Skip to main content

 

รัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกี

 

 

สื่อทุกสายได้สรุปตรงกันแล้วว่า รัฐประหารก่อนเที่ยงคืน(เวลาในตุรกี) ได้ล้มเหลวลงแล้ว ผู้ก่อการกำลังถูกจับกุมตัวและดำเนินคดี ... ต่อไปก็คงเห็นการวิเคราะห์เรื่องนี้กันอีกหลายเวที

 

รัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในยุคที่ตุรกีครองเสียงข้างมากที่ค่อนข้างมั่นคงมายาวนาน ทหารไม่น่าคิดว่าจะทำได้ แต่หลายๆ ครั้ง ทหารก็กล้าทำอะไรที่ทวนกระแสได้เช่นเดียวกัน อย่างกรณีของอียิปต์ที่โค่นล้มรัฐบาลเสียงข้างมากของมุรสีย์(ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง) แต่กระนั้นก็ต้องมีปัจจัยเดือดร้อนของประชาชนหนุนพอ ...

 

ปัจจัยหนุนสำหรับตุรกีก็อาจมาจากความรู้สึกว่าประเทศถูกครอบงำโดยออรดูฆอนและพรรคของเขาที่หลายคนมองว่ามีความเป็นอำนาจนิยมจนขวางไม่ได้ รวมทั้งภัยก่อการร้ายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ในรอบปีเดียวมีการก่อก้ารร้ายถึง 8 ครั้ง ในเมืองใหญ่ และมีคนตายไปกว่าสองร้อยคน ครั้งสุดท้ายในเดือนรอมฎอนที่สนามบินอตาเติร์ก อันเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายได้เด็ดขาด นี่คงเป็นที่มาของการรัฐประหาร

 

ความล้มเหลวของการรัฐประหารก็อาจมาจากที่กองทัพไม่ได้เป็นเอกภาพพอ (เพิ่งทราบว่า ผู้นำการก่อการ เป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่หน่วยอื่นๆ อีกหลายหน่วยไม่เอาด้วย ขณะเดียวกันหน่วยกองกำลังพิเศษกลับเป็นแกนหลักในการต่อต้านรัฐประหาร) ซึ่งตรงข้ามกับอิยิปต์ที่กองทัพนั้นผนึกกันเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเด็ดขาด จึงไม่มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ภักดี ไม่เหมือนในกรณีของตุรกี ที่มีการต่อสู้และล้มตายกัน (ตัวเลขเกือบ 50 คน เท่าที่ทราบตอนนี้) ... เป็นการต่อสู้ขัดขวางจากฝ่ายที่จงรักภักดีต่อประธานาธิบดี (ตามข่าวขนาดใช้เอฟ 16 ยิงฮ.ของฝ่ายรัฐประหารตก)

 

การต่อต้านการรัฐประหารได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนออกมาเดินบนถนน หยุดรถถัง ครองพื้นที่สนามบิน และยึดสถานีโทรทัศน์คืนมาได้ (ทหารจำนวนมากอ่วม เพราะโดนสหบาทา แต่ในคลิปก็จะเห็นมีการห้ามปราม ดึงตัวคนที่ไปทุบตีทหารออกมา แสดงว่า มีความพยายามหักห้ามอารมณ์กันพอสมควร เรื่องถึงไม่รุนแรงนองเลือดกันเกินไป)

 

ในรายงานข่าวยังบอกอีกว่า ขณะที่ก่อการนั้น มัสญิดต่างๆ ได้ออกมาส่งเสียงอาซานกันอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงปืนที่ยิงต่อสู้กัน แสดงให้เห็นถึงวิธีการขัดขืนการรัฐประหารอย่างสันติ

 

#คำถามมากมายต่อการรัฐประหารครั้งนี้ เช่น

 

... ความกล้าของกลุ่มที่ทำการรัฐประหารในห้วงเวลาแบบนี้ มันเหมือนคนโง่ แสดงถึงต้องมีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลัง มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ของประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็นปฏิปักษ์กับตุรกีและไม่ต้องการเห็นการขัดขวางแผนงานของตนจากตุรกีในซีเรียและประเทศอื่นๆ (เรื่องนี้คงมีบทวิเคราะห์ตามมาอีกมากมาย)

 

... คำถามยังไปถึงฝ่ายอิสลามกับการทำงานการเมืองผ่านเสรีประชาธิปไตยที่มีปัญหามาหลายทศวรรษ (อาจไปถึงศตวรรษ) ในโมเดลของตุรกี ซึ่งสามารถแสดงคุณค่าแบบอิสลามออกมาได้อย่างมากผ่านประชาธิปไตย พร้อมกับมีคำถามต่อเรื่องต่างๆ ที่ยังค้างคาใจคนอีกมากมาย ... โมเดลนี้กลายเป็นความหวังของหลายประเทศ และกำลังถูกท้าทายอยู่ตลอด #จากทั้งเซ็คคิวลาร์สุดโต่งและอิสลามิสต์สุดขั้วอย่างไอสิส(ดาอิช) ... โมเดลนี้ต้องการการปฏิรูปแบบไหนเพื่อรับมือกับการท้าทายต่อไป

 

โมเดลของตุรกีและที่หลายประเทศกระทำคล้ายคลึงกัน(อย่างตุนีเซีย, มอร็อคโค) เป็นความพยายามให้ฝ่ายอิสลามได้มีส่วนร่วมทางการเมืองกับฝ่ายต่างๆ ทั้งสังคมนิยม ชาตินิยม และผู้ไม่ใช่มุสลิม อย่างเข้าใจกัน ผ่านกระบวนการประชาธิบไตย ฝ่ายอิสลามที่เสนอเรื่องนี้ ไม่ได้รณรงค์ด้วยคำศัพท์ว่ารัฐอิสลาม แต่ใช้คำว่า "รัฐของทุกคน"

 

อุละมาอ์หลายท่านให้มุสลิมต่อสู้ผ่านระบบประชาธิปไตยอย่างสะอาด ไม่ได้หมายความว่าให้ปฏิบัติต่อประชาธิปไตยในแบบ "ความศรัทธา" แต่เชื่อในประชาธิปไตยในแบบ "คำมั่นสัญญา"

 

กรณีของอิยิปต์(การรัฐประหารของนายพลซีซี) คือการทำลายคำมั่นสัญญา รัฐที่ล้มเหลวของเรื่องคำมั่นสัญญา(อะมานะฮฺ หรือ trust) ไม่อาจไปกันได้เลยกับเจตนารมณ์รัฐในแนวคิดอิสลาม

 

โมเดลเรื่องมุสลิมในพื้นที่การเมืองที่ดึงจากคำสอนอิสลามนั้น จึงถูกตีความใหม่(อิจญติฮาด) จากอุละมาอ์หลายท่าน ซึ่งจะต้องหาความหมายใหม่ๆ เพื่อปฏิรูปต่อไป เพื่อให้รัฐสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข ไม่ใช่รัฐที่ตกอยู่ในท่ามกลางความหวาดกลัวและหิวโหย เพราะนั้นไม่ใช่รัฐที่อิสลามปรารถนาจะให้เป็น

 

#ดุอาอ์ให้ตุรกี

 

ปล. จากภาพ การต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ ประธานาธิบดีถ่ายทอดสดมาจากเฟส เพราะสื่อต่างๆ ของรัฐโดนยึด