Skip to main content

 

ขอ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ในงาน 30 ปี กป.อพช. ใต้

 

เลขา เกลี้ยงเกลา

 

 

ภายในงาน 30 ปี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ชุมคน ชุมชน คนใต้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2559 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีเวทีการนำเสนอทางออกภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเชิงประเด็นและพื้นที่อย่างหลากหลาย รวมทั้ง “สันติภาพชายแดนใต้” ขอพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นพื้นที่สาธารณะพร้อมเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างลดการใช้ความรุนแรงและความขัดแย้งในพื้นที่

ลม้าย มานะการ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ กล่าวว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ Woman’s Peace Building Platform หรือ PAW เกิดจากการรวมตัวและถอดบทเรียนการทำงาน “ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ซึ่งมีองค์กรรวมทั้งพุทธและมุสลิม 23 องค์กร โดยเริ่มต้นมีการผลักดันและรณรงค์ประเด็นด้านสันติภาพร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2558 ที่เป็นวันเริ่มก่อตั้งคณะทำงานฯ ทั้งนี้คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ถือเป็นเครือข่ายผู้หญิงนักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง รวมถึงผู้ที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 5,000 คน

“งานที่เราทำนั้นคือการออกไปฟังเสียงผู้หญิง เราออกแบบงานเพื่อที่จะไปฟังเสียงผู้หญิงออกจากชุมชน ผู้หญิง NGOs ผู้หญิงประชาสังคม ผู้หญิงภาครัฐที่ทำงานสังคม ซึ่งอาสาเข้ามาทำงานในพื้นที่สามจังหวัด รวมทั้งหมด 5,000 คน โดยช้เวลาทั้งหมด 7 เดือน เราไปคุยทั้งหมดในพื้นที่ 3 จังหวัด เราพบว่าสิ่งที่ผู้หญิงเห็นพ้องต้องกันคือ ต้องการเห็นสันติสุขในพื้นที่ตรงนี้ แต่สิ่งที่ต้องการที่สุดคือ ต้องการความปลอดภัย การมีชีวิตและปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งพื้นที่ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่บอกว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยมีอยู่ประมาณ 5-6 ที่ เช่น ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด ป้อมชรบ. เป็นต้น บางคนอาจจะมีประสบการณ์ที่เลวร้าย เมื่อที่บ้านไม่ปลอดภัย ซึ่งผู้หญิงบางคนบอกว่าที่บ้านต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่แล้วต้องมีความสุข และผู้หญิงก็ไม่คิดว่าบ้านเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และพื้นที่สาธารณะที่ผู้หญิงไปใช้ประโยชน์มีคุณค่าต่อผู้หญิงจะต้องปลอดภัยด้วย

ถามว่าเรียกร้องจากใคร ใครก็ได้ที่ทำให้เราไม่ปลอดภัย ซึ่งในพื้นที่เราจะใช้ความว่า ปาร์ตี้ a ที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งปาร์ตี้ a คือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ใช้กำลังอาวุธด้วย ส่วนปาร์ตี้ b คือ ผู้ที่คิดต่างจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็น บีอาร์เอ็น หรือ พูโล ซึ่งที่เราเชื่อนั้นคือมีทั้งฝ่ายที่ใช้กำลังความรุนแรง และใช้สมองในการขับเคลื่อนงานเพื่อชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเราเรียกร้องต่อทั้งฝ่าย a และ ฝ่าย bเพื่อให้ยุติความรุนแรงและไม่ใช้อาวุธในการแก้ปัญหา เรามีความชอบธรรมเนื่องจากพี่น้องเราเสียชีวิต และไม่ใช่เพียงผู้หญิงเท่านั้นที่เราอยากให้ปลอดภัย แต่เราอยากให้ทุกคนในพื้นที่นั้นปลอดภัยในเรื่องของการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในเรื่องศาสนา หรือการเมืองหรือสิ่งที่เขาจะบอกว่าการต่อสู้เพื่อศาสนาเป็นการฆ่าคนซึ่งเป็นการฆ่าคนเพื่อปกป้องศาสนา และเราไม่เชื่อ ซึ่งเราคิดว่าเป็นข้ออ้างที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างมาก ถ้าคุณคิดจะฆ่าใครเพื่อปกป้องศาสนา ยุคสมัยในการปกป้องศาสนานั้นมันเปลี่ยนไปและไม่ใช่การฆ่าอีกแล้ว ซึ่งผู้หญิงคิดว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

ลม้ายบอกต่อว่า หลังจากที่ได้ไปคุยกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้กำลังสร้างเครือข่ายที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งระดับของการทำงานทุกรูปแบบ ทุกประเด็น และพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ที่ถูกมองว่ามีความขัดแย้งระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม เพราะฉะนั้นเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้จำเป็นต้องมีการรวมตัวด้านยุทธศาสตร์ โดยการรวมตัวผู้หญิงทั้งพุทธและมุสลิม และถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผู้หญิงพุทธและมุสลิมออกมาบอกว่า ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและต้องร่วมกันทำงาน

“เพราะฉะนั้นเรามีข้อเสนอไปถึงฝ่ายที่ใช้กำลังความรุนแรงว่า ต้องยุติความรุนแรงและปฏิบัติการทางด้านทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะที่กล่าวไปข้างต้น โดยให้ประกาศพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปราศจากอาวุธ และขอให้มีการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งด้วยวิธีทางการเมืองและให้เอาพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญในการพูดคุย แม้วันนี้การพูดคุยดูเหมือนจะชะงักลง แต่จริงๆ การพูดคุยก็ยังดำเนินต่อไป ล่าสุดนี้ยังมีการประชุมพูดคุยกับกองเลขาฝ่ายที่มีการพูดคุย ในการที่จะผลักดันการแก้ปัญหาสามจังหวัดต่อไป เราจะต้องลด ละ เลิก การใช้ความรุนแรงและการใช้อาวุธและรวมการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย และยังต้องมีพื้นที่กลางให้ทุกคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงผู้หญิง ได้มีส่วนร่วมกันอย่างมีอิสระ มาแสดงความเห็น มาแสดงออก และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพทุกมิติในทางสันติวิธี ปราศจากการคุกคาม กดดัน จากทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนได้มีความปลอดภัยในชีวิตเป็นปกติอย่างมีสันติและสันติภาพในชายแดนภาคใต้”

 

 

นอกจากนี้ทาง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้มีการแถลงปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.ใต้ ภาคใต้การพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว ว่า 30 ปีแห่งการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนภาคใต้ ได้ก่อเกิดรูปธรรมการพึ่งตนเองในหลากหลายประเด็น เช่น การจัดการประมง และทรัพยากรทะเลชายฝั่ง การจัดการที่ดิน การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การสร้างรูปธรรมระบบเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นต้น และ 30 ปี ที่ผ่านมาได้ก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการมากมายจนสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นิเวศวัฒนธรรม ท่ามกลางภัยคุกคามนานัปการที่รุกเร้าภาคใต้อย่างรุนแรงตลอดมา หาก 30 ที่ผ่านมาไม่มีปฏิบัติการของชุมชนในการยับยั้งภัยคุกคามและสร้างรูปธรรมการจัดการตนเอง ภาพของภาคใต้วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้

เรายืนยันว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นการเดินทางบนความยากลำบาก ด้วยกระแสแห่งทุนและกลไกของรัฐเองที่ถาโถมเข้ามาเพื่อการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรสนองประโยชน์บนฐานการไม่เคารพกันและกัน แต่เรายืนยันว่าเส้นทางสายนี้คือทางเดินที่ถูกต้อง มีแต่การลุกขึ้นมาจัดการตนเองบนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าใจบริบทและก่อเกิดการจัดการที่ไม่ทำลายล้าง เราจึงยืนยันว่า

1.เราจะสร้างปฏิบัติการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สายน้ำ ทะเล ที่ดินและระบบเกษตรทางเลือก รวมถึงการปกป้องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ผู้บริโภคและความสงบสุขสันติภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อเนื่องจากเดิมเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลแก่ชีวิตของคนภาคใต้แม้ว่าอำนาจรัฐและทุนจะคุกคามเรามากขึ้นทุกวัน

2.เราจะสร้างรูปธรรมการจัดการด้านพลังงานของภาคใต้ให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยจะขับเคลื่อนต่อเนื่องกันไปนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปและคาดว่าภายในอีก ๕ ปีข้างหน้าโซล่าเซลล์จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้

3.เราจะสร้างความร่วมมือของประชาชน วิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่จริง

เราเชื่อว่าภาคใต้มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ เพราะพื้นฐานของสภาพทางภูมิศาสตร์ และทุนแห่งรูปธรรมการจัดการที่สรรสร้างมาอย่างยาวนาน จะสามารถนำเราไปสู่วันข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถจ้างงานได้อย่างมหาศาล และยิ่งเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ลำดับต้นของประเทศและเป็นภูมิภาคที่มีความสุขและความพึงพอใจสูงสุดของประเทศ เราจึงขอยืนยันว่าเราสามารดำรงชีวิตในวันนี้ และจะไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่ หากภาครัฐและกลุ่มทุนจะต้องเคารพการตัดสินใจ และออกแบบการดำเนินชีวิตของเราเอง ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องเราดังนี้

1.ต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของภาคใต้ เพราะทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามลพิษจากถ่านหินคือฆาตรกรเงียบที่ฆาตรกรรมมนุษย์มาแล้วไม่น้อย ทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมจนย่อยยับมาแล้วทั่วโลก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพของภาคใต้โดยตรงอย่างเลือดเย็น

2.ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการสร้างอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นทางขนส่งแลนบริดส์ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ อันเป็นความไม่สอดคล้องกับศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่ และจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจของคนใต้ในระยะยาว

3.หยุดการใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะ ม.44 เพื่อออกคำสั่ง สร้างกฎหมายที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการ หรือกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานทรัพยากรโดยรวมของภาคใต้

4.รัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ ประเด็นสิทธิชุมชนอ่อนด้อยลงกว่ารับธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งหายไปคือ “สิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปรกติและต่อเนื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับการคุ้มครอง...” รวมถึงการจำกัดเสรีภาพการชุมชน การได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน หลายมาตราด้วยการเพิ่มข้อความ “ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ” และ “อำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ...” โครงสร้างอำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศทั้งบริหาร นิติบัญญัติและองค์การอิสระ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยโดยประชาชน

เรากำหนดอนาคตการพัฒนาของเราได้ หากรัฐไม่คิดทำลายเราด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เราจึงขอยืนยันในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคใต้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าการทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยว สามารถสร้างสมดุลชีวิตได้มากกว่าการพัฒนาให้เป็นแผ่นดินมลพิษจากการอุตสาหกรรมหนัก เราจึงขอประกาศว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาสีเขียว

เราขอประกาศที่จะยืนยันในท่าทีดังกล่าวนี้อย่างมุ่งมั่นร่วมกัน ผ่านกระบวนการเชื่อมร้อยเครือข่ายคนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เราไม่ต้องการ และจะประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่จะนำพาภาคใต้ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ภายใต้แนวคิดการพัฒนาภาคใต้สู่สีเขียว และเราขอประกาศว่าเราจะร่วมมือกันที่จะต่อสู้กับทุกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบที่จะเข้ามาทำลายความเป็นภาคใต้ของเราอย่างถึงที่สุด

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้

30 มิถุนายน 2559