Skip to main content

 

ญิฮาด : สงครามศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ?!!

------------------------

ตอบคำถามโดย เชค ดร. มุซซัมมิล ซิดดีกียฺ

 

 

คำถาม : อัสลามูอาลัยกุม ท่านช่วยกรุณาอธิบายแนวคิดที่แท้จริงและเจตนารมณ์ของการญิฮาดในอิสลามได้หรือไม่? ญะซากุมุลลอฮูฆอยร็อน

 

คำตอบ : อัลลอฮฺกล่าวว่า

 

((وَجَاهِدُوْا فِىْ اللّٰهِ حَقَّ جِهَادِه‌ؕ هُوَ اجْتَبٰٮكُمْ وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِىْ الدِّيْنِ مِنْ حَرَجٍ‌ؕ مِلَّةَ اَبِيْكُمْ اِبْرٰهِيْمَ‌ؕ هُوَ سَمّٰٮكُمُ الْمُسْلِمِيْنَ ۙ مِنْ قَبْلُ وَفِىْ هٰذَا لِيَكُوْنَ الرَّسُوْلُ شَهِيْدًا عَلَيْكُمْ وَتَكُوْنُوْا شُهَدَآءَ عَلَى النَّاسِ‌‌ۖۚ فَاَقِيْمُوْا الصَّلٰوةَ وَاٰتُوْا الزَّكٰوةَ وَاعْتَصِمُوْا بِاللّٰهِؕ هُوَ مَوْلٰٮكُمْ‌ۚ فَنِعْمَ الْمَوْلٰى وَنِعْمَ النَّصِيْرُ))

 

“และจงต่อสู้เพื่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แท้จริงเพื่อพระองค์ พระองค์ทรงคัดเลือกพวกเจ้า และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องของศาสนา(ที่ไม่ลำบาก) คือศาสนาของอิบรอฮีม บรรพบุรุษของพวกเจ้า พระองค์ทรงเรียกชื่อพวกเจ้าว่ามุสลิมีน ในคัมภีร์ก่อน ๆ และในอัลกุรอานเพื่อร่อซู้ลจะได้เป็นพยานต่อพวกเจ้า และพวกเจ้าจะได้เป็นพยานต่อมนุษย์ทั่วไป ดังนั้นพวกเจ้าจงดำรงการละหมาด และบริจาคซะกาต และจงยึดมั่นต่ออัลลอฮ์ พระองค์เป็นผู้คุ้มครองพวกเจ้า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม” (อัลฮัจญ์ 22: 78)

 

การญิฮาดเป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดและเป็นแง่มุมที่ถูกกล่าวหามากที่สุดของอิสลาม มุสลิมบางคนได้ใช้ประโยชน์และใช้แนวคิดนี้ในทางที่ผิด โดยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากซึ่งไม่เข้าใจสิ่งนี้ได้ตีความเรื่องนี้ผิดๆโดย หวังทำลายเกียรติของอิสลามและมุสลิม

 

การญิฮาดคืออะไร?

 

คำว่าญิฮาดไม่ได้แปลว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์” แต่หมายถึง “พยายามอย่างหนัก” หรือ “ดิ้นรนโดยสุดกำลัง” ส่วนคำว่าสงครามอัลกุรอานใช้คำว่า ฮัรบฺ หรือ กิตาล การญิฮาดหมายถึง ความจริงจังและต่อสู้อย่างบริสุทธิ์ใจในระดับตัวเองเช่นเดียวกับระดับสังคม ญิฮาดคือความพยายามทำในสิ่งที่ดีและขจัดความอยุติธรรม,การถูกกดขี่และความชั่วร้ายออกจากสังคม การต่อสู้นี้ควรต่อสู้ในด้านจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับด้านสังคม เศรษกิจ และการเมือง การญิฮาดนั้นเป็นการทำงานหนักเพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ในอัลกุรอานคำนี้นั้นถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่ต่างกัน 33 ครั้ง โดยมักจะมาพร้อมกับแนวคิดต่างๆของอัลกุรอาน เช่น การศรัทธา การเตาบัตตัว การงานที่ดีและการอพยพ

 

การญิฮาดคือการปกป้องความศรัทธาและสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ การญิฮาดนั้นไม่ใช่การทำสงครามเสมอไป แม้ว่ามันสามารถทำในรูปแบบของสงคราม อิสลามป็นศาสนาแห่งสันติภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอิสลามจะยอมรับการถูกกดขี่ อิสลามสอนให้เราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างสุดความสามารถเพื่อขจัดความ ตึงเครียดและความขัดแย้ง อิสลามส่งเสริมวิธีการที่ไม่รุนแรงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป แท้ที่จริงแล้ว อิสลามเรียกร้องให้แต่ละคนขจัดความชั่วด้วยสันติวิธีโดยปราศจากการใช้ความ รุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประวัติศาสตร์อิสลามนับจากท่านนบี(ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม)ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มุสลิมส่วนใหญ่ได้ต่อต้านการกดขี่และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในวิธีที่ไม่รุนแรงและท่าทีที่สมานฉันท์

 

อิสลามสอนจริยธรรมที่เหมาะสมในสภาวะของสงครามอีกด้วย การทำสงครามเป็นที่อนุญาตในอิสลามก็ต่อเมื่อสันติวิธีอื่นๆ เช่น การสนทนา การเจรจาและการทำสนธิสัญญานั้นไม่เป็นผล การทำสงครามคือสิ่งสุดท้ายและควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ วัตถุประสงค์ของการญิฮาดนั้นไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนศาสนาคนด้วยการใช้แรงบังคับ หรือเพื่อตั้งอาณานิคม หรือเพื่อเข้ายึดครองที่ดินหรือทรัพย์สิน หรือสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง วัตถุประสงค์ของญิฮาดเป็นเรื่องพื้นฐานนั่นคือ ปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ดินแดน เกียรติยศและเสรีภาพของคนคนหนึ่ง เช่นเดียวกับการป้องกันผู้อื่นจากความอยุติธรรมและการกดขี่

 

กฎพื้นฐานของการทำสงครามในอิสลาม คือ

 

- สร้างความแข็งแกร่งเพื่อว่าศัตรูของคุณจะได้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าเข้าโจมตีคุณ

ไม่เริ่มสู้รบก่อน ทำงานเพื่อสันติภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

- สู้รบเพียงเฉพาะผู้ที่ทำการสู้รบ ไม่มีการเหมารวม ผู้ที่ไม่เป็นทหารจะต้องไม่ถูกทำอันตราย อาวุธทำลายล้างสูงไม่ควรถูกนำมาใช้

 

- หยุดสงครามทันทีเมื่ออีกฝ่ายโน้มเอียงไปสู่สันติภาพ

 

- ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงตราบที่ฝ่ายศัตรูยังปฏิบัติตามที่ได้ตกลงไว้

อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า :

 

((وَقَاتِلُوْا فِىْ سَبِيْلِ اللّٰهِ الَّذِيْنَ يُقَاتِلُوْنَكُمْ وَلَا تَعْتَدُوْاؕ اِنَّ اللّٰهَ لَا يُحِبُّ الْمُعْتَدِيْنَ))

 

“และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 190)

 

((الشَّهْرُ الْحَـرَامُ بِالشَّهْرِ الْحَـرَامِ وَالْحُرُمٰتُ قِصَاصٌ‌ؕ فَمَنِ اعْتَدٰى عَلَيْكُمْ فَاعْتَدُوْا عَلَيْهِ بِمِثْلِ مَا اعْتَدٰى عَلَيْكُمْ وَاتَّقُوْا اللّٰهَ وَاعْلَمُوْٓا اَنَّ اللّٰهَ مَعَ الْمُتَّقِيْنَ))

 

“เดือนที่ต้องห้ามนั้น ก็ด้วยเดือนที่ต้องห้าม และบรรดาสิ่งจำเป็นต้องเคารพนั้น ก็ย่อม มีการตอบโต้เยี่ยงเดียวกัน ดังนั้นผู้ใดละเมิดต่อพวกเจ้า ก็จงละเมิดต่อเขา เยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเจ้า และพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงรู้ไว้ด้วยว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้น ทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย” ( อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 194)

 

ญิฮาดนั้นไม่ใช่การก่อการร้าย

 

จำเป็นต้องตอกย้ำว่าการก่อการร้ายที่กระทำต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะผ่านการรุกรานหรือวิธีการพลีชีพ สิ่งเหล่านี้นั้นไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลาม อิสลามส่งเสริมให้ผู้ที่กดขี่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของตน และสั่งใช้มุสลิมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่และเผชิญความเจ็บปวด แต่กระนั้นอิสลามไม่อนุญาต ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆก็ตาม กระทำกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ การก่อการร้ายไม่ใช่การญิฮาดแต่มันคือ ฟะสาด (ความเสียหาย) เป็น สิ่งตรงข้ามกับคำสอนของศาสนาอิสลาม มีบางคนที่ใช้การอ้างเหตุผลที่บิดเบี้ยวเพื่อแสดงเหตุผลของการก่อการ้ายต่อ ต้นเหตุที่มาจากพวกเขา แต่มันหาใช่เหตุผลไม่ อัลลอฮฺกล่าวว่า

 

((وَاِذَا قِيْلَ لَهُمْ لَا تُفْسِدُوْا فِىْ الْاَرْضِۙ قَالُوْٓا اِنَّمَا نَحْنُ مُصْلِحُوْنَ ، اَلَآ اِنَّهُمْ هُمُ الْمُفْسِدُوْنَ وَلٰـكِنْ لَّا يَشْعُرُوْنَ))

 

“เมื่อใดก็ตามที่ได้มีการบอกกับพวกเขาว่า จงอย่าสร้างความเสียหาย ขึ้นในแผ่นดิน พวกเขาจะตอบว่า แท้จริงแล้ว เราเป็นผู้ฟื้นฟูต่างหาก จงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริง พวกเขาเป็นผู้ก่อความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 11-12)

 

อิสลามต้องการสถาปนาความเป็นระเบียบของสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมสามารถดำรงชีวิตอยู่ในความยุติธรรมในสันติภาพ ความสามัคคีและความมุ่งหมายที่ดี อิสลามได้มอบแนวทางแก่ผู้ดำเนินตามเพื่อค้นหาความสงบสุขในการดำรงชีวิตส่วนตัวและสังคมของพวกเขา แต่คำสั่งนั้นยังได้กล่าวแก่พวกเขาถึงวิธีการแผ่ขยายความตั้งใจดีบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มุสลิมทำงานภายใต้หลักการเหล่านี้มานานหลายศตวรรษ ผู้คนที่มีศรัทธาหลากหลายอาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเขา สังคมอิสลามเป็นที่รู้จักในเรื่องความอดทน ความเอื้อเฟื้อและมีมนุษยธรรม

 

ในสังคมสมัยใหม่ของเรา เราอาศัยอยู่ในหมู่สังคมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งผู้ไม่ใช่มุสลิมอยู่ร่วมกับมุสลิมในประเทศมุสลิม และมุสลิมอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมซึ่งประกอบด้วยผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เป็นหน้าที่ของเราที่จะนำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่พวกเราด้วยกันเอง ทำงานเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมแก่ทุกคน และร่วมมือกับผู้อื่นในเรื่องของความดีและคุณธรรมเพื่อหยุดยั้งการก่อการร้าย ความก้าวร้าวและความรุนแรงที่กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ นี่คือการญิฮาดของเราในวันนี้

…………………………

เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ศูนย์ประสานงานเพื่อความเข้าใจอิสลาม ยมท.