จะว่าไปแล้ว ในช่วงของเดือนรอมฏอน มีหลายฝ่ายคอยลุ้นกันว่าจะมีเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาของเดือนรอมฏอนกันหรือไม่
นักสร้างสันติภาพ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่างก็ลุ้นในเรื่องของการก่อเหตุ เพื่อจะคอยดูว่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ จะมากหรือน้อยกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์ของการพูดคุยสันติสุข ว่าน่าจะเดินต่อไปได้ประมาณไหน
ถึงแม้จะมีเหตุระเบิดในช่วงของเดือนรอมฏอน ที่นราธิวาสก็ตามที แต่ก็พอจะพูดแก้เก้อได้ว่า เป้าหมายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช้เป้าพลเรือน
แต่เหตุการณ์น่าจะเริ่มมีปัญหาก็เมื่อมีทหารพรานแอบนัดพบสาวมุสลิมในโรงเรียนตาดีกา ที่บ้านบัวทอง ม.2 ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ท่ามกลางกระแสข่าวลือของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีกองกำลังทหารในพื้นที่ว่า เป็นการข่มขืนหญิงสาวมุสลิม จนเหตุการณ์คลี่คลาย เมื่อมีการสอบหาความจริง
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้มีการเฝ้าระวังว่าจะมีการเอาคืน ตามมาด้วยเหตุการณ์แขวนป้าย Self of Determination เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่บ้านท่าด่าน ม.3 ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มันก็เป็นประเด็นเชื่อมโยงกันมาหลังจากเหตุการณ์บ้านแหร
หรือ แม้แต่เมื่อวันที่ 3 ก.ค.59 : 19.00 น. คนร้ายลอบวางระเบิด ข้างมัสยิดกลาง ถนนยะรัง ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ภายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เสียชีวิต 1 นาย
จนมาถึงเหตุการณ์ระเบิดที่ด่านเกาะหม้อแกง อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอีก 1 ราย
ทำให้เห็นว่า ในช่วงเวลาของเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหลายๆ ฝ่าย พยายามทำให้เป็นรอมฏอนสันติ ทั้งรัฐ และนักสร้างสันติภาพ หรือแม้แต่ฝ่ายผู้เห็นต่างบางกลุ่ม ก็กำลังพยายามทำหน้าที่ตรงนี้
แต่ในการทำงานหรือทำหน้าที่ดังกล่าว กลุ่มที่เห็นต่างในระดับพื้นที่ อาจจะไม่ตอบรับในเรื่องนี้ก็เป็นได้ และการไม่เห็นด้วยก็ย่อมต้องแสดงศักยภาพของความไม่เห็นด้วยเช่นกัน วิธีการแสดงออกของการไม่เห็นด้วยของกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ ก็คือ การก่อเหตุ โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า ปีนี้การก่อเหตุที่สร้างความเสียหายมาก ก็คงเป็นการก่อเหตุต่อเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเอง เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐโดยตรง ที่ไม่สามารถควบคุมเดือนรอมฏอน ให้เป็นรอมฏอนสันติได้
จนมาถึงเหตุการณ์ล่าสุด คือ ประเด็นของเสื้อที่กลุ่มเยาวชนทำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายหาทุนในการทำกิจกรรม กลับมีการประโคมข่าวกันออกมาว่าเป็นเสื้อที่มีรูปแผนที่ชายแดนใต้ อักษรยาวี อันบ่งบอกถึงการแบ่งแยกดินแดน หรือแม้กระทั้งโลโก้ที่เป็นรูปของดอกชบา ก็กลับถูกมองไปอีกว่า เป็นดอกไม้ที่บ่งบอกถึงการแบ่งแยกดินแดน หรือต้องการเอกราชอีกเช่นกัน
ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แอดมิน มองว่า รัฐ ควรต้องเร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะมีการพูดคุยสันติสุขต่ออย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกันเอง เจ้าหน้าที่รัฐกับภาคประชาสังคม หรือแม้แต่รัฐ กับมารา ปาตานี เองก็ตาม หรือแม้แต่ในเรื่องของกรอบแนวคิด หรือ TOR ที่บอกว่าจะมีการปรับปรุงหรือแก้ไขใหม่
ร่วมไปถึงการประสานงานเพื่อการพูดคุยสันติสุข ควรเริ่มให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนขึ้น
หรือแม้แต่ หากสามารถเชื่อมโยงถึงกลุ่มผู้เห็นต่างในระดับพื้นที่ได้ ก็ควรจะมีการพูดคุยหาข้อสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หรือความต้องการในระดับพื้นที่ (ถ้าเป็นไปได้) จะร่วมมือกันแก้ไขอย่างไร
หากยังรอเวลาที่สุกงอมตามทฤษฎี ความเดือนร้อน ความเสียหาย ก็ย่อมเกิดขึ้นกับพลเรือน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้แน่นอน
ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก #DSW
#เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ