สะรอนี ดือเระ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ในวาระแห่งเดือนอันประเสริฐ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้สัมภาษณ์พิเศษนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีในประเด็นกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานกรรมการอิสลามในเดือนรอมฎอนพร้อมทั้งสะท้อนแง่มุมทางสังคมในฐานะผู้นำศาสนาในพื้นที่และมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีภารกิจหรือภาระรับผิดชอบในเดือนรอมฎอน ที่แตกต่างอย่างไรบ้าง
ในช่วงเดือนรอมฎอนส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามก็จะลดเวลาของการทำงานประจำวันลงก็คือ เริ่มเวลา 10.00 น. และเลิกงานเวลา 14.00 น. อันนี้เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด ส่วนตัวบาบอเองที่ถือเป็นภารกิจเฉพาะของประธานคือ ต้องลงพื้นที่ร่วมพิธีละศีลอดร่วมกับชุมชนเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการซึ่งต้องไปแทบทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าไปไม่ได้จริงๆ ในกรณีมีงานซ้อนกันก็ต้องมีตัวแทนจากกรรมการอิสลามท่านอื่นไปแทน
อีกส่วนหนึ่งที่ทำคือการทำรายการวิทยุ Suara Majlis ซึ่งเป็นรายการวิทยุรอมฎอนที่มีออกอากาศทุกวัน ส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบและบริหารจัดการของรองประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ คือ ดร.กาแมล ซึ่งมีออกอากาศทุกวันจนกระทั่งสิ้นสุดรอมฎอน
ภารกิจอื่นไม่มี เพาระบาบอไม่ส่งเสริมการจัดกิจกรรมในเดือนรอมฎอน อย่างการจัดงานละศีลอดของกรรมการอิสลามจะไม่มี จะไม่ส่งเสริมงานเช่นนั้นที่ต้องเชิญอีหม่ามจากที่ไกลๆ มาร่วมงาน แต่ก็มีหน่วยงานอื่นที่มาขอใช้พื้นที่ของสำนักงานกรรมการอิสลามจัดงานละศีลอดบ้าง เช่น เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมามีก็มีงานรอมฎอนสันติภาพที่การบรรยายในหัวข้อสร้างสันติภาพสู่อาเซียนซึ่งบาบอเองก็มาร่วมงานด้วย
จริงๆ แล้วตั้งแต่ก่อนรอมฎอนที่กรรมการอิสลามได้ปลุกสำนึกสร้างกำลังใจในการเข้าสู่รอมฎอนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น คุตบะห์วันศุกร์เกี่ยวกับความประเสริฐของรอมฎอนผ่านชมรมอีหม่ามในจังหวัด
กิจกรรมด้านสาธารณกุศลของกรรมการอิสลามมีอะไรบ้าง
บาบอได้รับการประสานจากผู้บัญชาการเรือนจำปัตตานีและจะไปมอบผ้าโสร่งสำหรับผู้ต้องขังที่ต้องการผ้าสำหรับละหมาดตะรอเวียะห์ ซึ่งเมื่อได้ประกาศทางรายการวิทยุเพียงครั้งเดียวก็ได้มีของจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านมาให้แล้ว 100 ผืนรวมกับคนอื่นๆ ที่ร่วมบริจาครวมเป็น 170 ผืนพร้อมกับอินทผลัมและอาหารอื่นๆ อันนี้เพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับความประเสริฐของรอมฎอนเท่าๆ กับคนที่อยู่ข้างนอก ขณะนี้เท่าที่ทราบมีมุสลิมเรือนจำกว่า 800 คน อันนี้เป็นกิจกรรมที่ทำทุกปีและได้รบการสนับสนุนจากองค์กรหลายองค์กรทั้งสมาคม อบจ. สมาคม อบต. สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมอีหม่ามที่มีคณะกรรมการอิสลามเป็นศูนย์กลางประสานงาน
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากหลายๆ องค์กรในพื้นที่ที่มาร่วมงานกับกรรกมารอิสลามมีความเป็นมาอย่างไร
เกิดจากการร้องเรียนเรื่องของพฤติกรรมเยาวชนที่มั่วสุมเช่าหอพักอยู่ร่วมกันหญิงชายเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้มีการควบคุม อยู่กันอย่างเป็นอิสระ เป็นเยาวชนอายุ 18 ลงมา มีทั้งนักเรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก็มีหรือระดับมหาวิทยาลัยก็มี
จากการร้องเรียนเรื่องนี้คนที่มีสำนึกดีเขาทนดูไม่ได้ จึงมีการร้องเรียนถึง อบจ. อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือร้องเรียนมาที่คณะกรรมการอิสลามเอง เรียกร้องว่าต้องมีใครที่จะมาแก้ปัญหากวาดล้างสิ่งเหล่านี้ ซึ่งก็ได้เกิดความร่วมมือต้องการแก้ปัญหาร่วมกันในครั้งแรกของ 5 องค์กร เมื่อเริ่มมีการพูดคุยกันก็เพิ่มเป็น 10 องค์กร คณะนี้มี 15 องค์กรที่จะร่วมกันแก้ปัญหานี้ เป็นองค์กรเอกชนทั้งหมดทั้งสมาคม อบจ. สมาคม อบต. ชมรมอีหม่าม ชมรมตาดีกา Pustaka สมาคมโรงเรียนเอกชน สมาคมของ สปฐ. กลุ่มสตรี โดยขณะนี้กำลังร่างระเบียบเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรและมีกองทุนเพราะงานเช่นนี้ต้องมีงบประมาณบ้างในการดำเนินการ
องค์กรที่จะจัดตั้งนี้จัดเป็นฮูกมปากัต เป็นความร่วมมือโดยเอาฝ่ายความมั่นคงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นมุสลิมมาเป็นที่ปรึกษา โดยจะตั้งเป็นสมาคมคุ้มครองเยาวชนปัตตานี ในตอนนี้คนที่ให้การสนับสนุนหลักคือนายกอบจ. นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี สนับสนุนเรื่องการจัดการในการร่างระเบียบต่างๆ เพื่อก่อตั้งสมาคมที่ต้องมีงบประมาณการใช้ห้องประชุม ค่าอาหารต่างๆ
จริงๆ เรื่องนี้ทางรัฐบาลหรือหน่วยราชการก็ทำอยู่แต่ไม่ต่อเนื่อง เพราะทำตามโครงการ เมื่อหมดโครงการหมดงบประมาณก็หยุด ซึ่งเรื่องนี้ต้อทำอย่างต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็มีความรู้สึกร่วมที่ได้เห็น 15 องค์กรในพื้นที่สามารถร่วมมือกันและต้องการมาสนับสนุนงานนี้ โดยเจ้าหน้าที่เริ่มลงพื้นที่ไปสำรวจแล้ว ไปตรวจพื้นที่ที่มีการร้องเรียน เช่น ผู้ประกอบการหอพัก โรงแรม ไปให้นโยบายและคำเตือนว่าถ้ายังมีเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปีมาเช่าอยู่แบบผิดหลักศาสนาก็จะมีมาตรการลงโทษ จะเห็นได้ว่าแม้ว่ากฎ ระเบียบการก่อตั้งสมาคมยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่เขาไปทำแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาจริงจัง จึงเป็นที่มาของการตั้งเป็นที่ปรึกษา คือ ในเมื่อเราไม่มีอำนาจ เราก็ใช้ฝ่ายที่มีอำนาจมาจัดการเรื่องนี้
ขณะนี้การร้องเรียนในเรื่องนี้มีมากน้อยแค่ไหน
มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากถึงวันละ 100 กว่ากรณี บางกรณีก็ต้องจับให้แต่งงานกันก็มีแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่ผิดต่อพระเจ้าด้วย เมื่อเรามีอำนาจ มีความรับผิดชอบจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ เมื่อกฎระเบียบข้อบังคับของสมาคมผ่านการรับรองแล้วเราจะจัดการเสวนาโดยเชิญผู้ปกครอง โรงเรียนเอกชนต่างๆ เข้าร่วมเพื่อทำความเข้าใจในภารกิจของสมาคม แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา
ภารกิจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรในพื้นที่ภายใต้การนำของคณะกรรมการอิสลามครั้งนี้
กรรมการอิสลามมีแนวคิดที่จะทำกองทุนฮัจย์ที่เป็นการชี้แนะโดยสำนักจุฬาราชมนตรี จะเป็นกองทุนที่จะมีการปันผลกำไรด้วย อันนี้ก็มาจากการรวมกันของ 15 องค์กรที่จะมาระดมทุนเพื่อกองทุนนี้จะได้ใช้ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้าหรือการช่วยเหลือกรณีมีภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าองค์กรของพวกเราเป็นองค์กรมือบนที่ไม่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากที่อื่น
วันนี้เราต้องมีการรวมตัวกันไม่ว่าองค์กรท้องที่ ท้องถิ่นไหนก็ตามเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว ตอนนี้มีมติให้บาบอเป็นประธานชั่วคราวก่อน หลังจากนั้นค่อยเลือกคนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ ต้องมีคนทำงานในฝ่ายต่างๆ ต่อไป ขณะนี้จะเห็นว่าองค์กรที่เป็นสมาคมของกำนันผู้ใหญ่บ้านมีความตื่นตัวมาก ทำให้บาบอรู้สึกว่าภาระที่เคยหนักหนาลดลงไปเยอะ เพราะคนในองค์กรเหล่านี้พูดน้อยแต่ทำมาก เมื่อก่อนที่ทำงานกับองค์กรศาสนาอย่างเดียวรู้สึกจะเป็นภาระหนักมาก แต่กับองค์กรเหล่านี้จะง่ายกว่ามาก พูดวันนี้ พรุ่งนี้ได้ รวดเร็วและพวกเขามีสำนึกในงานช่วยเหลือสังคมสูง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น ตอนนี้สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านปัตตานีมีกองทุนสวัสดิการสมาชิกที่เสียชีวิตเขาสามารถให้ได้ถึง 200,000 บาท โดยเริ่มจาก 10,000 บาท และปรับขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นยอดในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นการเก็บจากสมาชิก 20 บาทต่อกรณีเสียชีวิตหนึ่งคน ในขณะที่ของชมรมอีหม่ามสามารถให้ได้ประมาณ 4 ถึง 5 พันบาทเท่านั้น
ยังมีอีกเยอะที่ต้องคิดต้องทำในอนาคต พวกเราถดถอยเยอะทั้งๆ ที่เรามีจำนวนมาก มีเครือข่ายมาก แต่ต่างตนต่างอยู่แบบจะอยู่ก็ลำบาก จะตายก็กลัว การทำงานของพวกเราก็เป็นการทำงานเชิงรับไม่ใช่เชิงรุก เราต้องเปลี่ยนมาทำงานเชิงรุก และต้องใช้ภาครัฐมาทำงานกับเราด้วยซึ่งขณะนี้ก็เป็นทหารก็ต้องให้มาอยู่กับเราด้วย เราทำงานฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เราเป็นองค์กรศาสนาก็ต้องเป็นฝ่ายชี้แนะ แนะนำ วันนี้ทุกฝ่ายอยากมาอยู่กับกรรมการอิสลาม แต่ถ้ากรรมการอิสลามช้า ไม่ทันการณ์ ก็จะมีปัญหามาก
เรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มที่เห็นต่าง ได้มีการติดตามหรือไม่ และหากสามารถที่จะส่งเสียงสู่กระบวนการพูดคุยได้ จะสื่ออะไร และในฐานะประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างไร
เรื่องการพูดคุยสันติภาพ ก็ต้องขอให้ทั้งสองฝ่ายหาหนทางร่วมกัน ซึ่งจริงๆ แล้วการที่มีการพูดคุยกันก็แสดงให้เห็นว่าเราก็ถึงเป้าหมายแล้วที่ไม่ต้องการให้มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สินซึ่งก็ต้องใช้แนวทางนี้
แต่อย่างไรก็ตาม บาบอรู้สึกว่าวันนี้แต่ละฝ่ายมุ่งเอาเปรียบเกินไป คือจะต้องหาข้อมูลให้มากกว่านี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความพอใจกัน จะต้องหาคนกลางที่เป็นกลางจริงๆ ที่ไม่ลำเอียง ซึ่งครั้งที่แล้วที่เราได้ฟังกันมาว่าฝ่าย MARA ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองหรือหลายๆ ฝ่าย ซึ่งอันนั้นก็เป็นเทคนิคต่างๆ ในการเจรจาที่จะต้องมีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย
บาบอเองก็ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้แต่อยากให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ อย่าให้เห็นว่าฝ่ายรัฐได้เปรียบมากเกินไปแล้วอีกฝ่ายเสียเปรียบ และก็อย่าให้เห็นว่าฝ่ายรัฐเสียเปรียบอีกฝ่ายได้เปรียบ คือจะต้องหาทางสายกลางให้ได้ แต่บาบอคิดว่าทั้งสองฝ่ายนี้ยังไม่ถอยหลัง เพียงแต่จะเดินหน้าเร็วหรือช้า เท่าที่ได้ยินคือข้อเสนอของฝ่ายขบวนการทางฝ่ายรัฐไม่ยอมรับ บาบอเองไม่รู้รายละเอียด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้มาบอกกล่าวอะไร แต่ในการเจรจาก็มีความเป็นได้ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอในครั้งแรก แต่ในครั้งที่สองก็ต้องมีการต่อรองกันต่อไปซึ่งก็รู้เท่านี้เอง
ในด้านประชาชนทั่วไปนั้นต้องการตรงนี้มาก เขาไม่ต้องการอยู่กับปัญหา อยู่กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมามานมากแล้วมีความเป็นอยู่ยากลำบาก ประชาชน 80% เห็นด้วยกับกระแสของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น
สำหรับข้อเสนอคงไม่มี เพราะถ้าจะมีข้อเสนอก็ต้องเสนอให้กับฝ่ายที่ต้องการจริงๆ แต่ก็พยายามสื่อไปว่าอยากให้ทั้งสองฝ่ายไปศึกษาไปหาข้อมูลจากประเทศต่างๆ ที่เขาประสบความสำเร็จมาแล้วหรือประเทศที่กำลังมีกระบวนการสันติภาพ เราก็อาจจะเอาแบบอย่างของเขามา แต่ที่บาบออยากจะขอก็คือ คนที่ดำเนินการในกระบวนการสันติภาพนั้นจะต้องใจกว้าง จริงใจ จริงจัง ไม่ใช่เอาสิ่งนี้เป็นเครื่องมือเพื่อตนเอง หากการทำงานที่ไม่มีความบริสุทธิ์ใจพระเจ้าจะไม่เปิดทางให้เขา ความหวังในสันติภาพจะเกิดขึ้นได้นั้นใจต้องบริสุทธิ์ ต้องเป็นกลางจริงๆ ไม่ใช่หลอกลวงกัน
ดังนั้นจึงต้องมีองค์กรที่เป็นกลางจริงๆ เราต้องมาค้นหาว่าใครที่มีอำนาจบารมีจริงๆ ที่จะสามารถทำเรื่องนี้ได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่วันนี้อย่าง MARA นั้นก็ตั้งโดยรัฐบาลมาเลเซียซึ่งก็มีกระแสความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ อาจจะต้องให้ทั้งสองฝ่ายชี้มาว่าคนหรือองค์กรใดที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อจะมาจัดการเรื่องความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีความคาดหวังต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ยังมีความคาดหวังอยู่เต็มเปี่ยม แต่แน่นอนว่าต้องใช้เวลา เพราะรอยร้าวและปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ก็ต้องหาหมอมารักษา ต้องหาเทคนิควิธีมาแก้ปัญหา แต่เราต้องไม่สิ้นหวังในเรื่องนี้ ถ้าไม่ชอบกระบวนการอันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้กระบวนการอันใหม่ แต่อย่าให้เรานั้นยอมแพ้หรือปฏิเสธเพราะไม่มีเส้นทางอื่นแล้ว เพราะถ้าเราดูจากทั่วโลกก็ใช้แนวทางนี้ทั้งนั้น เพียงแต่อย่าให้มีการเอาเปรียบกันเกินไป เพราะพวกเขาที่เจรจากันก็เหนื่อยเหมือนกัน ทางฝ่ายรัฐก็เช่นกันที่ต้องดูว่าการสร้างสันติภาพแล้วเขาจะได้อะไร และเมื่อมีข้อเสนอไปแล้วก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลมากเกินไป ต้องบริสุทธิ์ใจจริงๆ อย่างเสนอไป 5 ข้ออาจจะรับได้ 3 รับไม่ได้ 2 ก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป แต่ก็อย่างที่บอกคือต้องเรียนรู้จากประเทศที่เขาประสบความสำเร็จ ที่เขามีสันติภาพแล้ว และฝ่ายรัฐเองก็ต้องจริงใจ จริงจัง เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเจรจาอย่างแท้จริง และจริงๆ แล้วประชาคมโลกก็ต้องเข้ามามีส่วนในเรื่องของกระบวนการสันติภาพของที่นี่แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา
อ่านข่าวที่เกี่ยวเนื่อง
สัมภาษณ์ผู้นำศาสนา (1) “อับดุลอาซิซ เจะมามะ” รอมฏอนกับการสร้างสันติภาพ