Skip to main content

10 คำถามถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ หายนะใหม่แห่งชายแดนใต้

ฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas)

 

โครงการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำบ่อ บนเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่  เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งที่สามที่มีการเปิดตัวไปแล้วจากที่วางแผนที่จะสร้างเพิ่มเติมตามแผน PDP 2015 ไว้ถึง 9 แห่ง ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เปิดตัวไปแล้วคือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 870 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ส่วนที่ปะนาเระ ได้ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าในเบื้องต้นไว้ที่ 1,000 เมกะวัตต์ งบประมาณการก่อสร้าง 70,000 ล้านบาท พร้อมท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ยื่นออกไปในทะเล 3.6 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระนี้ มีการผลักดันออกมาอย่างรีบเร่งรวบรัด ส่งผลให้เกิดข้อคำถามมากมาย นี่คือคำถาม 10 ประการ ที่ประชาชนสงสัย แต่ยังไม่มีใครตอบ

 

  1. มลพิษจะมากมี เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เท่า  โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระจะต้องใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 11 ล้านกิโลกรัม หรือวันละ 11,000 ตัน ซึ่งเท่ากับขนถ่านหินมาเผาด้วยรถสิบล้อวันละ 500  คัน โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 7 พันล้านตันต่อปี ปล่อยก๊าซกำมะถัน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดฝนกรด มีปริมาณโลหะหนักปะปนมากับถ่านหินที่นำเข้าปีละกว่า 120,000 กิโลกรัม มลพิษเหล่านี้จะฟุ้งกระจายทั้งในอากาศ ในดิน ในน้ำ ในทะเล นี่จะไม่เป็นการซ้ำเติมไฟถ่านหินเข้าไปโหมความทุกข์จากสถานการณ์ไฟใต้ให้คนชายแดนใต้หรอกหรือ
  2. ทะเลจะเสื่อมโทรม การขนถ่ายถ่านหินต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกยื่นออกไปในทะเลกว่า 3.6  กิโลเมตร  ต้องมีเขื่อนทิ้งหินเพื่อเป็นจุดนำน้ำเข้าโรงไฟฟ้ามาหล่อเย็น มีการระบายน้ำทิ้งจากการหล่อเย็นและการกำจัดก๊าซกำมะถันลงทะเลวันละกว่า 4 ล้านคิว ชายหาดแฆแฆที่สวยงามจะถูกกัดเซาะ ทะเลปะนาเระอันอุดมสมบูรณ์จะเสื่อมโทรม ชาวประมงในพื้นที่จะอยู่อย่างไร  
  3. ทำไมต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างถึง 5,000 ไร่  ทั้งๆที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,200 เมกะวัตต์ ยังมีการกันพื้นที่น้อยกว่าเพียง 3,000 ไร่  แต่ของปะนาเระขนาด 1,000 เมกะวัตต์ทำไมใช้พื้นที่มากกว่า นักวิชาการยืนยันว่า พื้นที่ 5,000 ไร่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างน้อย 5,000 เมกะวัตต์สบายๆในอนาคต  นี่คือเหตุที่กันพื้นที่ถึง 5,000 ไร่ใช่หรือไม่
  4. ภาคใต้ตอนล่าง มีโรงไฟฟ้าจะนะแล้ว 1,460 เมกะวัตต์ กำลังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอีก 2,200 เมกะวัตต์ รวมแล้วกว่า 3,660 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่ภาคใต้ทั้งภาคใช้ไฟฟ้าประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าส่วนเกินนั้นเอาไปไหน หรือเอาไว้สำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ปัตตานีและนราธิวาส
  5. แม้ภายในพื้นที่ 5,000 ไร่จะมีบ้านเรือนเบาบาง แต่รอบๆพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินล้วนเป็นชุมชนใหญ่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก ผลกระทบในรัศมี 50 กิโลเมตร จะส่งผลต่อประชากรในอำเภอปะนาเระ 45,000 คน สายบุรี 68,000 คน ยะหริ่ง 85,000 คน มายอ 58,000 คนและ อำเภอเมือง 127,000 คน รวมจะมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 380,000 คน ผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินมีกว้างขวาง ถ้าดีจริง ทำไมไม่ถามคนปัตตานีทั้งจังหวัด
  6. “โรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามา คนจะมีงานทำ” ประโยคนี้หลอกลวง เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินมีการจ้างงานอย่างมากเพียง 300 คน ครึ่งหนึ่งเป็นวิศวะและนายช่าง ชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นเพียงยาม คนสวนหรือพนักงานทำความสะอาด ไม่เกิน 100 คน นี่หรือทำให้คนมีงานทำ เป็นการหลอกลวงโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า คนที่สูญเสียอาชีพมีมากกว่าคนที่ได้งานค่าแรงวันละ 300 บาท นี่หรือการพัฒนา
  7. เขื่อนสายบุรี ที่บ้านกะดูนง ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งพับโครงการไปนานแล้ว อาจจะถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะตามมาในพื้นที่ ที่บอกว่าปะนาเระจะเจริญ สร้างความเจริญให้กับสามจังหวัดนั้น คำว่าเจริญแปลว่าอะไร ความเจริญในมุมมองของรัฐและทุนคงหนีไม่พ้นการพัฒนาชายแดนใต้ไปสู่อุตสาหกรรมหนัก เขื่อนสายบุรีจะคืนชีพหรือไม่
  8. การเข้ามาของโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระที่ก่อมลพิษมหาศาล ย่อมทำให้อุตสาหกรรมฮาลาลล่มสลายโดยอัตโนมัติ ใครจะมาลงทุนโรงงานอาหารฮาลาล จึงไม่แปลกที่การนิคมอุตสาหกรรมออกประกาศให้ยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลไป ถ้าถ่านหินสะอาดจริง จะยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลไปทำไม  
  9. ทางราชการบอกว่า” โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระเป็นความต้องการของคนในพื้นที่” ชาวบ้านจึงถามว่า “เขาถามกันตอนไหน สร้างกระบวนมีส่วนร่วมตอนไหน คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นมีใครรู้เรื่อง” ศอ.บต.เขียนรายงานหลอกลวงสภานิติบัญัติแห่งชาติ เพื่อให้เห็นชอบผลักดันโครงการออกมาอย่างรวดเร็ว ทำไมต้องรีบเร่งขนาดนี้ หรือเพื่อที่จะเอาให้ได้ในยุค คสช.
  10. กฟผ.บอกว่า “ตนไม่เคยนำเสนอโครงการนี้ เป็นโครงการที่ ศอ.บต.เสนอ” แต่ กฟผ.ก็เงียบและไม่เคยออกมาปฏิเสธว่า กฟผ.จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ปะนาเระ นี่คือการเล่นละครกันใช่หรือไม่ ให้ ศอ.บต.เสนอกรุยทางให้ก่อน แล้ว กฟผ.ค่อยเข้ามาทีหลัง จะได้ไม่เจ็บตัวไม่บอบช้ำมากนักใช่หรือไม่

วิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดนั้นมีศาสนาเป็นเครื่องชี้นำชีวิต สถานการณ์ความไม่สงบยังทรงๆไม่ดีขึ้น การคิดจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระอย่างรวบรัดตัดตอน ย่อมสร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมต่อคนพื้นที่ เป็นการสร้างเงื่อนไขโหมไฟใต้ เป็นการผูกเงื่อนปมปัญหาความไม่สงบที่แก้ยากแล้วให้มีปมใหม่ผูกเข้ามาอีก ทำให้ยิ่งแก้ยากขึ้นไปอีก ทำไมทางราชการจึงเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระมาทับถมสร้างความทุกข์เพิ่มให้คนพื้นที่

จึงขอเชิญชวนพี่น้องทุกคน ร่วมใจหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ ก่อนที่จะเป็นหายนะใหม่ของชายแดนใต้

@@@@@@@@@@@@@@@@@@