Skip to main content

  

จากวันแรกที่ย่างเท้าออกเดินจาก ‘ศาลายา’ ที่ตั้งของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี จังหวัดนครปฐม ปักหมุดปลายทางไว้ที่ ‘มัสยิดกลาง’ จังหวัดปัตตานี รวมระยะทางตามแผนที่กว่า 1,100 กิโลเมตร  วันนี้ ‘คณะเดินจากศาลายาสู่สันติปัตตานี’ ผ่านพ้นเส้นทางมาได้ครึ่งค่อนทาง

 สภาพร่างกายผู้ร่วมเดินก็ปรับสภาพ เท้าที่เคยบวมก็กลับทนทานมากขึ้น ขณะที่ด้านจิตใจยังคงเต็มเปี่ยมด้วยพลังที่ได้รับตลอดสองข้างทาง

เป้าหมายของการเดินก็ยังคงเดิม คือ เพื่อชักชวนให้ทุกฝ่าย หันมาคิดถึงแนวทางสันติวิธี 

 

“เราเป็นแค่กลุ่มคนเล็กๆ คาดหวังแค่จุดประกายให้กลับมาคิดกันว่า นโยบายที่ใช้มันถูกทางแล้วหรือไม่ 4 พันกว่าศพที่ตายไปสมควรได้รับการทบทวนแล้วหรือยัง มันจะต่อสู้กันอย่างไรที่จะไม่ใช้ความรุนแรง...” งามศุกร์ รัตนเสถียร หนึ่งในคณะเดินเพื่อสันติปัตตานี อาศัยช่วงหยุดพักใต้ร่มไม้พูดคุยกับเรา

 

“ศูนย์สันติฯ เองก็ทำงานเรื่องสามจังหวัดมาตลอด 4-5 ปี เราก็ทำมาหลายอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานอบรม งานวิจัย งานสัมมนาต่างๆ ก็ทำกันมาเยอะ คิดว่า เราก็ควรจะทำอะไรสักอย่างที่จะสามารถให้คนได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น”

 

แต่กระนั้น ความตั้งใจในการชักชวนสังคมให้ตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับกลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นว่า การเดินนี้จะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติได้อย่างไร ?

 

“การเดินเป็นอุบาย...” ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับสู่บ้านเกิด-เกาะสมุย สุราษฎธานี และได้ออกเดินร่วมอยู่ในขบวนนี้มาตั้งแต่วันแรก ตอบคำถามให้เราฟังขณะที่สองขายังคงก้าวเดิน

 

“เมื่อเราเดินในความหมายของปัจเจก มันจะมีมิติความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล คนที่เดินด้วยกันอาจมีความหมายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่พลังแห่งการเดินจะสามารถผสานกลุ่มคนให้เกิดความหมายทางสังคมได้" อ.ประมวลอธิบายรายละเอียดศาสตร์แห่งการเดิน

 

"ผมเข้าใจว่า การที่พวกเราซึ่งหมายถึงประชาชนทั้งหมดและพวกผมด้วย มีความรู้สึกบางสิ่งบางอย่างร่วมกันเพื่อสิ่งเล็กๆ ตรงนี้ มันมีความหมายเชื่อมโยงไปสู่ความหมายที่ใหญ่กว่านี้ได้ ประชาชนที่อยู่รายทางแม้จะไม่รู้จักกันโดยส่วนตัว แต่ก็ทำให้รู้จักกันในความหมายร่วมกันว่า ความสงบสุข ความสมัครสมานสามัคคี หรือไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า”

 

ตัวอย่างสิ่งเล็กๆ ที่กลายเป็นกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร-น้ำดื่มที่ชาวบ้านสองข้างทางนำมามอบให้ กระทั่งรอยยิ้มและมือที่โบกทักทายรายทาง เมื่อรู้ว่าพวกเขาออกเดินเท้าเพื่อมุ่งหวังสันติภาพที่ชายแดนใต้ หรือเมื่อคราวที่คุณชาตรี อังอัจฉะริยะ ผู้อาวุโสวัย 63 ปีที่เสียชีวิตระหว่างทาง ได้มีการประกอบศาสนกิจสวดอภิธรรม โต๊ะครูท่านหนึ่งเดินทางมากว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อจะกล่าวคำไว้อาลัยให้ถึงที่วัด นี่อาจเป็นภาพสะท้อนสายสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่มันได้ก่อเกิดขึ้นแล้ว

 

“ในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ เราก็ตั้งใจที่จะปฏิบัติถือศีลอดเหมือนกับคนในสามจังหวัด คือเราก็อยากรับรู้ว่า การที่เขาถือศีลอด มันเป็นอย่างไร แต่ว่าเราก็อาจจะต้องดื่มน้ำกัน อาจจะไม่ทั้งหมด อยากให้คนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดตระหนักว่า แม้แต่คนนอกศาสนา หรือคนนอกพื้นที่ยังให้ความใส่ใจกับปัญหาสามจังหวัด” หนึ่งในคณะผู้ร่วมเดินเอ่ยให้ฟัง

 

 

ด้าน อาจารย์โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกเดินเท้าร่วมกับขบวนมาตั้งแต่วันแรก จะเว้นก็แค่วันฌาปนกิจคุณชาตรีที่ต้องไปร่วมพิธีที่กรุงเทพหนึ่งวัน แต่ก็กลับมาร่วมเดินต่อในวันรุ่งขึ้นทันที กล่าวว่า “เราพยายามทำกระบวนการให้ดีที่สุด ส่วนผลมันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอีกเยอะแยะ แต่เบื้องต้น ผมก็รู้สึกดีใจเกินคาด การตอบสนองของพี่น้องประชาชนตลอดเส้นทางที่เดินมา สิ่งที่เราต้องการ คือ กระตุ้นจินตนาการ ดังนั้นต้องทำเรื่องที่ไม่ธรรมดา จะได้ผลหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะเรื่องนี้เป็นนามธรรม เป็นเรื่องของจิตใจ”

 

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี อธิบายว่า “สันติวิธี หลักๆ มีสองวิธีกับหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ วิธีที่หนึ่ง คือ กดดันหรือบังคับ โดยมากมักใช้วิธีการปฏิบัติทางตรง เช่น การชุมนุม หรือถ้าหย่อนลงมานิดหนึ่งก็อาจเป็นการนัดหยุดงาน แม้กระทั่งการอดอาหารประท้วง วิธีที่สอง คือ การโน้มน้าว ชักชวน การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทั้งสองวิธีนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความไม่เป็นศัตรู ไม่มีความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เพราะถ้าบังคับโดยการใช้ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ผมว่า มันไม่ใช่สันติวิธี ของเรานี้จัดอยู่ในการโน้มน้าวชักจูง ไม่ใช่การบังคับครับ และก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อจะชวนให้คนอื่นตั้งคำถามว่า ความรุนแรงนี้มันมีประโยชน์แก่ใคร ความรุนแรงจะนำไปสู่การตอบสนองสิ่งที่แต่ละฝ่ายเรียกร้อง หรือความต้องการพื้นฐานของแต่ละฝ่ายหรือเปล่า”

 

“การแสดงออกของเรานี้ ต้องการโน้มน้าวให้ฉุกคิด ให้ตั้งคำถามใหม่ว่า ความรุนแรง ใช่คำตอบหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ เขาคงต้องไปคิดเองว่า มีวิธีอื่นหรือไม่ ที่จะได้มาซึ่งความต้องการพื้นฐานแต่ละฝ่าย แต่ไม่ใช้ความรุนแรง” อ.โคทมย้ำอีกครั้ง

 

แต่ลำพังการเดินนี้ จะเป็นแรงจูงใจที่มากพอให้แต่ละฝ่ายตระหนักถึงแนวทางสันติวิธีได้หรือไม่ ?สันติภาพที่ปลายทางจะเป็นอย่างไร ? ระยะทางสั้นๆ ไม่กี่กิโลเมตร ที่เราได้เดินตามพูดคุยกับบางคนบางท่านผู้ร่วมขบวนเดินเท้าครั้งนี้ อาจยังไม่พอที่จะให้เข้าใจและเข้าถึงหนทางสันติวิธีที่จะสามารถหยุดยั้งความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างไร

 

เพียงแต่รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า ... สักวันหนึ่งต้องไปถึง !!!

 
 
 
 
ตีพิมพ์ใน 'คติชน' นสพ.มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 53
ภาพโดย : WeWatch