Skip to main content

 

 

2 ปีที่แล้ว อาจารย์ในชั้นให้นักศึกษาทุกคนในห้อง ฝึกเขียนเปเปอร์ส่ง คนละ 1 เปเปอร์

ผมก็เลือก หัวข้อที่เกี่ยวกับ "ตุรกี" ซึ่งตอนแรกโฟกัสเรื่องการเมืองเป็นหลัก เช่นพรรค AK เป็นต้น

แต่พอได้อ่านหนังสือบางเล่ม ก็เริ่มสนใจรากเหง้า ความเป็นมา ว่าจักรวรรดิออตโตมานที่ผ่านมาในอดีต มันมีที่มาที่ไปอย่างไร เกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมถึงล่มสลายในที่สุด

ประกอบกับก่อนหน้านั้น เคยอ่านหนังสือของ เชค อบุล หะซัน อันนัดวีย์ อุลามาอฺ (ผู้รู้อิสลาม) ชื่อดังในประเทศอินเดีย แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ "อารยธรรมตะวันตกอิสลามและมุสลิม" Western Civilization: Islam and Muslims. ที่ ดร.กิติมา อมรทัต และ ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม (ฉบับ english ดาวน์โหลดได้ที่ http://abulhasanalinadwi.org/…/western%20civilisation%20isl…)

ก็เริ่มจับต้นชนปลายสนใจ ตัว "เคมาล อตาเตอร์ก" ว่าขึ้นสู่อำนาจได้ยังไง และได้รับอิทธิพลความคิดจากใคร

ในหนังสือ เล่มข้างต้น เขียนว่า

-- "ตุรกีเป็นประเทศแรกของโลกอิสลามที่เริ่มกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก โดยเริ่มจากการปฏิรูปของกลุ่มตันซิมาต (Tanzimat) แล้วก็มี แนวคิดของเซีย โกกัลป์ (Ziya Gökalp) ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งปฏิเสธ Ottomanism and Islamism (Turkay Salim Nefes, 'Ziya Gökalp’s adaptation of Émile Durkheim's sociology in his formulation of the modern Turkish nation' International Sociology May 2013 vol. 28 no. 3 335-350.)

และต้องการนำประเทศไปสู่ Turkish nationalism ด้วยการโปรโมตภาษาและวัฒนธรรมตุรกี และอธิบายในฐานะศาสนาของชาตินิยมและความทันสมัย (Erickson, Edward J. Ordered to Die: A History of the Ottoman Army in the First World War. Greenwood Press, Westport, Conn., 2001, p. 97) ที่ เช่นเดียวกับอีกคน คือ อาลี อับดุล อัร-รอซิก (Shaykh ‘Ali Abd al-Raziq)

ช่วงสมัยที่การปรับตัวนั้น ก็พบว่ามี 2 กลุ่ม ที่ชัดเจน กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่ม “อุลามาอฺ” กับกลุ่มที่สอง คือ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าซึ่ง กลุ่ม “ยังเตอร์ก” จัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้

อตาเตอร์ก คือ ผู้หนึ่งในกลุ่ม Young Turks มีบทบาทนำสำคัญในการยึดอำนาจสุลต่าน อับดุลฮามิดที่ 2

วิธีการปกครองของอตาเตอร์ก นิยมเรียกใช้คำว่า “เคมาลิสม์” Kemalism ซึ่งเป็นแนวคิดและหลักการของอะตาเตริก ต่อมา อตาเตอร์ก เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี เพื่อตอบสนองและปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตตะวันตกจึงนำเอาแนวคิดเซคิวลาร์ (Secular) มาใช้ในสังคมหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมาน

ตุรกีถูกจัดระบบใหม่เป็นรัฐแบบโลกีย์ (ไม่มี sacred ในพื้นที่ต่างๆ) การเมืองกับศาสนาถูกแยกออกจากกัน และอิสลามถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำรัฐ มีกฎหมายตราไว้ว่า "ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว" เป็นการเลือกของแต่ละบุคคล ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาก้าวก่ายในกิจการของรัฐ ตำแหน่งคอลีฟะฮฺถูกยกเลิกและกฎหมายอิสลามและสถาบันอิสลามถูกยกเลิกไป มีการขอยืมกฎหมายพลเรือนจากสวิสเซอร์แลนด์ ยืมกฎหมายอาญามาจากอิตาลี และกฎหมายการค้าระหว่างประเทศจากเยอรมัน กฎหมายส่วนตัวมุสลิมถูกจัดเป็นรอง และนำเข้ามาแนวคิดกฎหมายพลเรือนยุโรป การสอนศาสนาในโรงเรียนถูกสั่งห้าม มีการประกาศว่าระบบการคลุมหน้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีการนำเอาสหศึกษามาใช้ ตัวอักษรอารบิคถูกแทนที่ด้วยอักษรลาติน อะซานไม่ใช้ภาษาหรับอีกต่อไป เครื่องแต่งกายประจำชาติถูกเปลี่ยนแปลงและมีการบังคับให้สวมหมวก

ตามคำของ อาร์ม สตรองนั้น อตาเตอร์ก ได้ทำลายรากฐานทางศาสนาและลักษณะของรัฐตุรกีและผู้คนเสียจนหมดสิ้น --

ที่นี้ หลังจากที่ผมสนใจตัว อตาเตอร์ก แล้ว ก็สงสัย ว่า ผู้นำจากโลกมุสลิม ไม่มีเลยหรือ? (ตามหนังจีน มันต้องมีฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม)

แล้วไปเจอ ผู้รู้อิสลามท่านหนึ่ง ที่นักวิชาการ เห็นว่า สามารถต่อกรกับอตาเตอร์ก ได้ คือ บะดีอุสสามาน สะอีด นุรซี (Bediuzzaman Said Nursi)

บะดีอุสสามาน สะอีด นุรซี เกิดในหมู่บ้าน “นูร” ของจังหวัด บิทลิส (Bitlis) ในอนาโตเลียตะวันออกในปี ค.ศ. 1877 และเสียชีวิตใน อุรฟา (Urfa) ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1960 ซึ่งมีอายุรวมทั้งหมด 83 ปี โดยช่วงชีวิตของท่านนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่นั้นแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ด้วยกันคือ 
1. สะอีด ในวัยเยาว์ (1892-1907)
2. สะอีด ในวัยผู้ใหญ่ (1907-1926)
3. สะอีด ใหม่ (1926-1949)
4. สะอีด ในช่วงที่สาม (1949-1960)

โดยบิดามีนามว่า “Nuriye Hanim” และมารดามีนามว่า “Sofi Mirza” ในหมู่บ้าน นูร ซึ่งเป็นเขตเล็ก จาก Hizan ของจังหวัด บิทลิส และได้ร่ำเรียนเป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน Tag ใน Pirmis ใกล้กับหมู่บ้าน นูร

เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้ร่วมโรงเรียนศาสนาของ “เชค อามีน อาฟินดี” ในบิทลิส หลังจากนั้นได้ศึกษาจาก “Mir Hasan Veli” ใน Müküs  และ “Shaykh Muhammad Jalali” ใน Dogu Beyazid ใกล้กับ Agri ที่ซึ่งท่านได้พบปะผู้รู้ที่มีชื่อเสียงมากมาย ท่านเข้าร่วมศึกษาชั้นเรียนของ “เชค มุหัมมัด อามีน” ในบิทลิส ผู้ที่เข้าร่วมที่อาวุโสมากกว่าท่าน ไม่ว่า “มุลลา อับดุลเลาะ” ใน shirvan และต่อมา “เชค ฟัตฮุลลอฮฺ อาเฟนดี” ใน Siirt  เชคทั้งหมดเหล่านั้นต่างประทับใจ นุรซี เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยท่านมีความจำดีเลิศและมีสติปัญญาที่ฉลาดเฉลียว

เมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านได้สำเร็จการศึกษาจากอาจารย์ของท่าน และสามารถสอนผู้อื่นทั้งประชาชนธรรมดาทั่วไปและชนชั้นนำในสังคม

ท่านได้ไป มาร์ดิน และสั่งสอนผู้คนในมัสยิดกลาง ในเวลาอันสั้น ท่านสามารถดึงดูดผู้คนจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจบางส่วนมิต้องการให้ประชาชนสนใจในคำสอนเหล่านี้และขับไล่ท่านไปยัง บิทลิส อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครอง บิทลิส ได้พบปะท่านและพบว่า ท่านเป็นบุคคลที่ควรให้เกียรติ และต้อนรับท่านในฐานะแขก ทั้งนี้ท่านยังได้ศึกษาในบิทลิส ภายใต้การดูแลของผู้รู้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เชค มุหัมมัด อัล  กุฟรอวี

ด้วยการเชื้อเชิญของผู้ปกครองเมืองแวน ท่านได้ย้ายไปที่นั้นในปี ค.ศ. 1894 ที่ซึ่งท่านได้สอนวิชาต่างๆ อาทิเช่น ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และศาสตร์อื่นๆ ท่านได้รับฉายา “บะดีอุสสามาน” เนื่องด้วยความฉลาดเฉลียวของท่าน

อย่างไรก็ตาม ท่านได้อ่านข่าวหนึ่งที่ทำให้ท่านปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของท่านที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องด้วยเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษคนหนึ่งได้ถืออัลกรุอานในสภา พร้อมกล่าวว่า

“ตราบใดที่มุสลิมมีสิ่งที่นี้ เราจะไม่สามารถครอบครองพวกเขาอย่างสมบูรณ์ได้ เราต้องทำให้อัลกรุอานออกจากพวกเขาหรือทำให้มุสลิมสูญเสียความรักที่มีต่ออัลกรุอาน”

ในขณะนั้น ท่านตัดสินใจใช้อัลกรุอานในการสอนของท่านและเน้นอัลกรุอานในการนำมาใช้ในชีวิต โดยมีความคิดในการเปิดมหาวิทยาลัย ซึ่งชื่อว่า มัดดารอซะฮฺ  อัซซะฮฺรอฮฺ ในอนาโตเลียตะวันออก ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวท่านได้กลับไปอิสตันบูล ใช้เวลาที่เหลือเพื่อหาความร่วมมือ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านมิสามารถทำสำเร็จและกลับสู่ แวน ที่ซึ่งท่านเริ่มการสอนอีกครั้ง

จากการเทศนาของท่านในขณะที่เยี่ยมเยียน ดามัสกัส ประเทศซีเรีย ในปี ค.ศ. 1911 ที่ซึ่งท่านได้เทศนา ณ มัสยิดอุมัยยะฮฺ ในการเทศนาครั้งนี้ท่านได้อธิบายเหตุที่ประชาชาติตกต่ำ โดยมี 6 ประการด้วย กัน คือ 
1. ความสิ้นหวัง
2. การละทิ้งคำสอน
3. ความขัดแย้ง
4. ความอ่อนแอระหว่างมุสลิมด้วยกัน
5. การกดขี่
6. การคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม (Said Nursi, Bediuzzaman (2001), The Damascus sermon, From the Risale-i Nurcollection, Istanbul, Sözler publications.)

ซึ่งต่อมาเกิดสงครามโลกขึ้น ท่านได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของท่านจากการเขียนไปสู่การจับอาวุธ ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามบริบทในขณะนั้น

ในปี ค.ศ. 1912 ท่านได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการของกองกำลังมุสลิมในอนาโตเลียตะวันออกก่อนที่สงครามเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1914 ท่านเข้าร่วม Teskilat-i Mahsusa (องค์การทางปัญญาพิเศษ) ซึ่งก่อตั้งโดยสุลฏอน (Sultan) เพื่อต่อสู้กับศัตรูและรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของจักรวรรดิ

ท่านและผู้รู้อีกหลายท่านเข้าร่วมองค์การดังกล่าวและจัดทำ “ฟัตวาญิฮาด” แม้ว่าท่านไม่สนับสนุนการที่ออตโตมานเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ท่านก็ได้ทำหน้าที่ของท่านเต็มที่โดยมิได้ปฏิเสธประการใด

กลับไปสู่เมืองแวน ท่านได้จัดตั้งกองกำลังญิฮาด โดยนำลูกศิษย์ของท่านมาฝีกการใช้อาวุธและรับภารกิจในการปกป้องมุสลิมจากการปฏิวัติอาร์เมเนี่ยน อีกทั้งยังให้ลูกศิษย์ของท่านอยู่ใน Erzurum เพื่อต่อต้านการเข้ามาของรัสเซีย ในขณะเดียวกันท่านได้เขียนงานในภาษาอารบิค เรียกว่า Isharat al-I‘jaz fi Mazann al-Ijaz

ท่านได้ต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บและถูกจับเป็นเชลยศึก ต่อมาท่านถูกส่งต่อไปยังรัสเซีย ท่านถูกคุมขังที่นั้นเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน ท่านผ่านอุปสรรคมากมายแต่ท่านก็สามารถรักษาเกียรติของท่านได้ ต่อมาเกิดการปฏิวัติบอลเชวิค ท่านสามารถหลบหนีโดยผ่านทางวอร์ซอว์ และกลับสู่อิสตันบูลโดยใช้เส้นทางทางเวียนนา เมื่อพิจาณาระยะทางเป็นเส้นทางที่ถือว่าไกลเป็นอย่างมาก
 

ในอัสตันบูลท่านได้เป็นสมาชิก Darü’l-Hikmeti’l-Islâmiye สถานการศึกษาของรัฐบาลซึ่งเป็นที่รวมตัวของผู้รู้เข้าด้วยกัน แม้ว่าท่านได้รับเงิน ท่านก็ได้ใช้จ่ายเงินในการพิมพ์หนังสือและแจกจ่ายให้กับคนยากจน

ในปี ค.ศ. 1920 อังกฤษเข้าครอบครองอิสตันบูล ท่านได้ปรับเปลี่ยนการต่อสู้ของท่านกลับไปสู่ การเขียนอีกครั้ง ท่านเขียนผลงานที่มีชื่อว่า Hutuvât-i Sitte (หกลำดับขั้น) ท่านได้แจกจ่ายอย่างลับๆ ต่อลูกศิษย์และเพื่อนสนิทของท่าน โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการต่อต้านศัตรูอิสลามและการพยายามปฏิรูปจริยธรรมในหมู่มุสลิม รวมถึงการตอบคำถามบางประการที่เกี่ยวกับศัตรูในทัศนะอิสลาม

ท่านยังต่อต้านการตั้งรัฐ เคริดดิช ในจักรวรรดิออตโตมาน ท่านยังออกฟัตวาในการกระตุ้นมุสลิมต่อต้านการครอบครองของตะวันตก

ท่านได้รับชื่อเสียงในการเสียสละตนเพื่อประเทศและต่อต้านกองกำลังต่างชาติ ท่านได้รับการเชื้อเชิญจาก มุสตอฟา เคมาล อีกด้วย ท่านไปยังที่นั้นในปี ค.ศ. 1922 แต่ท่านกลับเสียใจที่พบเห็นผู้คนโดยมากกลับละเลยเรื่องการละหมาด 5 เวลา ท่านได้เขียนสาส์นไปยังคณะผู้แทนในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1923 โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ ถ้ายังไม่กลับสู่อัลลอฮฺ พวกเขาจะต้องชดใช้มันด้วยความสะพรึงกลัวในวันกิยามะฮฺ

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นชีวิตท่านนั้นถูกทดสอบมากเหลือเกินซึ่งผมขอไม่ลงรายละเอียด มีทั้งกักขัง ถูกทรมาน และลอบวางยาพิษหลายครั้ง แต่ขอสรุปชีวิตท่านสักหน่อย คือ ตอนที่ท่านต่อสู้กับ อตาเตอร์ก ท่านใช้ความคิดต่อสู้ มิได้ใช้กำลังอำนาจสู้

ท่านได้ทุ่มเทความพยายามฟื้นฟูความศรัทธาและปรับเปลี่ยนการปฏิรูปทางสังคม โดยการต่อสู้ด้วยถ้อยคำ (Jihad of the word) ท่านเขียนอรรถาธิบายอัลกรุอาน ริสาตุน นูร (Risal I Nur) ท่านอธิบายหลักการพื้นฐานอิสลาม ความจริงในอัลกรุอาน มนุษย์สมัยใหม่ วิเคราะห์ทั้งความเชื่อและการปฏิเสธศรัทธา และเรียกร้องการพูดคุยอย่างมีเหตุผลอย่างเป็นไปได้จริงและสอดคล้องกับวิถีอัลกรุอาน อาทิ เช่น ปรัชญาการมีอยู่ของพระเจ้า ความเป็นหนึ่งเดียว นูบูวะฮฺ (ภาวะของการเป็นศาสนทูต) ภาวะโลกหน้า ความสัมพันธ์มนุษย์และจักรวาล

ในการปฏิรูปสังคมของท่าน ท่านมองปัญหาแก่นแท้เกิดจากการปฏิเสธการมีอยู่ของอัลลอฮฺ ท่านสร้างงานเขียนและการอธิบายของท่านของท่านได้ถูกคัดลอกจำนวนนับไม่ถ้วน ท่านได้เน้นย้ำให้ศึกษาอัลกรุอาน และถือว่าการศึกษาอัลกรุอาน ถือเป็นการต่อสู้ กับการครอบครองตะวันตก ซึ่งถือว่า อุดมการณ์ความคิดตะวันตกได้ครอบงำมุสลิมให้ออกจากแนวทางอันบริสุทธิ์

จากความคิดของผม เชื่อว่า อิสลามิสต์ปัจจุบันในตุรกี ก็ได้รับอิทธิพลจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม จากวันนั้นถึงวันนี้ แนวทางดังกล่าวและการต่อสู้ทางความคิด ก็ยังคงอยู่ต่อไป

ส่วนความคิดและวิธีของ อตาเตอร์ก ผมเชื่อว่า มุสลิมส่วนใหญ่ ไม่มีใครชอบ แนวทางดังกล่าว ถึงจะอ้างความศิวิไลซ์ แบบไหน ยังไง เพราะมันทำให้ผู้คน ทิ้งอัลลอฮฺ ไปสู่ความมืดมิดของหัวใจ และยินยอมเอาความตายเข้าแลก หากวิธีคิด การปฏิบัติแบบ อตาเตอร์ก กลับมาสู่สังคม สำหรับมุสลิมแล้วมันให้สังคมเสื่อมมากขึ้นด้วยซ้ำไป

ความเข้าใจในเชิงทฤษฎีก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การวิเคราะห์โดยมิได้ศึกษารากเหง้าของตุรกีเลย มันจะทำให้คลาดเคลื่อน ฉะนั้นการเข้าใจบรรยากาศศาสนาของคนในประเทศตุรกี จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

 

คำถาม คือ ว่า ทำไมโลกมุสลิม เชียร์ ออรโดกาน ? 
คำตอบ ง่ายๆ สำหรับผม คงไม่อยากเห็นสังคม “เละ” กว่านี้ มั้งครับ 
 

ตะวันตก รวมถึงสื่อ ก็ซัด ออรโดกาน ทุกวัน 
เป็นคนปิดกั้นเสรีภาพสื่อบ้าง เน้นอำนาจนิยมบ้าง 
ซึ่งส่วนหนึ่งผมยอมรับว่า อาจมีจุดที่กล่าวมา เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง

 

แต่อยากเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า วิธีการแบบอตาเตอร์ก หรือระบบทหารที่ไหนก็แล้วแต่ เทียบกับ การปกครองแบบสไตล์ของออรโดกาน แบบไหนมันน่ากลัวกว่า? อันนี้พูดถึงในตุรกีน่ะครับ

 

อีกทั้งมันมีมิติเรื่องศาสนาและความดีงามอยู่ อันนี้ ต้องมาอยู่กับมุสลิม มานั่งฟังหรือบางทีใช้ชีวิตด้วยกัน แล้วจะเข้าใจ ว่า ทำไมถึงเชียร์ ออรโดกานกัน โดยไม่ต้องอธิบายด้วยคำพูดด้วยซ้ำไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าหากฝ่ายตรงข้ามออรโดกานขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเกรงว่าจะเกิดขึ้นซึ่งในอดีตเกิดขึ้นจริง   คือ การไม่ให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจพื้นฐานได้ เช่น การแทรกแซงเปลียนคำสอนศาสนาจากนโยบายรัฐ การพยายามควบคุมเนื้อหาคุคบะฮฺ(เทศนา) ในวันศุกร์ซึ่งต้องมาจากส่วนกลางเท่านั้น หรือเรื่องการคลุมฮิญาบในสถานที่ราชการ หรืออื่นๆ อีกมากมาย  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของมุสลิมเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต ฝ่ายตรงข้ามพยายามบังคับและกระทำลักษณะนี้ตลอดมา

           นอกจากนั้นออรโดกานและผู้สนับสนุนไม่ใช่กลุ่มอิสลามที่สุดโต่งอย่าง IS ท่านก็ลงเลือกตั้งปกติและสร้างนโยบายพัฒนาต่างๆ จนประชาชนเลือกที่จะไว้วางใจท่านให้ขึ้นเป็นรัฐบาล มีผลงานที่ชัดเจนรวมถึงสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกคนในตุรกี ก็ดำเนินไปตามวิธีทำนองคลองธรรมของตะวันตกด้วยซ้ำไป 

ส่วนเรื่องการเชียร์ออนโดกาน เราจะพบเห็นว่า มุสลิมเชียร์ ดั่งว่า ถ้าไม่มีออรโดกาน โลกมุสลิมจะตกต่ำ และสิ้นหวัง  เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริงครับ มิอาจปฏิเสธได้

เหตุผลส่วนหนึ่งผมมองว่า โลกมุสลิมถูกรังแกมาตลอด ตั้งแต่จักรวรรดิโลกล่มสลาย ตะวันตกก็ฉีกดินแดนออกเป็นรัฐชาติและพยายามหาผลประโยชน์จากโลกมุสลิม ทั้งแสวงหาทรัพยากรรวมถึงการสร้างสงครามและขายอาวุธให้ สิ่งที่เหล่านี้หลายๆ ท่าน ก็รับรู้ดีเป็นอย่างดี

นอกจากประเทศมหาอำนาจ ก็ยังมีประเทศที่รัฐบาลชีอะฮฺครอบงำอยู่เบื้องหลัง เล่มเกมสกปรก พยายามขจัดโลกซุนนีให้เป็นชีอะฮฺหรือไม่ก็สร้างสงครามตัวแทนทำร้ายโลกซุนนี ฉะนั้นความหวังของโลกซุนนีจึงตกไปที่ตุรกีและซาอุดิอารเบีย สองพี่ใหญ่ โดยปริยาย การเชียร์ออรโดกาน จึงไม่ได้หมายถึง ขอบเขตแค่ในตุรกีเท่านั้นแต่ยังหมายถึง ออรโดกานเป็นตัวแทนของโลกมุสลิมซุนนีอีกด้วย และออรโดกานก็แสดงบทบาทพี่ใหญ่มุสลิมในโลกอย่างจริงใจเป็นลูกผู้ชาย ไม่ว่าเป็นการช่วยเหลือผู้อพยพซีเรียหรือสร้างขั้วอำนาจทางการเมืองโลกให้กับซุนนี เป็นต้น