มองกระบวนการสร้างสันติภาพผ่านนโยบายทุ่งยางแดงโมเดล
: ข้อต่อบางแง่บางมุมที่ (รัฐ) ต้องทบทวน[1]
เรียบเรียง : ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ผู้บริหารโรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา
นักวิชาการ/นักวิจัยอิสระ
เมื่อมองถึงกระบวนการสันติภาพ หลายต่อหลายครั้งเรามักตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่เราจะไปถึงหากสถานการณ์และเงื่อนไขก่อเกิดขึ้นมากมายภายใต้บริบทที่แปรเปลี่ยนไปทุกวี่วันเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่เราก็มิอาจทราบได้เลยว่าจะทำให้กระบวนการสันติภาพสู่เป้าหมายได้สำหรับมากน้อยแค่ไหน คือ งบประมาณ แต่เชื่อเหลือเกินว่าการทุ่มงบประมาณผ่านนโยบายโมเดลต่างๆคงมากพอ พอที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ แต่อยู่ที่ว่าผู้กุมกระบวนการเดินต่อนั้นจะสร้างสันติภาพระหว่างทางอย่างไร
ผู้เขียนร่วมกับ ดร.สุไรยา หนิเร่ และคุณมูฮำหมัดราพีร์ มะเก็ง (นักวิชาการ/นักวิจัยในพื้นที่ฯ) มีโอกาสได้ศึกษาถึงมุมมองประชาชนต่อนโยบายภาครัฐที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษา“ทุ่งยางแดงโมเดล” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจที่อยากให้เราทุกคนต้องมานั่งทำความเข้าใจและร่วมกันผลักดันข้อต่อสำคัญของโมเดลต่างๆในพื้นที่ต่อไป คือ บทเรียนจากการศึกษามุมมองของประชาชนต่อนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ได้ชี้ให้เห็นว่า
มุมมองของประชาชนในพื้นที่มองว่า ด้วยตัวนโยบายถือเป็นนโยบายที่ดี เพราะนโยบายนี้กำหนดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาและป้องกัน แต่คนที่รับรู้และรับทราบเองโดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ ประชาชนมองว่าถ้าจะสร้างนโยบายได้จริงคือต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนสามารถมองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนสนับสนุนระหว่างกัน ซึ่งจะพบว่า สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ปี 2558 ที่ต้องเร่งด่วนในการดำเนินการในด้านการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยที่มุ่งลดเหตุรุนแรงในพื้นที่เป้าหมายหรือกลุ่มเป้าหมาย ลดพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน ชุมชน โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน ชุมชนให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่พื้นที่เองต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้เห็นถึงนโยบายทุ่งยางแดงโมเดลไปจนถึงยุทธศาสตร์ที่มีความลึกซึ้งอย่างจริงจัง ไม่ใช่มองที่ปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว ตลอดจนต้องสร้างจิตสำนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในในพื้นที่ชุมชนของตนเองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ
สำหรับอีกแง่มุมหนึ่งของคนในพื้นที่นั้นมองว่า ผู้ซึ่งจะอยู่รับหน้าค่อนข้างบ่อยจะเป็นระดับผู้นำท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่มีนโยบายทุ่งยางแดงจะเห็นได้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามามากในชุมชน ทำให้ชุมชนเองในฐานะพื้นที่ทำหน้าที่เตรียมต้อนรับกันค่อนข้างบ่อย ทั้งที่มาแบบทางการและไม่เป็นทางการ โดยที่ระดับชาวบ้านธรรมดาแค่รับรู้ว่ามีนโยบายนี้ในพื้นที่ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาหรือวัตถุประสงค์โดยลึกแล้วไม่ค่อยมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่นัก ซึ่งภาพรวมของการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นชาวบ้านยังคงมองเป็นเรื่องปกติอยู่ การใช้ชีวิตก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะสุดท้ายแล้วตัวของชาวบ้านเองก็ต้องมีการระวังตัวเองและคนรอบข้างอยู่แล้วตลอดเวลา
ในขณะที่บางแง่มุมชาวบ้านยังคงรู้สึกถึงความปกติเฉกเช่นเดิม ยังไม่มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง หรือว่าเพิ่มเติมแต่อย่างใด เวลาผ่านไป 1 ปี ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีความพิเศษอะไรเกิดขึ้นมาบ้างเลย ไม่รู้ว่าหน้าตาของทุ่งยางแดงโมเดลที่เป็นกระแส ณ เวลานี้ อะไรบ้างที่พอจะเห็นความเป็นรูปธรรม ทั้งที่ตามความเข้าใจ คำว่า “โมเดล” ในความคิด คือมันต้องดีกว่าที่อื่น ต้องมีความพิเศษกว่าที่อื่น แต่สิ่งที่เห็นมีเพียงเสียงประกาศ กับตัวอักษรที่อยู่บนกระดาษที่เป็นลักษณะลายลักษณ์อักษรที่ติดตามป้ายประกาศเท่านั้น
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นต้องยอมรับว่าถึงแม้จะมีมาตรการคุมเข้มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่การระวังตัวเองยังต้องมีความพร้อมในการระมัดระวังทุกเวลา ดังเช่นการใช้ชีวิตในการทำงานของคนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพการเกษตร เช่นการกรีดยางจะเห็นได้ว่าการทำงานของชาวบ้านเองก็จะต้องมีการปรับตัวเข้าหาปัจจุบันด้วยเช่นกัน การเริ่มต้นทำงานของทุกๆ เช้าจากที่ต้องตื่น ตี 1 หรือ ตี 2 ในการเริ่มไปกรีดยาง ก็ต้องปรับช่วงเวลากลายเป็นตอนหัวรุ่ง ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาทและความปลอดภัยของตัวเองเมื่อมีการปรับตัวเองจากสิ่งที่เคยทำมาสภาวะจิตใจก็ต้องส่งผลเป็นเงาตามตัวไปด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดความกลุ้มใจต่อรายได้ที่จะได้มาจุนเจือคนในครอบครัว ยิ่งครอบครัวที่มีลูกหลายมากส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านเลย เช่นอนาคตการศึกษาของลูกๆ เรื่องสุขภาพ ความรักความเอาใจใส่ต่อสมาชิกในครอบครัวที่ควรจะได้รับเพื่อเป็นเกราะป้องกันในยามต้องเผชิญกับสังคมภายนอก ซึ่งผลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (2556) เรื่องมุมมองของประชาชนชายแดนใต้: ความหวังในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเหงาแห่งสันติภาพ ที่พบว่า ประชาชนระบุว่าปัญหาที่สำคัญในระดับชุมชนก็คือปัญหายาเสพติด การว่างงาน และปัญหาความไม่สงบ ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องประชาชนยังมีความวิตกกังวลในเรื่องการงานเป็นลำดับต้นๆ ของปัญหาถึงแม้จะเป็นห่วงในเรื่องปัญหายาเสพติด แต่หากมีงานทำ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้ ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าคุณภาพชีวิตของตนจะดีขึ้นตามลำดับ และจากการสัมภาษณ์สะท้อนเห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนในการดำเนินอยู่เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่รีบเร่งในการแข่งขันเหมือนคนที่อยู่ในชุมชนเมือง ทำให้รู้สึกว่าความเป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร เช่น กรีดยาง ทำสวนผลไม้ตามสภาพอากาศและสภาพพื้นดินเอื้อต่อการเจริญงอกงามออกดอกให้ผลทำก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม ปลูกผักสวนครัวรอบบ้านเพื่อไว้บริโภคกันเองภายในครัวเรือน และแบ่งปันท่านอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านกัน เห็นการหยิบยื่นน้ำใจ การช่วยเหลือในยามที่อีกคนเกิดความลำบากต่อกัน งานบุญงานชุมชนก็จะมีการแบ่งหน้าที่การทำโดยผ่านการพูดคุยของผู้นำในพื้นที่ๆเกี่ยวข้อง มีการแบ่งงานกันทำ มีหน้าตาที่เปื้อนรอยยิ้ม มีการร่วมมือกัน เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เกิดความจริงใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในชุมชน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือภาพชุมชนที่เห็นและสัมผัสได้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนความรักความสามัคคีมันมีอยู่ก่อนแล้ว
“ทุ่งยางแดงโมเดล” ด้วยนโยบายนี้ทำให้อำเภอแห่งนี้เป็นที่น่าสนใจและจับตามองอย่างใกล้ชิดของทุกๆฝ่าย ทำให้หลายๆ หน่วยงานทุกภาคส่วนลงพื้นที่กันอย่างฝุ่นตลบ และแน่นอนงบประมาณต่างๆ ที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ย่อมต้องมาก การประกาศว่ามีงบประมาณ มีโครงการที่ค่อนข้างมากนั้น เช่น ด้านการส่งเสริมอาชีพ การรักษาความปลอดภัย เอาเข้าจริงแล้วไม่รู้ว่างบที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน พัฒนาในภาคส่วนใดไปแล้วบ้าง?
ดังนั้น ข้อต่อสำคัญส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นการสร้างกระบวนการสันติภาพได้บ้างแค่รู้จักก้าวและทำอย่างจริงจังหลังจากนี้ คือ การศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากการนำนโยบายทุ่งยางแดงมาใช้ในพื้นที่ ตลอดจนการศึกษาการมีส่วนร่วมต่อนโยบายดังกล่าวของประชาชนในพื้นที่ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจอย่างไม่มีอคติว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวต่อนโยบายภาครัฐต่างๆที่ได้ดำเนินการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนที่โมเดลต่างๆจะผุดขึ้นมาให้ได้มีความหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อนั้นเราอาจมองเห็นแสงไฟส่องถึงเส้นทางกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
สุรชัย ไวยวรรณจิตร สุไรยา หนิเร่ และมูฮำหมัดราพีร์ มะเก็ง. (2558). รายงานวิจัยเรื่องมุมมองประชาชนต่อนโยบายภาครัฐที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษา“ทุ่งยางแดงโมเดล”. สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า. |
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. (2556). มุมมองของประชาชนชายแดนใต้: ความหวังในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเหงาแห่งสันติภาพ. บทวิเคราะห์เดือนเมษายน 2556.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้สถานวิจัยความจัดแย้งและความลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี.
|
[1] บางส่วนของบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๘