กาแฟขี้ช้าง ฮาลาลหรือไม่ ?
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่เป็นลักษณะของคนไม่รู้จักพอในสิ่งที่ตนมี แต่ปัจจุบัน อาจจะพูดกันใหม่ว่า “เห็นช้างขี้ กินขี้ช้าง” หรือ “เห็นช้างขี้ โกยขี้ช้างไปขาย” กันเสียแล้ว กับมูลค่าของมูลช้างที่มันขับถ่ายออกมาพร้อมกับเมล็ดกาแฟที่ชื่อว่า “Black ivory coffee” หรือกาแฟขี้ช้าง ซึ่งเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลกขณะนี้
ขั้นตอนการทำกาแฟขี้ช้าง เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟไทยอาราบิก้า จากแหล่งที่ปลูกบนความสูง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วนำมาให้ช้างกิน เมื่อช้างขับถ่ายออกมา ควาญช้างก็จะนำไปตากแห้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับพฤติกรรมการกินแบบปกติ แต่รอให้ช้างกินผลกาแฟโดยสมัครใจ ควาญช้างจึงต้องคอยสังเกตดูว่าช้างจะขับถ่ายออกมาเมื่อใด จากนั้นจะนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดและคัดเลือกขนาดเมล็ดกาแฟที่ใหญ่และสมบูรณ์อีกครั้ง
ผลผลิตที่ได้จากเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วขับถ่ายออกมา ซึ่งเอนไซม์ในกระบวนการย่อยอาหาร จะทำให้โปรตีนในเมล็ดกาแฟที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดรสขม แตกตัวกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เมื่อโปรตีนถูกสลายให้ลดลง ความขมจึงลดลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้กาแฟที่ผลิตออกมามีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือมีกลิ่นช็อกโกแลต และมีทั้งรสชาติของดาร์ก ช็อกโกแลต มอลต์ รวมทั้งเครื่องเทศ แต่ไม่มีรสขมบาดปาก
คุณเบลค ดินคิน ชาวแคนาดา ผู้ริเริ่มผลิตกาแฟขี้ช้าง ภายใต้ชื่อการค้า “แบลค ไอวอรี คอฟฟี” ได้บอกเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์มีราคาแพงนั้น เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่ลำบากซับซ้อน ต้องคัดผลกาแฟที่มีคุณภาพให้ช้างกิน โดยตอนนี้ใช้พันธุ์อาราบิก้าของไทย ซึ่งต้องให้ช้างกินถึง 33 กิโลกรัม เพื่อที่จะได้กาแฟขี้ช้างมา 1 กิโลกรัม เวลาช้างกินกาแฟ ช้างจะเคี้ยวด้วย เมล็ดกาแฟบางส่วนก็จะแตกหักหรือถูกย่อยไป ส่วนที่เหลือขับถ่ายออกมานั้นจะเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเมล็ดกาแฟที่สูญหายไปตอนที่ช้างลงไปอาบและขับถ่ายในน้ำ ขณะนี้ กาแฟขี้ช้างไทย ดังไกลทั่วโลก ที่สำคัญก็คือแพงที่สุดในโลกด้วย ราคาถึงกิโลกรัมละ 34,000 บาท หรือตกราคาแก้วละ 1,200 บาท กันเลยทีเดียว
::มุมมองอิสลามในประเด็นกาแฟขี้ช้าง::
คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 04/2556 อนุญาตการรับประทานกาแฟขี้ช้างโดยเงื่อนไขของการอนุญาติคือ 1. เมื่อช้างกินกาแฟเข้าไปแล้วถ่ายออกมา ต้องเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ คือมีความแข็งเหลืออยู่หากนำไปเพาะในดินก็จะงอกได้อีก 2. ต้องไม่นำเมล็ดกาแฟที่แตกและไม่สมบูรณ์มาใช้ 3.ต้องล้างทำความสะอาดนญิสที่ปนเปื้อนออกให้หมด
โดยส่วนหนึ่งของฟัตวาได้กล่าวว่า “เมื่อปรากฏว่าเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วถ่ายออกมายังคงมีสภาพที่แข็ง เมล็ดกาแฟ จึงมิใช่ตัวนะญิส หากแต่เป็นสิ่งที่ปนเปื้อนนะญิส (มุตะนัจญิส) ดังนั้นเมื่อเมล็ดกาแฟถูกล้างให้ สะอาดจาก นะญิสที่ปนเปื้อนมากับมูลช้างตามวิธีการล้างที่ถูกต้อง เมล็ดกาแฟนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดและสามารถรับประทานได้”
วันนี้เรามีกาแฟขี้ชะมด กาแฟขี้ช้าง ต่อไปเราอาจจะเห็นการวิจัยและพัฒนากาแฟจากขี้วัว ขี้แพะ หรือขี้ของสัตว์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้....
.................................
ข้อมูลจาก
http://pantip.com/topic/31192203
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx…
http://www.gracezone.org/inde…/motivate/1850-coffee-elephant
http://news.mthai.com/hot-news/world-news/207390.html
http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=421967
https://drive.google.com/…/0BwikEGfSn1PUR0lMX3Vod3lOUXM/view