Skip to main content

 

องค์กรเอ็นจีโอมุสลิมอินเดีย นำซากาต (ทานบริจาค)ช่วยเหลือเยาวชนผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง 

getty image/AFP

[AFP/Getty Image]

 

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็ปไซด์ BBC นำเสนอเรื่องราวของ นิซารุดดีน อะหมัด หนึ่งอดีตผู้ต้องหาและถูกคุมขังในคดีก่อการร้ายเป็นเวลากว่า 23 ปี ก่อนจะมีการปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

อะหมัด เผยกับ BBC ว่า เขารู้สึกเสียดายของช่วงชีวิตที่เสียไปในเรือนจำ และแม้ว่าวันนี้เขามีชีวิตใหม่เเล้วก็ตาม แต่นั้นไม่ได้ทำให้เขามีความสุขเท่าไรนัก 

ทั้งนี้ความล่าช้าของระบบยุติธรรมในอินเดียเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่สื่อทั่วประเทศให้ความสนใจ และเรื่องราวของอะหมัดก็เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ต้องเผชิญกับความล่าช้าดังกล่าว 

รายงานของ BBC ระบุว่า มีเยาวชนชาวมุสลิมจำนวนมากถูกจับโดยถูกตั้งข้อหา ก่อการร้าย ซ้ำร้ายพวกเขายังถูกคุมขังในเรือนจำแรมปี กว่าจะมีการไต่สวนสืบคดีความ

ซึ่งส่วนหนึ่งของความล่าช้าในการเข้าถึงระบบยุติธรรมนั่นคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการจัดการรวมไปถึงคนที่จะเข้ามาช่วยดูเเลในเรื่องทนาย

จากปัญหาดังกล่าวองค์กร Jamiat Ulema-e-Hind หนึ่งในองค์กรเอ็นจีโอมุสลิมในอินเดีย จึงนำเงินบริจาคในช่วงรอมฎอน(ซากาตฟิตเราะห์) ได้ราว 20 ล้านรูปี เพื่อช่วยเหลือเหยื่อความยุติธรรมเหล่านั้น 

กุลซาร์ อัซมี ประธานองค์กรฯ กล่าวว่า เขาประสานไปยังมัสยิดต่างๆเพื่อให้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการเอาเงินช่วยเหลือในช่วงการกล่าวปาฐกถาธรรม(คุตบะฮ์)ในวันศุกร์ อย่างไรก็ดีโดยปกติ มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องบริจาคทาน(ซากาตฟิตเราะห์)ในช่วงเดือนรอมฎอนอยู่เเล้ว ซึ่งในปีนี้เดือนรอมฎอนในประเทศอินเดียสิ้นสุดลงในวันพฤษหัสบดี (07/07/59) และมีผู้สนใจร่วมบริจาคทานเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวอย่างล้นหลาม 

อัซมียังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้พวกเขาดูเเลผู้ต้องหาคดีดังกล่าวกว่า 560 ราย ในกว่า 65 กรณี โดยส่วนใหญ่การจะเร่งจัดการกับกรณีที่มีชี้ชัดว่ามีการจับผิดตัวก่อน

ทั้งนี้มีเยาวชนมุสลิมกว่า 100 คนที่ถูกจับในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกตัดสินโดยศาลชั้นต้น และกว่าจะเสร็จสิ้นการต่อสู้คดีก็อุทธรณ์จนถึงในชั้นศาลฎีกา

ว่าสุดเพิ่งเยาวชน 9 คน ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 10 ปี จากเหตุการณ์ระเบิดในเมือง มาเลกาออน รัฐมหาราชตะ

"การช่วยเหลือในแต่ละเคสนั้น พวกเขาจำเป็นต้องมีการสอบประวัติอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ชัดว่าคนคนนั้นถูกกลั่นแกล้งและถูกจับโดยไม่รับความเป็นธรรม" อัซมีกล่าว

ในรายงานของ BBC ระบุว่า การต่อสู้ครั้งสำคัญขององค์กรฯดังก่าวเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นคดีที่มีการจับกุมเยาวชน 6 คน จากเหตุการณ์ระเบิดที่วัดชื่อดังในเมือง คุชราช เมื่อปี 2002 ซึ่งทั้ง 6 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่จากการต่อสู้และยื่นอุทธรณ์จนในที่สุดพวกเขาทั้ง 6 คนก็ได้รับอิสรภาพในชั้นศาลฏีกา 

เมาลานา ซิดดิกกุลา เชาวฮูรี รัฐมนตรีประจำรัฐ เวสต์เบงกอล กล่าวว่า เขาสนับสนุนการทำงานขององค์กรฯดังกล่าว ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ต้องหาเหล่านั้น 

ด้าน คารี มูฮัมหมัด ซาฟิค อิหม่ามประจำมัสยิดกลางเมืองกัลกาตา กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนที่ถูกจับกุมอย่างไม่ยุติธรรมในคดีร้ายแรง จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเนื่องจากพวกเขาไม่มีทรัพยสิน เงินทองเพียงพอในการต่อสู้คดี ดังนั้นการนำระบบเงินซากาตจึงถือเป็นหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือที่ดี.

หมายเหตุ 

ซากาตถือเป็นหนึ่งใน เสาหลัก 5 ประการที่มุสลิมทั่วโลกต้องปฏิบัติ โดยซากาตตามความหมายด้านภาษาคือ  การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ และการเจริญเติบโต ซึ่งความหมายทางบัญญัติ คือ การบริจาคทานประจำปีจากทรัพย์สินส่วนเกินจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุสลิมต้องจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิเมื่อครบรอบปี

ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับซากาตมีจำนวน 8 ประเภทด้วยกัน 

1. คนขัดสน(มิสกีน)

2.คนยากจน(ฟากีร)

3.เจ้าหน้าที่ดูเเลซากาต

4.มูอัลลัฟหรือคนต่างศาสนิกที่เปลี่ยนมารับอิสลาม และ ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิมแต่มีความสนใจในการเข้ารับ

5.ผู้ไร้อิสรภาพ/ทาส/เชลยศึก

6.คนติดหนี้

7.ใช้จ่ายในหนทางของพระเจ้าเช่น สร้างอาคารมัสยิด โรงเรียนเป็นต้น

8.คนเดินทาง ผู้พลัดถิ่น

ซึ่งสำหรับกรณีที่อินเดีย คือการนำซากาตช่วยเหลือให้กลุ่มคนประเภทที่ 5 ผู้ไร้อิสรภาพ ซึ่งได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้ สามารถมอบซะกาตให้เขาได้ เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่า สามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน.