Skip to main content

“จอน อึ้งภากรณ์” จวกสวนกระแสโลก เร่งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งๆ ที่หลายประเทศเลิก-ลด ประชุมอนุกก.กสม.ซัดกันหนัก นักวิชาการข้องใจ-ตั้งคำถามมากมาย ผู้แทนกฝผ.แจงยิบ-พลังงานทดแทนต้นทุนสูง

 

ภาพถ่าย : ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเทพา ร่วมกันติดป้ายคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้อนรับการจัดงานเทพามหาสนุกที่สนับสนุนโดยกฟผ.โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยคุมเข้ม(ขอบคุณภาพจากเทพาบิชนิวส์)

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองซึ่งมีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการกสม.เป็นประธานได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายดิเรก เหมนคร และชาวบ้านจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมชุมชนและกรณีที่แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถูกข่มขู่คุกคาม โดยมีฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ว่าที่พันตรี อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ (อสค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านที่เป็นผู้ร้องเรียน

ทั้งนี้ในช่วงแรกผู้แทนกฟผ.ได้นำเสนอข้อมูลของโครงการโรงไฟฟ้าเทพาและท่าเทียบเรือ โดยอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างเพราะปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีมากกว่าการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาต้องอาศัยไฟฟ้าจากภาคกลางและซื้อจากมาเลเซีย ทั้งนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ใช้เทคโนโลยีสะอาด ขณะที่ท่าเทียบเรือซึ่งยื่นออกไปในทะเล 3 กิโลเมตรก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“เราไม่กำหนดเขตหวงห้าม ชาวบ้านยังคงทำประมงได้ตามปกติ และเราได้ยกสะพานในบางช่วงสูง 9 เมตรเพื่อให้เรือผ่านไปได้ ขณะที่การกำจัดมวลสารดีกกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ในพื้นที่ที่ใช้ 2,900 ไร่นั้น ที่ต้องใช้เยอะเพราะ 700 ไร่ เราจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชุมชน มีศูนย์ฝึกอาชีพ” ว่าที่พันตรีอนุชาติ กล่าว

นายจอน อึ้งภากรณ์ อนุกรรมการฯ กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะทำให้ประเทศเสียหาย โดยสหราชอาณาจักรมีแผนยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใน 8 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นเดียวกัน โดยในเดือนพฤษภาคมบางวันเขาก็ไม่ใช้ถ่านหินเลย เช่นเดียวกับประเทศโปตุเกสที่บางวันใช้แต่พลังงานทดแทนเท่านั้น หรือกรณีของเดนมาร์กที่บางช่วงเวลาใช้แต่พลังงานลมเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศไทยกับทำตรงกันข้าม แทนที่จะใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่สูง เช่น โซลาฟาร์ม หรือก๊าซธรรมชาติ

“ทำไมเราถึงทำตรงข้ามกับโลก ผมอยากถามว่าได้มีการศึกษาว่าจะมีคนเสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้หรือไม่ อย่างที่สหรัฐฯเมื่อ 12 ปีก่อน มีคนเสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.4 หมื่นคนต่อปี แต่เดี๋ยวนี้ลดลงเหลือ 7 พันคนต่อปี และจากการศึกษายังพบด้วยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้มีการเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทางเลือก ผมจึงอยากให้กฟผ.ศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ด้วย” นายจอน กล่าว

ผู้แทนกฟผ.และทีมที่ปรึกษาได้ชี้แจงคำถามของนายจอนว่า มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่ง อย่างไรก็ตามกฟผ.พยายามใช้พลังงานทดแทน แต่ต้องค่อยๆ ขยับเพราะต้องพิจารณาทั้งด้านความมั่นคงและราคา ตนคิดว่าทุกประเทศยังต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลักแล้วค่อยเพิ่มเติมพลังงานทางเลือกอื่น

“ทุกคนอยากได้พลังงานสะอาด แต่เราอยากให้มองที่ต้นทุนด้วยเพราะหลังงานทดแทนมีต้นทุนสูง หากเรายอมรับพลังงานทดแทนก็ต้องยอมรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย” ว่าที่พันตรีอนุชาติ กล่าว ขณะที่ที่ปรึกษาฯกล่าวว่าได้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและความเสี่ยง แต่ยังไม่ได้มีการประเมินว่าจะมีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ แต่การประเมินค่าความเสี่ยงพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และอนุกรรมการฯกล่าวว่าจากการลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลเท่าที่ควร และเกิดความไม่มั่นใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยชาวบ้านยืนยันว่าทะเลยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากทั้งปลาและเคย แต่กฟผ.บอกว่ามีไม่มาก ขณะที่การจัดเวทีรับฟังความเห็น ชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านก็ไม่ได้มีส่วนร่วม แถมบางส่วนยังถูกคุกคามด้วย ดังนั้นกฟผ.จึงควรรับทราบเพราะหากปล่อยให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเกิดขึ้นเช่นนี้ คงเดินหน้าต่อไปยาก

“20 ปีที่ผ่านมา กฟผ.มีบทเรียนมากมาย ทั้งที่เขื่อนปากมูน แม่เมาะ บ่อนอก-หินกรูด ไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่สำคัญคือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องจริงจังและโปร่งใส หรือเรื่องการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ควรมีการจ่ายค่าเสียโอกาสด้วย” ดร.จตุรงค์ กล่าว

ขณะที่ดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ มอ. กล่าวว่า การให้ข้อมูลต่อภาคประชาชนก่อนเวทีค.ต่างๆ ประชาชนยังมีความเข้าน้อยมากในรายละเอียด ขณะที่ในเวที ค.1มีการแจกข่าวสารเมื่อมีการให้ใบประเมินสีฟ้าซึ่งอาจไม่เหมาะสมต่อโครงการหรือไม่ และก่อนเกิดเวที ค.1และ ค.3 มีการปล่อยข่าวลือว่าคนนอกห้ามเข้า แต่พอถึงเวลากลับเข้าได้ ทำให้คนปัตตานีขาดการเข้าร่วมถึง 31 คน

ดร.สมพรกล่าวว่า ประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตนั้น ทั้งในเรื่องการสร้างบ่อขี้เถ้า 2 บ่อขนาด 740 ไร่ บ่อบำบัดน้ำเสีย ในประเด็นการใช้น้ำจืดน้ำเค็ม กระบวนการบำบัด มีแผนชัดเจนแจ้งประชาชนแค่ไหน เช่นเดียวกับด้านผลกระทบทางอากาศ ซึ่งพื้นที่ศึกษาบอกว่ารัศมี 5 กิโลเมตรนั้น จริงๆแล้วครอบคลุมแค่ไหน ขณะที่ผลกระทบทางทะเลทั้งในเรื่องการจราจรของเรือขนถ่านหิน เรือประมงในพื้นที่ เส้นทางจากนราธิวาส ปัตตานี เทพา ส่งผลต่อชาวประมงในภาพรวมอย่างไร และสะพานที่ยาว 3 กิโลเมตร ส่งผลต่อการกัดเซอะชายฝั่งในระยะยาวอย่างไร

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ กำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ ทำไมจึงต้องเร่งรีบสร้างในภาคใต้ถึง 2-3 โรง รวมกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ภาคใต้ขาดไฟฟ้าแค่ไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมต้องเร่งสร้างพร้อมๆ กันในอีก 3 ปีข้างหน้าทั้งๆที่มีความขัดแย้งในพื้นที่” ดร.สมพรกล่าว

ด้านนายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ชาวบ้านได้ตั้งคำถามต่อ กฟผ. ถึงแผนการรองรับชาวบ้านที่จะต้องถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะมีมาตรการแก้ปัญหาต่อชุมชนทั้งหมดอย่างไร ซึ่งแม้ กฟผ. ยืนยันว่าจะไม่ย้ายกุโบร์และมัสยิด แต่เมื่อชุมชนถูกย้ายออกไปนั่นเท่ากับเป็นการทำลายศาสนสถานเช่นเดียวกัน รวมไปถึงโรงเรียนสอนศาสนาหรือปอเนาะที่เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน เป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เพราะเป็นที่ดินวากัพที่ชุมชนร่วมบริจาคและทะนุบำรุงด้วยกันมา ซึ่งไม่สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้ รวมไปถึง

“กฟผ. พยายามอธิบายเรื่องเทคโนโลยีว่าสามารถลดผลกระทบได้ แต่ปัญหาชุมชนชาวบ้านไม่มีความชัดเจนใดๆ ถึงจะมีข้อเสนอให้ชาวบ้านว่าจะชดเชยที่ดินให้ ทั้งวิธีขายที่ดินให้ กฟผ. หรือให้ กฟผ.หาที่ดินแปลงใหม่ให้ แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่สามารถชดเชยความสูญเสียได้ เพราะกว่าจะมีเป็นชุมชนจนถึงทุกวันนี้มันมีมิติหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว” นายดิเรก กล่าว

....ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13347 .