Skip to main content

 

เด็กและสตรี” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : พรมแดนสนามวิจัยที่ยังต้องให้ความสำคัญ

 

ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร

นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้บริหารโรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา

นักวิชาการ/นักวิจัยอิสระ

 

          หลังจากนั่งอ่านงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และทวนทบงานวิจัยของตัวเองนับจากงานวิจัยชิ้นแรกจวบจนวันนี้ร่วม 10 ปี ในช่วงสองสามสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เขียนต้องมานั่งทบทวนถึงความสำคัญและการให้คุณค่าของงานวิจัยในสนามชีวิตที่เราอาจหลงลืมไปและมองข้ามไป จะด้วยเหตุผลกลไกใดๆก็ตามแต่ ผู้เขียนมองว่า แม้งานวิจัยในสนามพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากมายหลายร้อยหลายพันเรื่อง แต่การบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับเป็นภาพใหญ่ที่บางครั้งทำให้เราเบลอกับการควานหาคำตอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งหวนคิดไตร่ตรองลองถามตัวเอง เรามองข้ามชีวิตความเป็นไปของผู้คนหลังสิ้นเรื่องราวข่าวคราวเหตุการณ์ความไม่สงบในแต่ละวันไปหรือเปล่า ภาพของการสร้างสันติภาพ/สันติสุขจึงพร่ามัว (แค่ตั้งคำถามกับตัวเอง)

ผู้เขียนนั่งทบทวนสะท้อนย้อนคิดกับตัวเองว่า บริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบนี้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น และเราคงมิอาจปฏิเสธได้ว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ครอบครัวจำนวนมากต้องสูญเสียสามี และลูกชายจากเหตุการณ์ความไม่สงบนี้

จากข้อมูลการสำรวจครอบครัวผู้ประสบเหตุหรือผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 284 รายในจังหวัดปัตตานี (นี่แค่จังหวัดปัตตานี) ปี 2550 พบว่าผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 95.8 สมรสแล้วร้อยละ 89.1 เป็นหัวหน้าครอบครัวร้อยละ 84.5 และอยู่ในวัยทำงานอายุเฉลี่ย 45.9 นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 51.4 (ศวชต.,2550) ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นหญิงหม้าย และต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูสมาชิกหลายชีวิตในครอบครัว ฃณะที่เด็กต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า นี่เป็นข้อมูลที่ย้อนมองกลับไปตลอดช่วงเวลาของการลงพื้นที่ทำงานวิจัยในสนามความขัดแย้งของผู้เขียนมันสื่อสะท้อนให้เห็นว่าจากวันนันจวบจนวันนี้ชีวิตผู้คนเหล่านี้มีสักกี่คนที่ลงไปดูแลเยียวยาและบอกเล่าเรื่องราวของหลากชีวิต

อาจจะมีบ้างผ่านหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้านการเยียวยา อาจมีบ้างสำหรับภาคประชาสังคมที่พยายามต่อเติมความหวังให้เพื่อมนุษย์ แต่เรากลับไม่พบมีรายงานหรือเรื่องเล่าที่ร้อยเรียงบอกเล่าความเป็นจริงที่เขาเหล่านั้นต้องเผชิญ อาจมีบ้างแต่รายงานเหล่านั้นยังอยู่ในวงแคบไปหรือเปล่าผม อาจมีบ้างเรื่องเล่าของผู้หญิงที่สะท้อนบอกเล่าให้เราๆได้ติดตามและมีความพยายามจะพัฒนาคุณภาพชีวิตเขาเหล่านั้นให้ดีขึ้น แต่สำหรับชีวิตของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบ ชีวิตของเด็กๆที่คำสร้อยตามมาของเขาคือ เด็กกำพร้า น้อยนักหรือแทบไม่มีให้เห็นเลยว่าหลากชีวิตเหล่านี้เป็นอยู่อย่างไร

เมื่อมานั่งมอง 10 กว่าปีที่ผ่านมาผ่านข้อมูลเชิงสถิติกลับ พบว่า ตัวเลขรวมของหญิงหม้ายและเด็กนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2547 จนถึงเดือนกันยายน 2557 (หากนับรวมตัวเลขข้อมูลของปี 58 กับ 59 คงยิ่งต้องตระหนัก) มีเด็กกำพร้า 5,438 ราย ผู้พิการ 554 ราย สตรีหม้าย จำนวน 2,653 ราย  ผู้ได้รับบาดเจ็บ 6,299 ราย และ ผู้เสียชีวิต 4,821 ราย (โครงการหน่วยเคลื่อนที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ , 1 กันยายน 2557) 

 

     ตาราง : สรุปข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

จังหวัด

เด็กกำพร้า

ผู้พิการ

สตรีหม้าย

ผู้ได้รับบาดเจ็บ

ผู้เสียชีวิต

รวม

สงขลา

196

18

93

946

167

1,420

สตูล

16

3

15

-

-

34

ปัตตานี

1,944

120

941

2,572

1,699

7,276

ยะลา

1,364

203

832

558

833

3,790

นราธิวาส

1,918

210

772

2,223

2,122

7,245

รวม

5,438

554

2,653

6,299

4,821

19,765

 

(ที่มา : โครงการหน่วยเคลื่อนที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ,   ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2557

          ผู้เขียนนั่งมองดูข้อมูลตารางดังกล่าวข้างต้นตามที่ผู้เขียนมีข้อมูลนั่นหมายความว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้เราหลงลืมอะไรไปมากมายจริงๆ เพราะมันชี้ให้เห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ กลุ่มเด็ก และ สตรี ด้วยเหตุจากการเสียชีวิตของผู้นำครอบครัว ภาระหนักจึงตกอยู่กับสตรีที่ต้องรับผิดชอบในด้านการดูแลครอบครัว ปัญหาปากท้องในการดำรงชีวิตแต่ละวัน แต่ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกลุ่มเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เขาเหล่านั้นดำเนินไปในแต่ละวัน

 อาจมีบ้างอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแต่นั่นก็เห็นจะเป็นภาพของความพยายามในกลุ่มสตรีน้อยนักภาพเรื่องราวของเด็กๆจะได้รับการสื่อสะท้อนออกมาให้ต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และฟื้นฟูโครงสร้างหลักๆ เช่น การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบการศึกษา เป็นต้น ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ล้วนมองข้ามภาพส่วนลึกหลากชีวิตที่เป็นอยู่จริง

อีกทั้งแม้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่พบงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่ซับซ้อนและเลื่อนไหลภายใต้บริบทที่แปรเปลี่ยนไปของเด็กและสตรีตลอดจนไม่สู้ได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ความสนใจทางวิชาการต่อเขตชายแดนภาคใต้กระจุกตัวอยู่ที่สถานการณ์ความไม่สงบเป็นหลัก งานเหล่านี้มุ่งตอบคำถามว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำไมจึงทวีความรุนแรงขึ้น และมีใครอยู่เบื้องหลัง เช่นงานของ Abuza 2003, 2005, Askew 2007, Croissant 2005, Liow 2006, MacCargo 2006, Srisompob and Phanyasak 2006, Ukrist 2006, Wattana 2006 (ดู อ้างถึงใน อนุสรณ์ อุณโณ, 2554) แม้จะมีงานบางส่วนให้ความสำคัญกับหลากชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ก็มักจะให้ภาพที่หยุดนิ่งตายตัวมากกว่าพลวัตและการปรับตัวของกลุ่มผู้คนดังที่ผู้เขียนกล่าวมา ไม่สู้จะให้ความสำคัญกับชีวิตของเด็กและสตรีโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง  

          ผู้เขียนเชื่อครับว่า มีกลุ่มคน องค์กร ภาคส่วนต่างๆพยายามผลักดันร่วมกันพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติต่างๆที่เราเองก็เห็นกันอยู่บ้าง ซึ่งขอให้กำลังใจและร่วมกันต่อไป แต่ผู้เขียนมองว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีองค์กรทางวิชาการที่พยายามศึกษาเรื่องราวหลากชีวิตของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างต่อเนื่องและทบทวนการพัฒนาเขาเหล่านั้นอย่างจริงจัง การมองภาพใหญ่เป็นสิ่งที่ดีแต่การให้คุณค่าของชีวิตคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ยังต้องการการยืนยันผลการศึกษาว่ากลุ่มคนที่ผู้เขียนกล่าวมาเราต้องหันมาทบทวนร่วมมือกันให้เป็นรูปธรรมในแนวทางที่ควรจะเป็นเสียที (มันอาจดูเป็นอุดมคติแต่ความหวังก็ยังมีส่วนเป็นกำลังใจให้เราได้ทำงานต่อไป) เพราะผู้เขียนยังเชื่อว่าเราก็คนเขาก็คนเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน

ฉะนั้นแล้วการมองข้ามความรู้สึกและการรับรู้เรื่องราวของ “เด็กและสตรี” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่ควรละเลยแม้เพียงเสี้ยวความรู้สึก ไม่ควรละเลยผลักให้เป็นภาระหน้าที่ของใครคนหนึ่งเพราะพรมแดนความรู้สึกของกลุ่มคนเหล่านี้อาจต้องการทลายกำแพงที่ขับข้องอยู่ในจิตใจให้ใครต่อใครได้รับรู้ และผู้เขียนก็เชื่อว่าเขาเหล่านี้คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเดินต่อ “กระบวนการสันติภาพ/สันติสุข” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สนามวิจัยแห่งนี้ยังมีเรื่องท้าทายการทำงานของเราๆอีกมากและอาจต้องใช้เวลา แต่พรมแดนความรู้สึกของผู้คนเราจะรอเวลาให้ผ่านพ้นไปวันแล้ววันเล่าคงไม่ได้ เพราะสุดท้ายเราทุกคนต้องกลับไปตอบคำถามจากพระเจ้าในลมหายใจที่ผ่านมาว่า เราใช้ความรู้ในการพัฒนาสังคมอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด เราหลงลืมกลุ่มคนกลุ่มใดไปหรือเปล่า การทำงานเพื่อตัวเอง เราก็จะได้กับเราเอง แต่การทำงานเพื่อสังคม เราจะได้ทั้งตัวเองและสังคม ที่สำคัญเราจะได้ตอบคำถามอย่างเต็มปากเต็มคำให้พระเจ้าด้วยถึงลมหายใจที่ใช้ไป

 ผู้เขียนยังยืนยันและให้กำลังใจคนทำงานในพื้นที่ว่า “เด็กและสตรี” ในจังหวัดชายแดน ยังต้องให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนกันต่อไป “จงปีนภูเขาแม้จะเป็นภูเขาลูกเล็กก็ตาม หากทว่าภูเขาลูกนั้นยังไม่เคยมีใครปีนป่ายมันได้สำเร็จ...” ด้วยความหวังและดุอาอ์

 

เอกสารอ้างอิง

โครงการหน่วยเคลื่อนที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ,   ข้อมูล ณ

วันที่ 1 กันยายน 2557

ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.)

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 2550.

อนุสรณ์ อุณโณ. มลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. 2554.