญ่โตเหมือนราชวัง โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ริมน้ำโขง

รถราในเมืองพนมเปญคือที่สุดของความโออ่า ผมคิดว่าน่าจะมีราคาเฉลี่ยสูงสุดในย่านอาเซี่ยน (ใช้ราคาซื้อขายในไทยเป็นตัวเทียบนะครับ) ผมไปเมืองหลวงของสิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพ เวียงจันทร์ พนมเปญ กล้าพูดเลยว่า ในรถสิบคันที่วิ่งบนท้องถนนของพนมเปญ ครึ่งหนึ่งขายในบ้านเราราคาเกิน 3 ล้าน ถ้าคนระดับกลางค่อนบนบ้านเราขับ แคมรี่ แอคคอร์ด เทียน่า คนพนมเปญขับ Lexus ทุกรุ่นที่เป็น SUV คนระดับสูงกว่านั้น ขับ Renge Rover, Land Rover, Porsche, BMW x5 
สาเหตุมาจากการเก็บภาษีค่อนข้างต่ำ ราคารถจึงถูกกว่าไทย 2-3 เท่า และถนนหนทางในบ้านเมืองจังหวัดอื่นๆยังไม่ดีนัก จึงต้องใช้รถประเภท SUV hi-lander กันเป็นหลัก รถเ๋งหรูๆหายากครับ 
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ การใช้รถของคนที่นี่ ใช้รถเครื่องใหญ่ 4000 cc ขึ้นไป ที่ใช้เชื้อเพลิงมาก สวนทางกับคนมีตังค์เมืองไทย ที่จะเน้นเรื่องรถประหยัดน้ำมันกัน

3. ภาพรวมของมุสลิมในกัมพูชา
มุสลิมในกัมพูชามีจำนวนประมาณหนึ่งล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% จากประชากร 15 ล้านคน มุสลิมเขมรมีสองกลุ่มใหญ่คือ จามมุสลิม และ มุสลิมที่ไม่ใช่จาม 
คนจามมุสลิม มีรากฐานเดิมจากอาณาจักรจาม ในอดีต ซึ่งครอบครุมพื้นที่ในเขตตอนใต้ของเวียดนามและกัมพูชา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แตกต่างจากวัฒนธรรมหลักของชาติ ภาษาจามลักษณะคล้ายกับภาษามลายูกลาง ถ้าคนพูดจามได้ จะสามารถสื่อสารกับคนพูดมลายูกลางได้ สำเนียงอาจต่างกันเล็กน้อย คนจามคือคนที่อพยพมาจากเกาะชวาของอินโดนีเซียปัจจุบัน เกาะกลุ่มและรักษาศาสนาและวัฒนธรรมเดิม แม้จะผ่านยุคสมัยของสงครามหลายครั้ง อยู่ภายใต้การปกครองของหลายอาณาจักร ตั้งแต่ภุกาม ฝรั่งเศส เขมรแดง และเวียดนาม แต่ก็ยังรักษาอัตลักณษ์ทางเชื้อชาติและศาสนาไว้ได้อย่างมั่นคง

ช่วงที่เขมรแดงซึ่งมีแนวคิดนิยมคอมมิวนิสต์ปกครอง มุสลิมในกัมพูชามีประมาณ หกแสนคน จากหกแสนคนนี้แบ่งเป็น สามกลุ่ม กลุ่มละสองแสนคน กลุ่มแรกโดนฆ่าตายเพราะเป็นมุสลิม คอมมิวนิสต์ไม่ชอบศาสนา จึงเลือกประหารผู้นำศาสนาก่อน ทั้งพุทธและมุสลิม สองแสนคนอพยพไปอยู่ต่างประเทศ และเหลืออีกสองแสนคนในประเทศ ช่วงที่เขมรแดงปกครองประเทศคือช่วงที่ยากลำบากที่สุดของมุสลิมในเขมร ไม่สามารถประกาศตนเป็นมุสลิมได้ ไม่มีศาสนสถาน เครือญาติ ครอบครัว ถูกทำลายจนหมดสิ้น ทรัพย์สมบัติถูกยึดเป็นของส่วนกลาง

นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของกัมพูชา ฮุน เซ็น พื้นเพดั้งเดิมเป็นคนจากจังหวัด Khampong Cham (จังหวัดของชาวจาม) ท่านเกิดในบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยมุสลิม มิตรสหายสำคัญๆในการทำสงครามช่วงแรกร่วมกับเขมรแดงต่อสู้กับนายพลลอล นอล ก็ล้วนเป็นมุสลิม มวลชนมุสลิมก็เป็นส่วนหนึ่งของทัพต่อต้านเขมรแดงในช่วงท้ายๆ ของสงครามกลางเมือง ด้วยเช่นกัน การร่วมเคียงกันต่อสู้และได้อำนาจมาด้วยกัน ทำให้มุสลิมในกัมพูชามีบทบาททางการเมืองในการสร้างชาติหลังสงคราม ในทุกรัฐบาล จะมีมุสลิมอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเสมอ

ปัจจุบัน ในครม. ของกัมพูชา มีรัฐมนตรีมุสลิม 3 ท่าน และปลัดกระทรวงอีกหลายท่าน ปัญญาชน นักธุรกิจ และคนชั้นนำในเมืองพนมเปญจำนวนมากเป็นมุสลิม

การรวมตัวกันของปัญญาชนมุสลิมในกัมพูชาเป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก องค์กรมุสลิมในประเทศ คุ้นเคยกับการทำงานระดับนานาชาติ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์จากหลายประเทศ การทำงานระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องทำให้ทรัพยากรมนุษย์ก้าวหน้าไปเร็วมาก นักทำงานแทบทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ และภาษาอาหรับเป็น option

หัวข้อสำคัญที่ได้เรียนรู้จากมุสลิมในกัมพูชาคือ การวางบทบาทของมุสลิมในประเทศที่มุสลิมเป็นชนส่วนน้อย ในสามประเทศอาเซียนตอนบน ไทย พม่า กัมพูชา ล้วนแล้วแต่มีมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อยของทุกประเทศ 
ปัญหาพื้นฐานคือ ศาสนา และ ชาติพันธ์ุ ที่แตกต่างกัน มุสลิมทั้งสามประเทศล้วนเคยมีประวัติศาสตร์ของตนเอง มีอาณาจักร มีดินแดนเป็นของตนเอง อารากันในพม่า ปาตานีในไทย และ จามในกัมพูชาและเวียดนาม

ผมขอเว้นการเปรียบเทียบกับไทยไว้ก่อน เนืองจากสถานะทางการต่อสู้หลายอย่างไม่เหมือนกับสองประเทศ

พม่ากับกัมพูชา เริ่มต้นตั้งไข่ประเทศพร้อมๆกัน เป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมในเวลาใกล้เคียงกัน และเผชิญหน้ากับความวุ่นวายกับปัญหาการเมืองภายในประเทศไม่ต่างกัน จนได้รัฐบาลที่มั่นคงเกือบจะพร้อมๆกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาในปัจจุบัน แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับมุสลิมในพม่าอย่างสิ้นเชิง

ชาวอารกัน หรือโรฮิงญา นั้นวางตัวตรงข้ามกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศ ไม่ยอมรับการเป็นพลเมืองพม่า ต่อสู้ทั้งทางเมืองและการใช้อาวุธมาตลอดระยะเวลาหลายปี 
ซึ่งทางรัฐบาลพม่าก็ตอบโต้ด้วยการ ไม่ให้สิทธิพื้นฐานการเป็นพลเมือง ตั้งแต่การศึกษา การเลือกตั้ง การทำธุรกิจ การครองครองทรัพย์สิน โดดเดี่ยวชาวโรฮิงญาจากโลกภายนอก 
จากปัญหาของโรฮิงญา จึงนำมาซึ่งปัญหาของมุสลิมในส่วนอื่นๆของประเทศ ความหวาดระแวง และอคติทางศาสนาจึงถูกปลูกฝังได้ง่ายขึ้น มุสลิมในร่างกุ้งซึ่งเคยครอบครองเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน มิพักต้องพูดถึงบทบาททางการเมืองของปัญญาชนมุสลิม ซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียงในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของมุสลิมในประเทศเสียด้วยซ้ำ

เรื่องเช่นนี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี ถึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ต่างกัน ซึ่งการมองภาพรวมจากประวัติศาสตร์แล้ว อาจไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ในจุดเริ่มต้น

4.พื้นที่ชนบท
พื้นที่ผมไปทำกิจกรรม ห่างจากตัวเมืองพนมเปญไปเพียง 60 กม. แต่คณะของเราต้องใช้เวลาเดินทางถึง 2.30 ชม. ออกจากพนมเปญ 30 กม. ก็เป็นเขตยากจนแล้ว หมู่บ้านที่ผมไป เป็นหมู่บ้านเลียบลำน้ำโขง ห่างจากประเทศเวียดนามเพียง 15 กม. 
ผู้คนในหมู่บ้านยังอยู่ในสภาพยากจน เด็กที่มาร่วมทำสุนัต ไม่สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าเป็นเรื่องปกติ เด็กร่วม 200 คนที่มาร่วม ไม่มีเด็กอ้วนสักคนเดียว ถ้าจับเด็กทุกคนมาวัด Growth curve ตก Curve ทุกคนแน่นอน 
ปัญหาสุขภาพอื่นๆไม่ต้องพูดถึง เลือดออกง่าย หยุดยาก โรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ สุขภาพช่องปาก ทั้งหมดทั้งหลายนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลือ่มล้ำระหว่างคนในพนมเปญและคนรอบนอก แม้จะอยู่ห่างจากพนมเปญไม่ไกลมาก แต่ความเจริญที่จะฉุดชาวบ้านให้พ้นจากความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ก็ยังเข้าไม่ถึง 
ไม่แปลกใจที่เมื่อมีกลุ่มที่มาให้บริการเช่นนี้มา จะมีการแย่งกัน พอจะเห็นความไม่เป็นระเบียบบ้าง

5. IMAC student
สิ่งที่ประทับใจมากอีกประการหนึ่งคือ การสร้างจิตอาสาของกลุ่มนักศึกษาการแพทย์และสาธารณสุข ปัญญาชนรุ่นแรกที่มาทำงานให้ IMAC ปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มาจากครอบครัวคนยากจนในอดีต คุณพ่อของผมซึ่งเข้าไปในกัมพูชายุคแรก เจาะกลุ่มไปยังนักศึกษามุสลิม คนเหล่านี้แม้ครอบครัวยากจนแต่รักการเรียน สอบได้ทุนเรียนกันหมด แต่ไม่มีเงินพอสำหรับค่าพที่พักและอาหาร คุณพ่อผมจึงจัดตั้ง Student Training Education Center (STEC) เป็นหอพัก ดูแลค่าเช่าและอาหารให้ จัดตั้งระบบพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ตามวิถีอิสลาม จนปัจจุบัน คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จแทบทั้งสิ้น

คนรุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว ก็ไม่ทิ้งให้คนรุ่นหลังที่ตามมาโดดเดี่ยว สิ่งที่ผมเห็นคือความใกล้ชิดของคนรุ่นอายุ 30-40 กับ นักศึกษาที่อายุต่ำว่า 25 นักศึกษาแพทย์ พยาบาล เหล่านี้มีจิตอาสาสูงมาก ทุกวันหยุด พวกเขาจะนั่งรถตู้ตระเวณไปตามพื้นที่ต่างๆ ออกตรวจเป็น mobile clinic บ้าง ทำสุนัตหมู่บ้าง ทำกิจกรรมเช่นนี้แทบตลอดทั้งปี

รอบที่ผมไป คนที่พอเด็กออกพื้นที่คือ Dr.Sann Sabei ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข นั่งรถตู้เดินทางไปพร้อมกับนักศึกษา

ในประเทศกัมพูชา หน้าที่ของแพทย์ยังไม่ม่งเน้นไปที่งานวิจัย ปัจจุบันคือการกระชากลากดึง ประชาชนส่วนมากที่อยู่รอบนอกเมืองใหญ่ ให้พ้นจากความจำเป็นทางสาธารณสุขพื้นฐานเสียก่อน งานประเทภนี้ต้องใช้ความเสียสละสูง คนเหล่านี้มาจากครอบครัวชนชั้นล่าง พวกเขาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการศึกษานั้นเปลี่ยนแปลงพวกเขาเช่นไร พวกเขาจึงทำเช่นเดียวกันกับคนอีกหลายๆคนในประเทศ

6. วิถีชีวิตคนพนมเปญ
อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่าคนในพนมเปญนั้นรวยมาก บ้านช่องรถราใหญ่โต หรูหรา ผมขอเพิ่มเติมเรื่องรถอีกสักนิดครับ กัมพูชาเป้นประเทศที่ขับรถพวงมาลัยซ้าย เช่นเดียวกับอเมริกา รถจากกัมพูชาจึงเป้นรถที่ผลิตจากฐานเดียวกันกับที่ส่งไปในยุโรปและอเมริกา รสนิยมการใช้รถของชาวอเมริกันนั้น เค้าใช้คำว่า American Muscle คือให้รถมันบึบบับ คันใหญ่ๆ แรงม้าเยอะๆ แน่นอนว่าขนาดเครื่องยนต์เป็นไซส์เดียวกับที่บ้านเราใส่ในรถสิบล้อ 
คนกัมพูชาถ้าขับรถกระบะ ไม่มีว่าจะใช้วีโก้ ดีแมกซืนะครับ ถ้าใช้ Toyota ก็ต้องเป็นรุ่น Tundra ขนาด 4700 cc ซึ่งขายบ้านเราคันละ 5 ล้านกว่าบาท (ลองเสริชหารูปในกูเกิลดูเองนะครับ ว่ารถมันสวยขนาดไหน) ไม่อย่างนั้นก็ใช้กระบะ General Motor ซึ่งขนาดเครื่องยนต์ไม่แตกต่างกัน

การจราจรในพนมเปญ แตกต่างกับกทม.ครับ ที่นั่นรถเยอะ มอเตอร์ไซค์เยอะมากครับ แต่รถไม่ติดจะใหลเรื่อยๆ ที่นั่นไฟแดงมีน้อยมากครับ รถเลยไม่มีจังหวะหยุดเลย ระเบียบวินัยจราจรเลยหายากหน่อย เวลาวิ่งๆอยู่ในเลนของเรา สักพักจะมีรถฝั่งตรงข้ามวิ่งย้อนศรมา แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่นี่มีความอดกลั้นเรื่องการใช้ถนนสูง แม้ว่าจะมีคนทำผิดกฏระเบียบ แต่ไม่มีการบีบแตร หรืออารมขุ่นมัวระหว่างการใช้ถนนให้เห็นเลย คนข้ามถนนไม่ต้องระวังรถครับ แม้จะจะวิ่งเต็มท้องถนนก็สามารถหลับตาข้ามถนนได้เลย รถบนถนนจะระวังคุณเองครับ 
ฟุตบาทในชม.เร่งด่วน จะกลายเป็นเลนมอเตอร์ไซค์โดยอัตโนมัติ และคนพนมเปญจะจอดทีก็จอดบนฟุตบาทครับ

คนพนมเปญ ยังเป็นคนมีน้ำใจงามครับ ถึงหน้าตาจะยิ้มน้อย แต่ถ้าขอช่วยอะไรก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่ ธุรกิจบริการนักท่องเที่ยวก็แทบไม่ต้องระวังมิจฉาชีพ ไม่ต้องกลัวโดนโกงครับ เพราะเขาจะให้ราคาที่เป็นธรรมแล้วครับ

7. การลงทุน กัมพูชาพัฒนาประเทศจากการเปิดโอกาสให้ต่างชาติลงทุน แน่นอนว่าเมื่อเปิดประเทศให้ทุนเข้ามาโดยง่ายแล้ว ประเทศก็จะได้รับอิทธิพลของทุนนิยมเข้ามาเสมอครับ 
ธุรกิจที่ให้บริการโดยเอกชนมีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะธุรกิจในเชิงระบบและโครงสร้าง ตอนนี้โรงแรมห้าดาวทั้งหลาย เป็นเงินที่มาจากนักลงทุน ทั้งจากไทย มาเลย์ สิงคโปร์ เต็มไปหมด 
เครือข่ายโทรคมนาคมที่ให้บริการโดยเอกชนรุดหน้าไปเร็วมาก เนื่องจากเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศ อินเตอร์เน็ตราคาถูกกว่าเมืองไทยเยอะเลยครับ ผมซื้อเน็ต 4G ในราคาเพียง GB ละ 1 USD เท่านั้นครับ สามารถซื้อได้ที่สนามบินเลยครับ คลื่น 3G 4G เข้าถึงทุกพื้นที่ในประเทศครับ อินเตอร์เน้ตบ้านก็เร็วดีครับ ไม่มีสะดุด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเปิดประเทศให้เป็นทุนนิยมเสรีแล้ว สภาพของผู้คนในประเทศก็จะมอมเมาในรสของทุนครับ อย่างที่ผมเห็นนอกจากคนรวยในประเทศจะแสดงรสนิยมที่โอ้อวดและสิ้นเปลืองกันแล้ว คนจากระดับล่างก็พยายามอย่างเต็มที่จะครอบครองวัตถุให้เท่ากับคนอื่นๆ ในกรุงพนมเปญจะเห็นสาวๆ Hooker หรือหญิงขายบริการทางเพศ ที่ยืนหาผู้ซื้อบริการข้างถนนตามแหล่งท่องเที่ยวอยู่พอสมควร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ และมลพิษทางจริยธรรมของทุนนิยมครับ

ทุนนิยมเสรี ทำให้พนมเปญจะกลายเป็นศูนย์กลางของการพนันในภูมิภาคอาเซียนในไม่ช้าครับ เพราะเอกชนที่มาทุ่มเงินสร้างโรงแรมกาสิโนนั้นเริ่มมีเยอะมากขึ้น ที่กำลังก่อสร้างเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายแห่งเลยครับ มีมีกาสิโนอยู่ด้วย อนาคตข้างหน้า อาจไม่ต้องไปไกลถึงมาเก๊าก็ได้ครับ ถ้าพนมเปญมีทุกอย่าง

8. โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
กัมพูชามีความมั่นคงทางการเมืองสูงมาก พรรค PCP ของฮุน เซ็น อยู่ในตำแหน่งรัฐบาลมาถึง 30 ปี ไม่มีการเปลีย่นแปลง และคงเป็นเช่นนี้อีกนานพอสมควร ถึงแม้โครงสร้างทางกายภาพของประเทศจะยังไม่ดีมาก แต่ดูจากแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว คิดว่าคงจะพัฒนาได้เร็วในช่วง 10-20 ปีหลังจากนี้ อสังหาในตัวเมืองพนมเปญราคาเทียบเท่าที่ดินทำเลรองๆในกรุงเทพ ในย่านใจกลางเมืองพนมเปญ ราคาเริ่มต้นที่ 3,000-5,000 USD/ตร.ม (172-288 ล้านบาท/ไร่) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขพพื้นที่กำลังพัฒนาอื่นๆจะทยอยมีสิ่งปลูกสร้างขึ้น และจะนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศด้วยเช่นกันครับ

การควบคุมอำนาจทางการเมืองเบ็ดเสร็จของรัฐบาล ทำให้ธุรกิจทั้งหลายก็อยู่ในการดูแลของคนที่ใกล้ชิดรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรวยจำนวนมากจะกระจุกอยู่ในคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นครับ

ถึงแม้ถนนหนทางในหลายๆจะยังไม่พัฒนาดีมากนัก แต่ดูแล้วหากพัฒนาเต็มที่ จะมีพื้นที่ให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ภูิมศาสตร์ของประเทศที่อุดมไปด้วยแหล่งน้ำ แม่น้ำ ทำให้ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่เลียบริมน้ำ จะทำให้ขยายเขตอุตสาหกรรมริมน้ำมากขึ้น ปัจจุบันประชาชนชาวกัมพูชา 80% ทำอาชีพการเกษตร แต่มีรายได้น้อยมาก เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีในการผลิตยังมีน้อย และช่องทางการแปรรูปและการขายออกนอนกประเทศยังไม่เยอะมากนัก แต่หากรัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำถนนหนทางให้ดี ให้ขนส่งสินค้ากันง่ายขึ้น กระจายความเจริญสู่เมืองอื่นๆ และนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตให้ผลิตและรักษาคุณภาพได้มากขึ้น น่าจะทำให้ประชาชนพ้นความยากจนได้มากกว่าเดิมครับ