ตุลาการผู้แถลงคดีชี้ กองทัพบก สำนักนายกฯ และ สตช. ต้องจ่าย ค่าเสียหาย 1.6 ล้านบาท ให้แก่บิดามารดาผู้ตาย กรณีนายฟรุกอน มามะ เยาวชนถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ที่ยะลา เมื่อปี 2555
เผยแพร่วันที่ 16 กรกฎาคม 2559
ใบแจ้งข่าว
ตุลาการผู้แถลงคดีชี้ กองทัพบก สำนักนายกฯ และ สตช. ต้องจ่าย
ค่าเสียหาย 1.6 ล้านบาท ให้แก่บิดามารดาผู้ตาย
กรณีนายฟรุกอน มามะ เยาวชนถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ที่ยะลา เมื่อปี 2555
********************************************
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 เวลา 14.15 นาฬิกา ศาลปกครองสงขลาได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 54/2556 คดีระหว่าง นายมะวาเห็ง มามะ ที่ 1 นางรูฆาย๊ะ มามะ ที่2 ผู้ฟ้องคดี และ กองทัพบก ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว อันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามใช้อาวุธปืนสงครามยิงนายฟุรกอน มามะ เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 บุตรของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555
ในการพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้รับมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมาศาล ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่มาศาล และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ
ศาลได้เริ่มพิจารณาคดีโดยให้ตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นคดีให้คู่กรณีที่มาศาลและองค์คณะรับฟัง ศาลอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองแถลงด้วยวาจาตามความประสงค์ โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แถลงก่อน แล้วให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 แถลง และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองแถลงสรุป ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของนายฟุรกอน ต่างร่ำไห้คิดถึงลูกในขณะแถลงต่อศาล โดยแถลงเน้นย้ำว่าบุตรชายของตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายใด ๆ และเชื่อว่าบุตรของต้นไม่มีอาวุธปืน ระเบิด และไม่ได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ดังที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กล่าวหา ลูกก็ถูกยิงข้างหลัง พร้อมทั้งเล่าประวัติการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษาเล่าเรียน และอุปนิสัยของนายฟุรกอนโดยละเอียด ทำให้เห็นได้ว่านายฟุรกอนเป็นเยาวชนที่อยู่กับบิดามารดาและญาติพี่น้อง ไม่เคยห่างไกลจากครอบครัว ขยันขันแข็ง เป็นตัวแทนของโรงเรียนในแข่งกีฬาและแข่งทักษะทางวิชาการ ทั้งยังใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปรับจ้างหาเงินมาให้มารดาเก็บไว้ให้เพื่อจะได้ซื้อสิ่งข้าวของเครื่องใช้ที่ตนต้องการโดยไม่ต้องขอเงินบิดามารดา ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต่างก็พูดย้ำหลายครั้งหลายหนต่อศาลว่าต้องการขอความเป็นธรรมให้แก่ลูกชายของตนที่เสียชีวิต เพราะลูกถูกกล่าวหาอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม
หลังจากฝ่ายผู้ฟ้องคดีได้แถลงต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งพิจารณาสำนวนคดีแล้วทำความเห็นโดยอิสระ ได้แถลงการณ์เป็นหนังสือ และแถลงด้วยวาจาต่อตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะ สรุปความได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพราะเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ สำหรับเหตุการณ์ที่มีการยิงปะทะนั้นเจ้าหน้าที่ได้กระทำการป้องกันตนโดยพอสมควรแก่เหตุ ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการกระทำละเมิด แต่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองได้ตาม มาตรา 9 วรรค 1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ใกล้ศพผู้ตายพบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนและกระสุนปืน และมีลูกระเบิดอยู่ในกระเป๋ากางเกงผู้ตาย ก็ตาม แต่ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ไม่พบ DNA ของผู้ตายที่ด้ามปืน ไกปืน ซองกระสุนปืน และที่ลูกระเบิด รายงานการตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ไม่พบสารประกอบวัตถุระเบิดและสารเสพติดจากเสื้อผ้าของผู้ตาย และไม่มีผู้ใดยืนยันว่าเห็นผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ อีกทั้งเพื่อนผู้ตายหลายคนซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุให้การยืนยันว่า ขณะผู้ตายกับพวกรวม 6 คน ร่วมกันต้มน้ำกระท่อมดื่มอยู่ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพากันวิ่งหนี ตอนแรกวิ่งไปทิศทางเดียวกัน แต่วิ่งไปได้ระยะหนึ่งจึงวิ่งแยกกันไปคนละทาง โดยทุกคนไม่มีอาวุธปืนและลูกระเบิดแต่อย่างใด มีเพียงบางคนถือมีดพร้าที่เตรียมมาใช้ฟันเก็บใบกระท่อม อีกทั้งผู้ตายไม่มีประวัติอาชญากรรมหรือมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในฐานข้อมูลราชการ อาวุธปืนและระเบิดที่พบอยู่กับศพผู้ตายนั้นจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นอาวุธปืนและระเบิดของผู้ตาย ประกอบกับผู้ตายเป็นเยาวชน เรียนอยู่ชั้น ม.5 และถูกยิงที่กลางหลัง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย ดังนั้นเมื่อผู้ตายได้ถึงแก่ความตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แม้ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องย่อมรับผิดฐานเป็นความรับผิดอย่างอื่น ตาม มาตรา 9 วรรค 1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 และมาตรา 1563 มาใช้โดยอนุโลม ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เป็นค่าปลงศพ 105,500 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นเงิน 1,500,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 1,605,500 บาท (หนึ่งล้านหกแสนห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดี
อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าว ไม่ผูกพันตุลาการทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นองค์คณะผู้ทำการพิจารณาพิพากษาคดี
ศาลปกครองสงขลาจะได้แจ้งกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาให้คู่กรณีทราบในภายหลัง
ติดต่อสอบถามข้อมูลคดีเพิ่มเติมได้ที่
นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร.089-6222474
ข้อมูลประกอบ
ถ้อยคำแถลงด้วยวาจาของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและของตุลาการผู้แถลงคดี
ผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายมะวาเห็ง มามะ ได้แถลงต่อศาลความว่า ขอความเป็นธรรมให้กับลูกชายของตนด้วย ตนไม่เชื่อว่าลูกชายเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ และไม่มีอาวุธปืนแน่นอน ลูกชายของตนถูกใส่ความ เพราะลูกชายอยู่ในสายตาของตนมาตลอดตั้งแต่ยังเล็กจนโต ในเรื่องที่ลูกชายดื่มน้ำพืชกระท่อม ตนพยายามตักเตือนอยู่เสมอ แต่ด้วยวัยที่กำลังเป็นวัยรุ่น อยากรู้อยากลอง
ส่วนมารดา นางรูฆาย๊ะ มามะ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้แถลงต่อศาลว่า ลูกชายตนถูกใส่ความว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบและไม่มีอาวุธปืน เพราะลูกชายเรียนอยู่ในตัวเมืองยะลามาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปีที่ 2 ไม่มีนิสัยใจคอชอบความรุนแรง แถมยังชอบดูทีวี การ์ตูน เกมส์โชว์ จนกระทั่ง ม.2 แม่ได้ตัดสินใจย้ายลูกชายมาเรียนโรงเรียนลำพญาประชานุเคราะห์ เพราะใกล้บ้านมากกว่า ลูกชายเป็นหนึ่งในนักเรียนสิบห้าคนที่เป็นมุสลิม ส่วนคนอื่นเป็นเพื่อนไทยพุทธ และเป็นนักกีฬาของโรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนอยู่เสมอ ครูที่โรงเรียนยังบอกว่า ลูกชายเป็นเด็กฉลาด แต่ขี้เกียจทำการบ้าน และรายงาน จึงทำให้ได้เกรดที่ไม่ดี สองเดือนที่ผ่านมาก่อนที่เสียชีวิต ลูกชายมีความพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มาโรงเรียนแต่เช้า แต่ก่อนเสียชีวิตอาทิตย์หนึ่ง ลูกชายได้บอกมารดาว่าครูให้เป็นตัวแทนไปแข่งวิชาการ ในเดือนมิถุนายน ตนเลือกวิชาคณิตศาสตร์ เพราะอยากเรียนต่อสายวิศวะ และบอกว่าเรียนจบแล้วจะไปสมัครเป็นทหาร ในตอนปิดเทอมลูกชายได้ไปสมัครงานเป็นเด็กขนของร้านขายของในตัวเมืองยะลา และตอน ม.4 ได้สมัครเป็นเด็กล้างรถที่คาร์แคร์ใกล้หมู่บ้าน ซึ่งมีคนพุทธเป็นเถ้าแก่ ทำงานทุกวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดขัตฤกษ์ หรือวันปกติถ้ามีลูกค้าเยอะ เถ้าแก่ก็จะโทรมาให้ไปช่วยงานในตอนเลิกเรียนแล้ว เมื่อใกล้เปิดเทอมชั้น ม.5 ลูกชายได้ลาออกจากงาน เพราะบอกว่าเหนื่อยมาก เงินที่ได้จากการทำงานพิเศษ ลูกชายได้เอามาฝากไว้กับตน เพื่อใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์การเรียน รองเท้า และเสื้อผ้านักเรียนเป็นของตนเอง ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ขอเรียนต่อศาลขอความเป็นธรรมให้กับลูกชายตนด้วย
ทางด้านตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งรับมอบหมายจากอธิบดีศาลปกครองสงขลาได้ชี้แจงด้วยวาจาต่อองค์คณะประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือ ศาลอนุญาตให้คู่กรณีและบุคคลอื่นอยู่ในห้องพิจารณาคดีในขณะตุลาการผู้แถลงคดีชี้แจงได้
คำแถลงคดีของตุลาการผู้แถลงคดี เป็นเพียงความเห็นอิสระของตุลาการผู้แถลง หาใช่ความเห็นหรือคำพิพากษาขององค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ไม่
ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงต่อศาลความว่า ประเด็นที่ศาลต้องรับวินิจฉัยมีด้วยกันสองประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ เมื่อได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 อ้างว่า ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการประกาศใช้กฎหมาย พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ใช้กฎหมายดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิด ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่ให้สามารถฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดได้ ห้ามฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการในคดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
ประเด็นที่สอง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสามได้กระทำการให้นายฟรุกอน มามะ ถึงแก่ความตาย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในสำนวน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2555 มีเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นบ้านนายสมาน เจะนะ เพื่อจับกุมนายอาบีดีน ในท้องที่จังหวัดยะลา ตามหมายจับของศาลจังหวัดยะลา จนเกิดเหตุยิงปะทะกัน ต่อมามีการตรวจที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ามีศพนายฟรุกอน มามะ ถึงแก่ความตายถูกยิงที่กลางหลัง พบอาวุธปืน กระสุนปืนจำนวน 20 นัดตกอยู่ใกล้ๆกับศพ และในกระเป๋ากางเกงพบวัตถุระเบิด ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกันตัวที่พอสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นการกระทำที่ละเมิด
แต่เมื่อพิจารณาตาม มาตรา 9 วรรค 1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองได้ตาม แห่ง โดยพิเคราะห์จากรายการการตรวจสถานที่เกิดเหตุ แม้ว่าจะพบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน กระสุนปืน 20 นัด และวัตถุระเบิด 1 ลูก อยู่กับศพผูตายก็ตาม เมื่อรายงานการตรวจสารพันธุกรรม DNA ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่พบสารพันธุกรรม หรือ DNA ของนายฟรุกอนที่อาวุธปืน ไกปืน ซองกระสุนปืน และวัตถุระเบิด แต่อย่างใด และจากรายงานการตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็ไม่พบสารประกอบระเบิด หรือสารเสพติด แต่อย่างใดที่ตัวและเสื้อผ้านายฟรุกอน และไม่มีผู้ใดให้การว่า เห็นผู้ตายใช้อาวุธยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นนายมูฮัมหมัด และนายซุกรี ซึ่งได้ให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ให้การว่า ตนร่วมกับนายฟรุกอนและเพื่อน ๆ รวม 6 คน ขณะกำลังดื่มน้ำพืชกระท่อม ได้ยินเสียงปืนจึงวิ่งหนี แรกตนวิ่งตามนายฟรุกอนไปทางทุ่งนา ตอนหลังแยกตัวออกไป นายฟรุกอนและทุกคนไม่มีอาวุธปืน มีเพียงมีดพร้าที่ใช้ฟันใบพืชกระท่อม และฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่พบว่านายฟุรกอนมีประวัติอาชญากรรมหรือเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบแต่อย่างใด การที่พบอาวุธปืน กระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่ตกอยู่กับศพผู้ตายนั้น จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นอาวุธปืนและระเบิดของผู้ตาย ประกอบกับผู้ตายเป็นเยาวชน อายุ 17 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.5 และมีบาดแผลถูกยิงเข้าที่กลางหลัง จากพยานหลักฐานดังกล่าว ฟังไม่ได้ว่า นายฟรุกอนใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่ และเป็นแนวร่วมก่อการร้าย การที่เจ้าหน้าที่ยิงนายฟรุกอน เสียชีวิตนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ ย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานความผิดอย่างอื่นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ตามมาตรา 9 วรรค1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เพียงใด จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ที่บัญญัติไว้มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆอีกด้วย ดังนั้นในคดีนี้ เมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่า ในการทำศพหรือปลงศพตามหลักศาสนาอิสลาม ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้จ่ายในการปลศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ นี้เป็นเงิน 105,500 บาท (หนึ่งแสนห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู นายฟรุกอน มามะ อายุเพียง 18 ปี กำลังศึกษาเล่าเรียน ยังไม่มีการประกอบอาชีพ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรย่อมต้องเลี้ยงดูบิดามารดายามแก่ชรา จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงินจำนวนเดือนละ 5,000 บาท คิดระยะเวลา 25 ปี เป็นเงิน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องทั้งสามต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงิน 1,605,500 บาท (หนึ่งล้านหกแสนห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดี
เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://voicefromthais.wordpress.com