ตั้งวงถกใหญ่สถานการณ์ชายแดนใต้ “ปนิธาน”เผยความรุนแรงผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นักสันติวิธีจี้รัฐเร่งเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ-เลิกปิดข้อเสนอเอกราช อดีต กอส. ชี้ใช้บทเรียน ตปท. ไม่ได้ เสนอภาคประชาสังคมนำคุยกับมาราปาตานี เน้นถกปัญหาการใช้รุนแรง
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13365 .
เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ “กระบวนการสันติภาพ : ความจริงหรือภาพลวงตา?” โดยมีนักวิชาการ นักการทูต คนทำงานภาคประชาสังคม และผู้ที่สนใจประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ เข้าร่วมรับฟังอย่างคึกคัก
ทั้งนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศูนย์ข่าวสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ มีใจความโดยสรุปว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ เวลามองความขัดแย้งเป็นสิ่งมีชีวิต หมายความว่าหากไปทำอะไรกับมันก็จะเติบโตเป็นอีกอย่าง แต่ถ้าเลี้ยงดูด้วยความรัก เสรีภาพ ก็จะเติบโตเป็นอีกอย่าง แล้วความขัดแย้งเป็นแมวได้หรือไม่ เวลาพูดเรื่องความปรองดองหรือความขัดแย้ง หากใช้ด้วยความรุนแรงหรือการกดทับ โอกาสของความปรองดองจะต่ำ แต่หากไม่ยุ่งด้วยความรุนแรงโอกาสความปรองดองจะดีขึ้น ดังนั้นหาคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งมีชีวิต ก็จะสัมพันธ์สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือเลวร้ายได้
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์ของชายแดนใต้มีอะไรเปลี่ยนไปในเส้นทางความขัดแย้งที่ถึงตายในปัตตานี-ปาตานี คือ เหตุการณ์สำคัญทั้งภายในและภายนอก เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ เหตุการณ์ 9-11 รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เป็นพลังจากมหาชน เช่น การลงประชามติแยกอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย นอกจากนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เช่น สึนามิ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อภูมิทัศน์ที่ไม่เอื้อต่อเส้นทางสันติภาพด้วยว่า เหตุการณ์ตากใบ ในปี 2547 เช่นกรณีของมะรอโซที่นำกำลังโจมตีเจ้าหน้าที่นั้น เป็นผลจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ จึงเกิดคำถามว่า เขาเป็นผู้ก่อความรุนแรงหรือเป็นเหยื่อ ดังนั้นจึงไม่สามารถอธิบายความรุนแรงเพียงด้านเดียว
ขณะที่เหตุการณ์ที่เอื้อต่อสันติในปัตตานี/ปาตานีนั้นศ.ดร.ชัยวัฒน์ มองว่า มี 3 เหตุการณ์ คือ 1.การเกิดคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เมื่อปี 2548 ซึ่งภายหลังการทำงานมีการสรุปข้อเสนอนโยบายและแนวทางแก้ปัญหา ทั้งแง่เศรษฐกิจ สังคม และเหตุการณ์ 2.หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวคำขอโทษต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการยอมรับความผิดพลาดโดยผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ และเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก 3.สันติสนทนา ที่มีการวิพากวิจารณ์ว่ามีการพูดคุยแต่ยังมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งการพูดคุยของทั่วโลกก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีที่ไหนหยุดภายในข้ามวัน ยังต้องมีสิ่งที่ทำอีกเยอะเพื่อให้เกิดขึ้น นอกจากนี้
ศร.ดร.ชัยวัฒน์ ได้สรุปบทเรียนของเส้นทางสันติภาพด้วยว่า เป็นเกลียวสองชั้นแห่งความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการ ที่กำลังกลายเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเหมือนกับในหลายประเทศ ที่กลายเป็นความกับดักม้าหมุนของความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ
“อย่ารังแกความขัดแย้งด้วยความรุนแรง เพราะความขัดแย้งต่างหาก คือขุมทรัพย์ล้ำค่าของสันติภาพ ไม่ใช่ปัญหาของสันติภาพ” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวปิดท้าย
ในภาคเช้าเป็นเวทีการอภิปรายหัวข้อ “การรับมือวิกฤติกระบวนการสันติภาพ : ความก้าวหน้าของความรู้”
รศ.ดร.มารค ตามไท กลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรักเชียงใหม่ และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า ไม่มีบทเรียนความขัดแย้งไหนเลยที่นำมาใช้ในชายแดนใต้ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับประเทศใดเลย คือ หนึ่ง การปกครองระบอบกษัตริย์แบบไทย ที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญมากกว่าประชาชน และฝ่ายขบวนการก็มองเช่นนี้ สอง ลักษณะสังคมไทยควรอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงสังคมที่ผ่านมาเป็นเพียงผิวเผิน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสังคมมองเพื่อนร่วมชาติอย่างไร
รศ.ดร.มารคกล่าวอีกว่า กระบวนการพูดคุยควรคิดในกรอบใหม่ คือให้ภาคประชาสังคมขึ้นมาคุยกับฝ่ายขบวนการ โดยไม่ต้องสนใจรัฐที่มีเป้าหมายต่างกัน สิ่งแรกที่ควรถกคือ ความรุนแรงควรนำมาใช้หรือไม่ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ เพื่อสร้างระบบป้องกันกันเอง เมื่อกระบวนการเดินหน้าไปได้รัฐก็จะเดินเข้ามาเอง
ด้าน ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพมีจุดวิกฤติคือ มีเงื่อนไขที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการนี้ต้องหยุดไป รวมถึงการที่เยาวชนในพื้นที่กำลังเติบโตและซึมซับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทัศนคติที่เกิดขึ้นจะมีพลวัตรต่อกระบวนการสันติภาพหรือกลายเป็นอุปสรรคได้ เพราะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง ดังนั้นสันติภาพจะเกิดขึ้นได้นั้น คนในสังคมต้องข้ามผ่านวงจรความรุนแรงเช่นนี้ให้ได้
ขณะที่ ดร.ศราวุธ อารีย์ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าพูดถึงกระบวนการสันติภาพในต่างประเทศ จะไม่มีความขัดแย้งที่มีสาเหตุเกิดจากปัจจุบัน เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสลาเอล มีเพียงไม่กี่ประเด็นที่ไม่อาจตกลงกันได้ เช่น หากเกิดสันติภาพแล้วผู้อพยพจะมีสิทธิ์กลับบ้านเกิดหรือไม่ เขตแดนต้องอยู่ตรงไหน หรือหากเป็นประเทศเดียวจะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งแนวคิดประเทศเดียวนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ แต่หากยังอยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งปัญหาก็จะไม่จบสิ้น
ดร.ศราวุธ กล่าวต่อว่า ถ้ามองปัญหาของชายแดนใต้ รัฐอาจมองข้ามความเป็นมลายู มองข้ามความเป็นอิสลาม ซึ่งหากรัฐยังไม่สามารถควบรวมให้มีความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ยอมรับและอยู่ร่วมกันได้แล้ว ก็คงไม่สามารถหาทางออกได้ การคิดเรื่องดินแดนจึงเป็นแนวคิดเก่า ที่ควรเปลียนหันมาคิดเรื่องของการอยู่ร่วมกันตามการเป็นรัฐสมัยใหม่
ส่วนในช่วงบ่ายได้มีการอภิปรายหัวข้อ “การฝ่าวิกฤติกระบวนการสันติภาพภาคใต้” โดย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2550 ที่มีเหตุการณ์รวมสูงถึงเกือบ 2 พันครั้ง มีคนตายถึง 652 คน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เห็นพ้องในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบโครงการในการแก้ไขปัญหาจนสถานการร์ดีขึ้น มีการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นฐานเดียวกันทั้งระบบ มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต.) เพื่อบูรณาการการทำงานด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และมีการสานต่อนโยบายพูดคุยสันติสุข โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับปรุงข้อตกลงที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเดินหน้าแนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และดำเนินการแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพลเอกประวิตรก็ได้พูดไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลต้องการพูดคุยกับทุกกลุ่ม
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมณ์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภาคใต้ กล่าวว่า จากจุดสูงสุดของเหตุความรุนแรงในปี 2550 ที่มีเหตุกรร์เฉลี่ย 180-200 ครั้งต่อเดือน และหลังจากปีนั้นค่อยๆ ลดลงเหลือ 50-60 ครั้งต่อเดือน จะเห็นได้ว่าการควบคุมความแปรปวนของเหตุการณ์ที่ทำได้ยากนี้ รัฐมีทั้งมาตรการทางทหารและมาตรการสันติ โดยมีการเพิ่มงบประมาณทางทหารสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะหลังมีการรัฐประหารแต่ละครั้ง ที่ปีล่าสุดใบประมาณทางการทหารสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ซึ่งเมื่อมองจากปี 2549 ที่มีการรัฐประหาร งบที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นความซับซ้อนของสถานการณ์ ที่จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลมีผลกระทบต่อตัวเลขเหตุการณ์ความรุนแรง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ มองว่า แม้รัฐบาล คสช. จะไม่เปลี่ยนแปลงการพูดคุยสันติภาพ และยังการออกประกาศ คสช.ที่ 98 และ 230/2557 ที่ระบุถึงการพูดคุยสันติสุข เกิดโครงสร้างคณะทำงานและมีรายละเอียดที่ชัดเจน ถือเป็นความก้าวหน้าและแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังเดินหน้าเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงคืบหน้าสำคัญทางนโยบาย มีแผนปฏิบัติการที่มีนัยสำคัญในเชิงวาทกรรม เอกภาพ บูรณาการ และประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งมีนโยบาย มีงบประมาณชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวยังมีความเสี่ยงสำคัญที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนระดับล่าง และเป็นแนวทางแก้ปัญหาแบบรวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่าง ที่จำเป็นต้องอาศัยบทบาทของประชาชนและภาคประชาสังคมในการร่วมตรวจสอบ
ขณะที่ รศ.ดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อุปสรรคของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ คือ รัฐกำลังพูดคุยเพื่อเอาชนะ เนื่องจากเกิดภาวะกลัวต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง เกรงจะเพรียงพล้ำในกฏหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่แท้จริงควรยอมรับว่าฝ่ายขบวนการต้องการเป็นเอกราช แต่กลับกลบกลืนความต้องการที่แท้จริงไว้ในการลงนามครั้งแรกที่กรุงกัลลาลัมเปอร์ ที่ระบุว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรรมนูญไทย ซึ่งปีแรกเป็นการสร้างความไว้วางใจ และปีที่สองนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วถามว่าความไว้วางใจเพิ่มขึ้นหรือไม่
รศ.ดร. โคทม กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยว่า รัฐต้องไม่ทำให้คนในพื้นที่รอคอยนานเกินไป ต้องให้เขามีความหวัง รู้ความคืบหน้าของสถานการณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องทำความเข้าใจกับมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น รวมถึงสื่อมวลชน นักวิชาการ ต้องทำหน้าที่ต่อไป ให้เกิดความไว้วางใจ ความหยุ่นตัว ความอดทนในพื้นที่
—————-
....ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13365 .