Skip to main content

 

 

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 31 วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2559 ที่ร้านอาหารริมน้ำ จังหวัดนราธิวาส

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ว. อดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล 

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมได้พิจารณาเหตุการณ์ความรุนแรงและการสูญเสียช่วงเดือนรอมฎอนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสถิติดังนี้       

 

 

ปี 2557

ปี 2558

ปี 2559

เหตุการณ์ (ครั้ง)

77

118

82

เสียชีวิต (คน)

33

39

32

บาดเจ็บ (คน)

127

73

61

 

ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตว่า เราไม่สามารถใช้จำนวนเหตุการณ์และการสูญเสียในเดือนรอมฎอนเป็นตัวชี้วัดการคลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้ เพราะการก่อเหตุอาจมีปัจจัยที่หลากหลายมาก แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน สถิติความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรศึกษาวิเคราะห์ต่อไป อันที่จริง ความพยายามของภาคประชาสังคมที่เริ่มตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ ที่ปรารถนาจะเห็นเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความสงบสันตินั้น ควรจะต้องดำเนินต่อไป และควรขยายไปสู่เดือนอื่น ๆ ด้วย 

ที่ประชุมได้อภิปรายในเรื่องการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพที่เป็นทางการ และมีข้อสังเกตว่า กระบวนการนี้ดูเหมือนจะหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลัง จึงมีข้อเสนอว่า ผู้พูดคุยน่าจะพิจารณาดำเนินการให้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (TOR) ทั้งในเรื่องงานธุรการและการวางกรอบเบื้องต้นของเนื้อหาการพูดคุยกัน ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยดำเนินต่อไปได้  ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงควรมีการพูดคุยและเสนอทางออกที่เป็นข้อตกลงกันในเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ผู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ไม่ควรจำกัดแต่เฉพาะกระบวนการพูดคุยที่เป็นทางการเท่านั้น หากต้องรวมฝ่ายอื่น ๆ ทั้งในพื้นที่และระดับชาติด้วย หากภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ฯลฯ สามารถตกลงกันได้ในเรื่องข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เหมาะสม ก็ควรมีการปรึกษาหารือกับเสนาธิการของฝ่ายความมั่นคง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการปกครองท้องถิ่นดังกล่าวไม่ใช่การกรุยทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ฯลฯ ยังอ่อนแรงและขาดการประสานความร่วมมือ แต่ไม่ควรท้อถอยหากต้องเพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่อง

ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่ฝ่ายทหารได้ตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทแก่นักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ได้เผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานที่ได้จากการให้ปากคำของผู้เสียหายจำนวน 54 คน และมีข้อเสนอว่า การตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ไม่น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีของคนในพื้นที่ อีกทั้งอาจไม่เป็นผลดีที่ประเด็นนี้จะเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จึงขอเสนอให้มีการปรึกษาหารือและการทำความเข้าใจกันต่อไป

ที่ประชุมแสดงความห่วงใยกรณีความรุนแรงและการเสียชีวิตในเรือนจำปัตตานีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่  15 กรกฎาคม และการย้ายนักโทษบางส่วนไปที่เรือนจำกลางสงขลา และต่อมามีข่าวว่ามีนักโทษเสียชีวิตในเรือนจำกลางดังกล่าว 

สำหรับกรณีที่คำพิพากษาให้ยึดที่ดินของโรงเรียนอิสลามบูรพานั้น กรณีนี้อาจเป็นข้อพิพาทที่ค้างคาในจิตใจของประชาชนจำนวนหนึ่งในพื้นที่ อย่างไรก็ดี คดียังไม่ถึงที่สุด และน่าจะมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป 

ในการที่จะมีการลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ที่ประชุมขอเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิทุกคนไปออกเสียงในทางหนึ่งทางใด โดยไม่ทำให้เป็นบัตรเสีย เพราะการลงประชามติครั้งนี้จะเป็นการตัดสินว่า สังคมการเมืองไทยจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยอย่างไรต่อไป