Skip to main content

 

กลุ่ม PAW วอนกองทัพยุติดำเนินคดี 3 นักสิทธิ์

 

เลขา เกลี้ยงเกลา

 

 

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Women’s Agenda for Peace – PAW) ยื่นจดหมายยุติดำเนินคดี 3 นักสิทธิ์ แก่ ผอ.รมน.ภาค 4 ตัดออก พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัย และเดินหน้าหารือต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ด้าน รองผอ.ลั่นหากมีทางออกที่ดีที่สุดพร้อมถอนฟ้องทันที เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่

เมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กลุ่ม PAW เข้าพบ พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. เพื่อรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังขับเคลื่อน โดยยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กองทัพพิจารณายุติการดำเนินคดีนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนคือ อัญชนา หีมมิหน๊ะ พรเพ็ญ

คงขจรเกียรติ และสมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาทและมีความผิดทาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการจัดทำ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในพื้นที่จชต. ปี 2557-2558”

นางสาวลม้าย มานะการ กลุ่ม PAW กล่าวถึงที่มาและเหตุผลของการเข้าพบในครั้งนี้ว่า การเปิดพื้นที่กลางเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ กอ.รมน.ปรับนโยบายไว้วางใจมากขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เกิดช่องว่างบางประการ ไม่เป็นผลดีกับการร่วมกันสร้างสันติสุขและสันติภาพในพื้นที่ และทาง PAW ห่วงใยบรรยากาศที่ดี จึงอยากรับฟังเหตุผลทางกองทัพที่ดำเนินการ และยื่นจดหมายเปิดผนึก เพื่อให้มีการยุติการดำเนินคดีข้างต้น รวมทั้งขอนำเสนอข้อเสนอนโยบายสาธารณะ พื้นที่สาธารณะปลอดภัย ที่ทาง PAW ได้ใช้เวลากว่า 7 เดือนไปรับฟังพี่น้องประชาชนและประชาสังคม ในพื้นที่ กว่า 500 คน และนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

พลตรีชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า นโยบายของรัฐมุ่งสู่การยุติปัญหาความรุนแรง ขับเคลื่อนสู่สันติสุขตามวิถีที่พี่น้องต้องการ ถ้าให้รัฐแก้ปัญหาฝ่ายเดียวแก้ไม่ได้ ต้องอาศัยภาคประชาชนมาหารือร่วมกันถึงทางออกที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการคิดและตัดสินใจ ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทั้งปวง เพื่อสร้างสรรค์และเข้าใจกันสู่พื้นที่แก่พี่น้องที่ประสบปัญหา มีศูนย์สันติวิธีเพื่อรับเรื่องนี้โดยตรง เมื่อมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ หลายสำนักข่าวโทรมา ผมบอกว่าสิ่งที่เขาแถลงไปรัฐไม่รู้เลย สิ่งที่เราต้องการคือการทำงานร่วม เป็นสิ่งถูกต้องที่นักสิทธิ์ไปตรวจสอบ 54 รายตามในรายงาน หาที่มาที่ไปได้แน่นอนว่าใครรับผิดชอบ เมื่อรู้ก็สามารถลงโทษลูกน้องได้ เป็นความโง่ของคนฉลาดที่รู้ว่าทำแล้วโดน แต่เราไม่ได้รับความร่วมมือมาโดยต่อเนื่อง เมื่อเขาทำรายงานเสร็จก็แถลงเลย สิ่งรับไม่ได้คือการละเมิดสิทธิสตรี ใครจะแสวงหาความจริงแทนเขา หรือจะปล่อยให้เขาเสียหาย สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือทำงานร่วมกัน อย่าเพิ่งอคติกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องสร้างสมดุลย์ในการทำงาน ไม่อยู่ในซีกใด แม่ทัพตระหนักในเรื่องนี้ รวมทั้ง ผบ.ทบ.ให้เอาโทษทั้งทางวินัยและอาญาหากเกินกรอบกฎหมาย

การที่ฟ้องเราไม่ต้องการเอาผิด แต่ต้องการปกป้องศักด์ศรีผู้หญิงที่มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ(ทหารพรานหญิง) ความเป็นรัฐมีขอบเขต คนในรัฐมีความรู้สึกและมีชีวิตจิตใจเช่นกัน

ขอความร่วมมือไปยังสองท่านเพื่อให้ได้รู้ความจริง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ได้รับคำตอบว่าเกรงรัฐจะไปคุกคามคนเหล่านี้ จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งคณะกรรมการมาร่วมตรวจสอบ แต่เขาไม่ได้รับความร่วมมือเช่นกันจึงไม่ได้ดำเนินการต่อและหยุดไป

พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวด แต่วันนี้เล่มนี้ไปเผยแพร่ที่ไหน เกิดความเกลียดชังแห่งประชาชาติขึ้นมาอีก วงรอบแห่งความรุนแรง คำบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล อันตรายมากต่อพื้นที่ที่จะเดินไปสู่สันติสุข จนตัดสินใจแสวงหาความจริงจากกระบวนการยุติธรรม”

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวถึงบทเรียนที่ผ่านมาของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องคำนึงเรื่องนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่กำหนดหน้าที่ชัดเจนเรื่องนโยบายการติดตามจับกุมคนร้าย งานข่าวแม่นยำ จับถูกตัว การจับกุมต้องโปร่งใส ให้เห็นในทุกขั้นตอนของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ต้องแจ้งกับญาติว่าไปควบคุมตัวที่ไหน และสามารถเข้าไปเยี่ยมในศูนย์ซักถามได้

“ได้จัดตั้งศูนย์สันติวิธีเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเอ็นจีโอในพื้นที่โดยเฉพาะ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเกื้อหนุนการพูดคุย ปัญหานี้ค่อนข้างอ่อนไหว สร้างความรู้สึกเหมือนรัฐไปรังแกนักสิทธิ์ ในปี 2555 ที่มีรายงานการซ้อมทรมานในชายแดนใต้ครั้งแรกโดยคนทำรายงานฉบับนี้เช่นกัน บอกว่าสัมภาษณ์จากเรือนจำสงขลา 70 ราย ค้นพบการทรมาน 33 รายเช่น การใช้ค้อนทุบ ใช้แมงป่องกัด และรายงานถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของยูเอ็นปลายปีนั้น

ล่าสุด บีบีซีสัมภาษณ์ผมว่า มีรายงานซ้อมทรมาน 54 เคส เมื่อ 3 ม.ค. 2559 ผมบอกว่าเป็นรายงานเก่าปี 2555 จนเมื่อ 8 ม.ค. 2559 เขายื่นหนังสือถึง พล.อ.อักษรา และแม่ทัพภาคที่ 4 เรื่องรายงานการซ้อมทรมาน แม่ทัพบอกขอเวลา 3 เดือนในการตรวจสอบความจริง ขณะที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ เมื่อ 10 ก.พ. 2559 มีการแถลงข่าวรายงานนี้ที่ม.อ.ปัตตานี คืนวันนั้นมีการรายงานข่าวชี้ให้เห็นความโหดร้ายในการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐ หลังรับทราบเราได้แถลงข่าวเมื่อ 12 ก.พ. 2559 แม่ทัพให้ตรวจสอบความจริงอย่างเปิดเผย ให้ผู้ทำรายงานร่วมตรวจสอบความจริง เพื่อจะไปลงโทษเจ้าหน้าที่ หาวิธีการเยียวยาและปรับปรุงการทำงาน ทำหนังสือถึงคณะกรรมสิทธิ์มนุษยชนแห่งชาติ ทางศอ.บต.จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบความจริงด้วย

จนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2559 ได้เชิญคุณอัญชนามาคุยกัน แต่เขาไม่เปิดเผยรายชื่อที่มี เราต้องค้นหาความจริงกันเอง เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน มีการเขียนโค้ดลับ แม่ทัพให้ตรวจสอบตามรายการนั้น เช็คยากมาก ใน 54 รายพบว่าซ้ำกัน สามารถระบุได้ 18 ราย ให้หน่วยควบคุมตัวนำหลักฐานมาให้ตรวจสอบ เช่น ใช้ปืนกระแทกจนฟันกรามหัก ต้องมีร่องรอย ในการควบคุมตัวก็มีญาติและทนายอยู่ เมื่อมีการปล่อยตัวจะมีการตรวจจากแพทย์อีกครั้ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารพรานหญิงก็ตรวจสอบ เขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ พยายามขอความร่วมมือเขาตลอดในการตรวจสอบความจริง กังวลคือกลับมีการเผยแพร่มากขึ้น พยายามนำเข้าสู่สถานการณ์การประชุมที่เจนีวา แต่ไม่ได้รับการเข้าสู่การประชุม”

โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวต่อว่าจากการเผยแพร่เอกสารที่ไม่ได้มีการตรวจสอบถือเป็นการละเมิดสิทธิสตรีคือทหารพรานหญิง คนที่ไม่รู้ความจริงก็เชื่อ จึงไม่สามารถเพิกเฉยเรื่องนี้ได้ แนวทางการแก้ปัญหามีมากมาย เลือกใช้กฎหมายปกติในการพิสูจน์ความจริงว่ารายงานฉบับนี้เป็นจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ ไม่เคยคิดว่าเอ็นจีโอคือศัตรูกับรัฐ สิ่งที่เกิดครั้งนี้รัฐไม่มีทางเลือก อาศัยกระบวนการยุติธรรมมาพิสูจน์ ถ้าไม่เป็นเรื่องจริงแล้วเขียนมาเพื่ออะไร ได้แจ้งความกับบุคคลฐานะเผยแพร่ดังกล่าว อีก 50 ปี หากไม่มีการเปิดเผยความจริงคือ บาดแผลของชายแดนใต้ที่ลูกหลานได้รับรู้ จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ หากรัฐผิดพลาดพร้อมตรวจสอบและแก้ไข จึงต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพราะเสียหายไปทั้งประเทศ

สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า หวังว่าเมื่อได้รับการชี้แจงแล้วจะเห็นด้วยกับการดำเนินการคือการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับนักสิทธิมนุษยชนที่มีผอ.เป็นพลเรือน เป็นเรื่องของการรักษาความมั่นคง การเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุย แสวงหาข้อมูลเพื่อไปแก้ไข ในรายงานนี้ของปี 2557-2558 บอกเพียงรายละเอียดที่เป็นคำพูดแล้วจบ หลักฐานหาย ไร้ร่องรอย ผู้บริหารใหม่พยายามแก้และเยียวยาเรื่องเก่า เพื่อดำเนินการกับคนทำผิด และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน

“สิ่งที่ดำเนินการครั้งนี้เป็นการฟ้องหมิ่นประมาท ไม่ใช่การปกป้องแม่ทัพ หรือใครๆ รายงานนี้ส่งความเสียหายต่อคน 4 กลุ่มคือ 1.เจ้าหน้าที่รัฐที่มุ่งแก้ปัญหาอย่างจริงใจ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้พยายามแก้ การบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้ามีจริงเราแก้ได้ รายงานลักษณะนี้ทำให้ข้าราชการดีๆ ที่ตั้งใจทำงาน ถูกกล่าวหา เสียกำลังใจ ถูกดูหมิ่นในการทำงานซักถาม 2.กอ.รมน. ถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมาน เราพยามแก้ แต่มีคนพยามขัดขวาง 3.รัฐบาลพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี เมื่อรายงานถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก รัฐบาลถูกเกลียดชังจากทั่วโลก ไม่มีความเป็นธรรม 4.เป็นอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ คนที่จะเป็นอาร์เคเค ไปซุมเปาะ มีคนมาพูดเรื่องเลวร้ายของรัฐให้มากที่สุดเพื่อสร้างความเกลียดชัง ให้รู้สึกต่อสู้รัฐ เหมือนสร้างเครื่องจักรมนุษย์

ความเสียหายคือการเผยแพร่ที่ไม่มีการตรวจสอบ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้สำนักข่าวกรองหาข้อมูลเพื่อจะได้ไปพูดคุยกับทุกรายที่มีในรายงานที่คนทำรายงานบอกว่ามีอยู่จริง คณะกรรมการฯ ต้องมาคุยกันถึงกระบวนการเข้าไปหาเคส ซึ่งทาง ศอ.บต.ได้มีคำสั่งคณะกรรรมการฯ มีจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 พร้อมคุ้มครองพยานทั้งหมดหากมีการตรวจสอบ และมีการเพิ่มบุคคลและองค์กรตรวจสอบได้ แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมควบคู่กันไป คณะกรรมการทำงานไปพร้อมกัน ถ้าเล่มแดงนี้ไปอยู่ในปอเนาะหรืออุตตาซที่ไม่หวังดี ไปสร้างอาร์เคเคสักสิบคน ไม่มีความยุติธรรมกับคนบริสุทธิ์ พยายามติดต่อคนทำรายงาน เราพร้อมช่วยกันแก้ไขที่ต้องการแก้ไข ปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า กระบวนการยุติธรรมคือการร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง หากมีอยู่จริงให้นำเสนอออกมา จะได้นำไปสู่การตรวจสอบ คณะกรรมการสิทธ์ฯ บอกว่าหากได้รับข้อมูลจะลงมาตรวจสอบทันที ศูนย์ซักถามฯ ก็ติดวงจรปิดทั้งหมดแล้ว ทางเดียวคือ กระบวนการยุติธรรมเป็นหนทางเดียวในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี”

ด้าน พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ รองเลขาธิการกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า พร้อมรับฟังรายงานวิจัยและความเป็นจริงทั้งหมด พร้อมทำตามในกรอบของการมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งควรคุยกันด้วยการปรองดองก่อน เมื่อมีการรายงานการซ้อมทรมาน รัฐที่ดีจะต้องนำมาตรวจสอบ เมื่อมีครั้งที่ 2 ก็ต้องไปตรวจสอบ แต่ลงท้ายรายงานนี้ยังบอกว่า ประเทศไทยยังมีการซ้อมทรมาน ประเด็นของการสร้างความเข้าใจผิดนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง เราจะเดินไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรม สามัคคี เมื่อความจริงมาเราจะนำคนผิดมาลงโทษ คนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยา ให้เดินไปสู่สิ่งที่ทุกคนหวังและต้องการ

ตัวแทนของศูนย์ซักถามฯ กล่าวว่า มีเพียง 18 รายที่พอหาตัวตนได้ ศูนย์ซักถามฯ รับประกันว่า ไม่มีการทรมานเพื่อให้ยอมรับ เพราะนำข้อมูลนั้นไปใช้ไม่ได้ พร้อมยินดีให้ทุกคนไปดู การจะได้ข้อมูลต้องให้มีความสนิทใจก่อน บางรายบอกว่าไม่ทราบว่าผู้ทำรายงานจะเอามาเปิดเผย คิดว่าเป็นการพูดคุยกัน รวมทั้งข้อมูลที่เลื่อนลอย ส่วนการที่บอกว่าปัจจุบันยังมีการซ้อมทรมาน ต้องไปดูว่าผู้ต้องสงสัยถูกซ้อมทรมานในชั้นไหน ขั้นจับกุม หรือในขั้นถูกควบคุม เพราะในการจับกุมบุคคลอันตราย บางครั้งเจ้าหน้าที่ถูกยิงมาหลายครั้ง

ในการหารือแลกเปลี่ยน นางรอซีดะห์ ปูซู สมาชิกกลุ่ม PAW กล่าวว่า เห็นเจตนารมณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลยุคนี้ได้ทำในสิ่งที่รัฐบาลชุดอื่นทำไม่ได้ เช่น การปราบปรามผู้มีอิทธิพล เรามาเพื่อบอกว่าเห็นอีกหลายปัญหาเพื่อเดินไปด้วยกัน ประชาชนคือตัวจริงเสียงจริง เชื่อว่าการซ้อมทรมานยังมีอยู่ เมื่อมีเสียงเหล่านี้ต้องยอมรับ คนที่ทำผิดต้องรับผิดชอบในการทำงานของเขา จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้น อยากเห็นการพูดคุย ไม่อยากเห็นการขยายความขัดแย้ง อยากมีการร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน เมื่อได้รับข้อมูลแล้วจะร่วมมืออย่างไรไม่ให้สถานการณ์เหล่านี้ขยายวงออกไป เช่นเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ที่บอกความรู้สึกเชิงลบกับคนทำงานในชายแดนใต้ว่าเป็นแนวร่วม ประชาชนรู้ว่าใครทำงานเพื่อใคร และชื่นชมรัฐการใช้ในการชี้แจงข่าวสารความเป็นจริง รวมทั้งคนที่พูดความจริงต้องไม่ตาย

นางสาวลม้าย กล่าวเพิ่มเติมว่า การไม่ให้ข้อมูลบางรายของคนทำรายงานเพื่อปกป้องผู้ให้ข้อมูลหรือไม่ มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ทำโดย CSO เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐและคนคิดต่างจากรัฐเห็นและยอมรับ เราจึงเสนอพิจารณาว่า มาพูดคุยกัน เพื่อให้มีโอกาสรับฟังข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย

จากนั้น นางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ อ่านจดหมายเปิดผนึก

พลตรีชินวัฒน์รับจดหมายเปิดผนึกและหารือร่วมกันว่า รัฐควรหาทางออกอย่างไรในการแสวงหาความจริงต่อสังคมและระหว่างประเทศ และจะร่วมกันปกป้องศักดิ์ศรีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้อย่างไร

“สันติภาพโดยสาระคืออะไร หากสันติภาพคือข้อบ่งชี้ของการอยู่ร่วมกันโดยปกติสุขของสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความเกลียดชังคือความไม่ปกติสุข คือการทำลายสันติสุข พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวด ทำอย่างไรให้หนังสือเล่มแดงเล่มนี้ถูกเผาทิ้ง แต่วันนี้เล่มนี้ไปเผยแพร่ที่ไหน เกิดความเกลียดชังแห่งประชาชาติขึ้นมาอีก วงรอบแห่งความรุนแรง คำบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์เชิงบาดแผล อันตรายมากต่อพื้นที่ที่จะเดินไปสู่สันติสุข จนตัดสินใจแสวงหาความจริงจากกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่วงจรความรุนแรงอีกหลายรอบ หากมีทางออกที่ดีที่สุดพร้อมถอนฟ้องทันที เพื่อให้เกิดสันติสุข”