Skip to main content

มองรัฐประหารตุรกีผ่านทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)

อับดุลเราะมัน มอลอ

นับตั้งแต่เวลา 22:00 น. โดยประมาณตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ทั่วโลกต่างจับจ้องไปยังกระแสข่าวรัฐประหารในประเทศตุรกี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าปัญญาชนมุสลิมผู้นิยมในรัฐศาสตร์อิสลาม (Islamist Politics)

ตุรกีภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี รอยั๊บ ฏอยยิบ อัรดูฆอน (Recep Tayyip Erdoğan) ถือเป็นประเทศมุสลิมที่ได้รับการจับตามองในทุกจังหวะก้าว เนื่องด้วยความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการแสดงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญต่อทุกๆกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมุสลิม ตุรกีจึงเปรียบดั่งประกายแสงเล็กๆในหัวใจของมุสลิมผู้แสวงหาความเป็นรัฐประชาชาติ (Ummatic Nation) -ผู้เขียนขอใช้คำว่ารัฐประชาชาติเพื่อแสดงถึงสถานะที่เหนือกว่ารัฐชาติ (State) แต่ไม่ถึงขั้นรัฐคิลาฟะฮ์ (Khilafah State)-

 

รอยั๊บ ฏอยยิบ อัรดูฆอน (Recep Tayyip Erdoğan เกิดในปี ค.ศ.1954 จบการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนอิหม่ามและฮาติบ (Imam and Hatip School) และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และการพาณิชย์จากมหาวิทยาลัยมาร์มารา (Marmara University) 

อัรดูฆอน เริ่มเป็นที่รู้จักในทางการเมืองหลังชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลในปี 1994 ผลงานสำคัญคือการลดความแออัดของการจราจรและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหานครอิสตัลบูลซึ่งมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน

อัรดูฆอนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตุรกีครั้งแรกใน ปี 2003 ภายใต้พรรคยุติธรรมและพัฒนา (Justice and Development Party) หรือรู้จักกันในชื่อ AK Party หรือ AKP (ตามชื่อย่อในภาษาตุรกี) ซึ่งขณะนั้นได้รับการสนับสนุนจากสหายคนสำคัญคือฟัตฮุลลอฮ กูเลน (Fethullah Gulen) ซึ่งก็คือผู้ต้องหาหมายเลขหนึ่งที่ทางการตุรกีต้องการตัวมากที่สุดภายหลังเหตุการณ์พยายามก่อรัฐประหารในครั้งนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างอัรดูฆอน กับสหายกูเลนถึงจุดแตกหักเมื่อปรากฏข่าวการจู่โจมกวาดล้างคอร์รัปชั่นแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2013 ซึ่งผู้ที่ถูกจับอย่างน้อย 3 คนมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ผลที่ตามมาคือรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

อัรดูฆอนเชื่อว่านี่เป็นแผนการของกูเลนที่ต้องการสั่นคลอนและล้มรัฐบาล จึงตอบโต้ด้วยการสั่งกวาดล้างนักสื่อสาร ทหาร ตำรวจ ที่มีสายสัมพันธ์กับกูเลน และสั่งปิดโรงเรียนเอกชนหลายแห่งในเครือข่ายของกูเลน ในปี 2014 รัฐบาลตุรกีออกหมายจับ ฟัตฮุลลอฮ กูเลน (Fethullah Gulen) และปี 2015 รัฐบาลตุรกีเพิ่มชื่อกูเลนเป็นหนึ่งในบุคคลที่รัฐบาลตุรกีต้องการตัวมากที่สุด

 

ก่อนหน้าการรัฐประหารครั้งนี้  ในปี 2010 ตุรกีตกอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกเมื่อเรือมาวี มาร์มารา (Mavi Marmara) สัญชาติตุรกีซึ่งบรรทุกอาหารและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการบรรเทาทุกข์ไปยังปาเลสไตน์ถูกหน่วยคอมมานโดของอิสราเอลจู่โจมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2010 สังหารลูกเรือไป 9 คน ในจำนวนนี้ 8 คนสัญชาติตุรกี

ตุรกีตอบโต้อิสราเอลด้วยการประกาศเนรเทศทูตอิสราเอลประจำกรุงอังการา และระงับความร่วมมือทางทหารทั้งหมด

และปลายปีที่ผ่านมา 24 พฤศจิกายน 2015 ตุรกีกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของโลกอีกครั้ง เมื่อเครื่องบิน F-16S  ของกองทัพอากาศตุรกีได้ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด SU-24 ของรัสเซียตกบริเวณชายแดนตุรกี-ซีเรีย ซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของกองทัพรัสเซียนับแต่การส่งกำลังพลเข้าประจำการในซีเรียตั้งแต่เดือนกันยายนปีเดียวกัน

ตุรกียืนยันมาตลอดถึงความชอบธรรมในการปกป้องอธิปไตยเหนือน่านฟ้า (Airspace) ของตัวเองและไม่กล่าวคำขอโทษแม้ได้รับการเรียกร้องอย่างจริงจังจากรัฐบาลมอสโกก็ตาม

สถานการณ์มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อรัฐบาลตุรกีที่ยืนยันตลอดมาถึงความชอบธรรมของตนเอง ตัดสินใจส่งจดหมายแสดงความเสียใจไปยังรัฐบาลรัสเซียเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งนับช่วงเวลาได้ 19 วันก่อนเกิดรัฐประหารในตุรกี

นัยหนึ่งอาจเพื่อต้องการฟื้นความร่วมมือระหว่างกันทั้งระดับรัฐบาลและประชาชน นัยหนึ่งอาจเป็นการตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่รัสเซียมีความเกี่ยวข้องกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในตุรกีระยะนี้ และอีกนัยที่อาจเป็นไปได้ที่ตุรกีตัดสินใจกระโดดเข้าหารัสเซียคือ ฝ่ายข่าวกรองพบข้อมูลบางอย่างที่เชื่อได้ว่ามีการเตรียมการก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ซึ่งข้อมูลเชิงลึกอาจพัวพันถึงชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา

แต่แทนที่รัฐบาลตุรกีจะเข้าขัดขวางการเตรียมการรัฐประหารกลับแก้เกมส์ด้วยการซ้อนแผนฟื้นสัมพันธ์รัสเซียเพื่อคานอำนาจกับอเมริกา และเตรียมการเป็นอย่างดีเพื่อปิดล้อมทหารอเมริกาในดินแดนตุรกี

ผลที่ออกมาคือทันทีที่มีความพยายามก่อรัฐประหาร รัฐบาลตุรกีใช้กลไกต่างๆประกาศให้ประชาชนออกมาต่อต้าน พร้อมประกาศเขตห้ามบินเหนือกรุงอังการา (Ankara)  และที่เหนือชั้นคือการประกาศตัดน้ำ ตัดไฟ ห้ามบุคคลเข้า-ออก และประกาศเขตห้ามบิน (No-fly zone) เหนือฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิค (Incirlik Air Base) ซึ่งเป็นฐานปฎิบัติการหลักของสหรัฐในตุรกี

รัฐประหารครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน “ของขวัญจากพระเจ้า” ตามคำให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีอัรดูฆอน เพราะขณะนี้รัฐบาลมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้วประมาณ 6,000 คน ในจำนวนนี้มีนายทหารระดับนายพล 29 ราย พลทหาร 2,839 ราย และเฉพาะในเมืองหลวงกรุงอังการา (Ankara) มีนายตำรวจถูกควบคุมตัวแล้ว 149 ราย ถือเป็นการจัดระเบียบครั้งใหญ่ของรัฐบาลตุรกี

สุดท้ายนี้ด้วยข้อมูลต่างๆที่ผู้เขียนพยายามสืบค้น ผู้เขียนเชื่อว่า การรัฐประหารตุรกีครั้งนี้ไม่ใช่การจัดฉาก แต่เป็นการปล่อยให้เกิดในฉากที่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี

 

Sources:

https://www.rt.com/news/351606-usa-incirlik-base-turkey-blocked/

http://www.aljazeera.com/news/2016/07/thousands-turkish-rally-pro-govern...

http://www.independent.co.uk/news/people/who-is-fethullah-gulen-turkey-coup-president-erdogan-muslim-cleric-who-caused-the-overthrow-attempt-a7140676.html

https://foreign.kachon.com/59569

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000111602

http://www.thairath.co.th/content/648826

http://ansorimas2507.blogspot.com/2014/02/blog-post.html?m=1

https://ssuraiya1.wordpress.com/2013/07/03/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E...

http://www.bbc.com/news/world-middle-east-34912581