Skip to main content

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, อารีลักษณ์ พูลทรัพย์, ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์
เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ยุทธศาสตร์สันติวิธีภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ต้องสร้างรัฐแห่งความยุติธรรมและสันติให้ได้"

ประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิกฤติใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและท้าทายรัฐไทยอย่างรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การปฏิรูปและสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลากว่า 102 ปีมาแล้ว

ในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายครั้งซึ่งประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ความรุนแรงและวิกฤติก็ยังไม่แรงและลึกเท่าที่เกิดในปัจจุบัน

ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2550 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้วเป็นจำนวน 6,854 คน ในนี้ประกอบด้วยผู้เสียชีวิตประมาณ 2,303 และบาดเจ็บ 3,793 คน ในห้วงเวลา 3 ปีกับอีก 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไทยใช้จ่ายเงินงบประมาณไปมากกว่า 30,000 หมื่นล้านบาท ส่งกองกำลังทหารไปเพื่อรักษาความสงบในพื้นที่จำนวนมากกว่า 20,000 นาย แต่ความรุนแรงรายวัน การฆ่า ยิง วางระเบิดและเผาสถานที่ราชการ โรงเรียน ก็ยังดำเนินต่อไปและนับวันจะมากยิ่งขึ้น

อะไรจะหยุดยั้งความรุนแรงเหล่านี้ได้ ?

แม้คำว่า "ความสมานฉันท์" จะถูกใช้มากขึ้นในภาษานโยบาย แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะแก้ปัญหา สิ่งที่เราต้องการในปัจจุบันก็คือแนวคิด แนวทาง วิธีการรูปธรรมในการยุติความรุนแรง ร่วมทั้งยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา

ในระหว่างเดือนเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งร่วมมือกันทางสถาบันในนาม "เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้" ได้ช่วยกันทำงานอย่างเงียบๆ เพื่อจัดประชุมระดมความคิดเห็นประชาชนวงการต่างๆ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำสตรีและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล

จุดมุ่งหมายในการทำงานก็คือระดมความคิดเห็นประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่ม เพื่อค้นหายุทธศาตร์สันติวิธีภาคประชาชนในการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ได้มาก็คือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ กับกลุ่มคนในภาคประชาชนเพื่อให้ได้ภาพความเป็นจริงบางอย่างของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ร่วมกันคิด สังเคราะห์แนวคิด แนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์สันติวิธี เพื่อให้ได้แนวคิดและยุทธศาสตร์ รวมทั้งมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น

- แนวคิดหลัก: สร้างความสมานฉันท์ ขจัดความไม่ไว้วางใจและขจัดอคติและความเกลียดชัง -

ผลจากการสังเคราะห์แนวคิดในทางยุทธศาสตร์และนโยบายแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขั้นต้นสรุปได้ว่า นโยบายของรัฐที่ผ่านมา รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการที่ผ่านมาสะท้อนออกมาในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2542-2546 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 คำสั่งสำนักนายก
รัฐมนตรีที่
206/2549 และรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เรื่อง "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์"

องค์ความรู้และแนวคิดในทางยุทธศาสตร์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นแนวทางสันติวิธี สมานฉันท์ และการแก้ไขปัญหาความจัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้บนพื้นฐานขององค์ประกอบ 3 ประการคือ

การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินนโยบาย คือ แนวทางความสมานฉันท์และการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี การฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ ระหว่างประชาชนมุสลิมกับประชาชนชาวพุทธ และชุมชนชายแดนไทยมาเลเซีย และปัจจัยสุดท้ายก็คือ การขจัดความเกลียดชังและอคติในสังคมไทย

การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เป็นที่มาของการกล่าวถึงเรื่องความสมานฉันท์และสันติวิธีในนโยบายรัฐปัจจุบัน แต่ความสมานฉันท์เป็นเรื่องนามธรรมในระดับค่านิยมและความคิดความเชื่อ รูปธรรมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีรายละเอียดอีกมากในการดำเนินการ ซึ่งก็มาเกี่ยวพันกับปัจจัยที่สองก็คือ "การฟื้นคืนความไว้วางใจ" อันเป็นประเด็นในทางโครงสร้าง ในที่นี้สิ่งที่สำคัญก็คือโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ความยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาการลงทุน ความยากจน และการว่างงาน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องโครงสร้างความยุติธรรมในระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และการพัฒนามนุษย์ ปัญหาโครงสร้างประชากร รวมทั้งปัญหาอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นธรรม ซึ่งประเด็นทรัพยากรนี้เกี่ยวพันกับเรื่องของสิทธิอำนาจของชุมชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ทะเล ที่ดินทำกิน ภูเขาและป่า เป็นต้น

ส่วนปัจจัยสุดท้ายที่กล่าวถึง การขจัดความเกลียดชังและอคติในสังคมเป็นเรื่องใหญ่มากที่เกี่ยวพันกับปัจจัยในเชิงวัฒนธรรม เป็นประเด็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาของคนมลายูปาตานี เรื่องของศาสนาอิสลามและวิถีชีวิตแบบมุสลิมของคนมลายูปาตานี และเรื่องสำนึกทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐสยามกับรัฐมลายูอิสลามปาตานี

นอกจากปัจจัยต่างๆ 3 ประการที่กล่าวมานี้ ยังมีประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติอีกหลายอย่างที่จะต้องพิจารณาด้วย เช่นโครงสร้างการปกครองที่ยุติธรรม การจัดการในด้านความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงปลอดภัยของชุมชน บทบาทของกองกำลังทหารและตำรวจในพื้นที่

- ปัญหาใจกลาง คือ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์มลายู ศาสนาอิสลาม และประวัติศาสตร์รัฐปาตานี -

การจะเข้าใจว่าแนวคิดสมานฉันท์ การแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจ การขจัดอคติและความเกลียดชังเกี่ยวกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไรในกระบวนการก่อให้เกิดปัญหาและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องมองลึกไปที่ "ปัญหาใจกลาง" ของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

จากการระดมความคิดเห็นของผู้นำและประชาชนในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ได้มาก็คือความสำคัญของประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ซึ่งในที่นี้เป็นการผสมผสานขององค์ประกอบใน 3 ด้าน คือ ความรู้สึกในชาติพันธุ์มลายูซึ่งแสดงออกในการใช้ภาษามลายูท้องถิ่น (ยาวี) วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตแบบมลายูโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความผูกพัน วัตรปฏิบัติและศรัทธาในศาสนาอิสลามของคนมลายูปาตานีซึ่งมีแบบลักษณะพิเศษ และความสำนึกในประวัติศาสตร์ของรัฐมลายูปาตานีที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) เป็นปีสำคัญซึ่งนักประวัติศาสตร์มลายูบันทึกว่าเป็นปีที่เมืองปาตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปาตานี นับเป็น "ปีแห่งความอัปยศในประวัติศาสตร์ปาตานี" เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายอย่างไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากนั้น ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง แต่มันได้ถูกจัดการให้กลายเป็นความเป็นจริงในจินตนาการของคนจำนวนหนึ่ง จนกลายเป็น "ความจริงเสมือน" ก่อรูปกันเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ทางการเมืองของคนมลายูปาตานี ที่มีวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมและภาษาพูดของมลายูท้องถิ่นเป็นตัวเชื่อมโยงที่สำคัญ มีคำอธิบายวาทกรรมทางศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มาเสริมแรงให้ชัดเจนรุนแรงยิ่งขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความรู้สึกต่อความอยุติธรรมหรือความไม่เป็นธรรมที่อัตลักษณ์ดังกล่าวข้างต้นถูกกดดัน กีดกัน หรือเชื่อว่าถูกทำลายโดยรัฐไทยหรือนโยบายรัฐหลายอย่างนับแต่ในอดีต

ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์และความยุติธรรมจึงถูกเชื่อมโยงกันอย่างแนบสนิทบนพื้นฐานวาทกรรมเหล่านี้

ข้อขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์เป็นความสำนึกที่เชื่อว่าเกิดจากความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้นทาง ความอยุติธรรม เกิดจากการที่รัฐไทย เจ้าหน้าที่รัฐไทยปฏิบัติต่อคนมลายูมุสลิมปาตานีอย่างไม่เป็นธรรมต่ออัตลักษณ์ สิ่งที่เกิดตามมาคือความไม่ไว้วางใจ ความหวาดระแวงและความมีอคติในแง่ต่างๆในนโยบาย โครงสร้างและกระบวนการของรัฐ การแก้ปัญหาก็คือการจัดการให้รัฐปรับตัวเพื่อที่จะให้นำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและอคติที่มาจากประเด็นชาติพันธุ์และศาสนาดังกล่าว วงจรความรู้สึกขัดแย้งจะวนกลับไปกลับมาเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาอัตลักษณ์ได้ ตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน

- วงจรของอคติ ความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมและโครงสร้างการจัดการของรัฐที่ผิดพลาด -

จากการวิเคราะห์ปัญหาใจกลางดังกล่าว ทำให้เราได้ข้อสรุปแนวคิดในทางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปมปัญหาดังกล่าว โดยผ่านการปรับตัวของโครงสร้างและกระบวนการแห่งรัฐ (state transformation) เพื่อสร้างรัฐที่มีความยุติธรรมและสันติอย่างแท้จริง เพื่อปรับแก้ปัญหาที่โครงสร้างรัฐไปกดทับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การแก้ปัญหาในโครงสร้างดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความรู้สึกหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ และแก้ปัญหาที่มาแห่งความมีอคติและความเกลียดชังในสังคม

นี่คือเนื้อหาที่แท้จริงของนโยบายและยุทธศาสตร์สมานฉันท์ ทำให้เกิดการร่วมมือกันอย่างแท้จริงในสังคมและรัฐที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

การทำให้เกิดรัฐแห่งความยุติธรรม ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ทั้งหมด 7 ยุทธศาสตร์ซึ่งได้มาจากข้อคิดเห็นและการเสนอแนะของผู้นำและประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีดังต่อไปนี้

1. ยุทธศาสตร์ความยุติธรรมทางกฎหมาย

1. ตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นดีอยู่แล้วยอมรับได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัตินำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แสวงหาผลประโยชน์ เป็นผลให้กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายขาดความเสมอภาคและความโปร่งใส ประชาชนหวาดระแวงไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เพราะสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับปัญหาอาวุธปืน ยาเสพติดในพื้นที่ มีการเรียกรับสินบนและมีการคอรัปชั่น ก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐและจิตใจของคนในพื้นที่ เช่น การละเมิดศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของประชาชน, การเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด, เจ้าหน้าที่กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ, ประชาชนมุสลิมได้รับการปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง, การจับแพะ, การอุ้มฆ่า

ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินกระบวนการยุติธรรมควรเคารพในสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนให้มากที่สุด ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยผู้ที่ใช้กฎหมายต้องมีความรู้และตั้งใจจริงในการปฏิบัติงาน มีมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างจริงจัง การตรวจค้นและการจับกุมผู้ต้องสงสัยต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและควรแจ้งให้ผู้นำชุมชนทราบก่อนเข้าดำเนินการ

2. การบังคับใช้กฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำลายโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ในสังคม ทหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการทางสังคมและมีอำนาจมากเกินไปทำให้โครงสร้างอำนาจเดิมอ่อนแอ ดังนั้น การดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจและคำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา วิถีชีวิตของประชาชน ผู้บริหารประเทศ ข้าราชการจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

ควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก่อนการประกาศใช้กฎหมายควรมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อน

3. ขาดการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ

4. ขาดการให้ความสำคัญกับหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในกฎหมาย และไม่ให้ความสำคัญกับดาโต๊ะยุติธรรมในการพิจารณาคดีของชาวมุสลิม ดังนั้นควรนำกฎหมายอิสลามมาใช้ควบคู่กับกฎหมายไทย

กระบวนการยุติธรรมในส่วนของการสอบสวนควรมีโต๊ะอิหม่ามหรือบุคลที่ชาวบ้านไว้วางใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนด้วย ให้มีศาลชารีอะห์ใน 3 จังหวัด และนำกฎหมายอิสลามบางส่วนมาใช้ร่วมกับกฎหมายปกติ และควรให้ดาโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีไม่ใช่เป็นที่ปรึกษาเช่นในปัจจุบัน

5. ประเด็นขัดแย้งเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การก่อการร้าย เช่น ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ถูกเหมารวมให้เป็นเรื่องการก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ไม่สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ควรตั้งใจปฏิบัติหน้าที่

6. ประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์และคาดหวังผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม จึงควรทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเกี่ยวกับแนวทางสมานฉันท์ และทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

7. กลุ่มผู้ก่อการข่มขู่ชาวบ้านและบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐควรบูรณาการในการทำงาน ทั้งด้านความคิด การประสานงานระหว่างกัน และประสานกับชาวบ้านและชุมชน และควรเสริมบทบาทผู้นำทางศาสนาและใช้หลักการทางศาสนามาช่วยในการแก้ไขปัญหา

2. ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและบูรณาการ

1. ระบบการศึกษาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รัฐควรจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และควรมีการจัดการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือยกระดับฝีมือแรงงานตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

2. สถานภาพครูของสอนศาสนาที่จบการศึกษาจากตะวันออกกลางไม่ได้รับการยอมรับ รัฐควรเปิดโอกาสและยอมรับสถานภาพของครูสอนศาสนาจากตะวันออกกลาง โดยยกฐานะของครูสอนศาสนามาเป็นพนักงานของรัฐ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือองค์กรขึ้นมาดูแลบริหารบุคลากรด้านการสอนศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม

3. บูรณาการระบบการศึกษาให้มีทั้งสายสามัญและสายศาสนาให้ควบคู่กันไปเพื่อขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ

4. ระบบการศึกษาของไทย ยังมีคุณภาพที่ต่ำในสายตาของประชาชน ทั้งด้านหลักสูตรและตำราเรียนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย รัฐควรส่งเสริมโรงเรียนสามัญศึกษาประจำอำเภอหรือตำบลให้นำหลักสูตรอิสลามศึกษามาบูรณาการในการเรียนการสอนให้มากขึ้นและติดตามประเมินผลโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนสามัญ รัฐควรมีระบบประกันคุณภาพการศึกษาและดำเนินการอย่างอย่างจริง

5. รัฐขาดการกระจายโอกาสทางการศึกษาและละเลยเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รัฐควรเพิ่มงบประมาณในส่วนของการอุดหนุนการศึกษาให้มากขึ้น ปรับเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาของรัฐควรมีอยู่ทุกหมู่บ้าน

6. คุณภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำและขาดขวัญกำลังใจในการทำงานเนื่องจากภาวะของความไม่สงบในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการรับบุคลากรในพื้นที่เป็นบุคลากรครูเพิ่มมากขึ้นพร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน

7. การจัดทำโครงการโรงเรียนนำร่องโดยเอาโรงเรียนตาดีมาบูรณาการกับโรงเรียนสามัญเป็นการสลายอัตลักษณ์ของชุมชน รัฐกำลังพัฒนาการศึกษาในทางที่ผิด รัฐควรรักษาโรงเรียนตาดีกาไว้และเสริมสร้างประสิทธิภาพของโรงเรียนตาดีกาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐควรจะให้มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลในการส่งเสริม ปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนโรงเรียนตาดีกา

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคณะกรรมการกลางอิสลาม ควรเป็นเจ้าภาพร่วมในการหาแนวทางในการจัดระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตาดีกา

8. รัฐควรส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนในระบบ 2 ภาษา และเน้นเนื้อหาสาระของศาสนา คุณธรรม จริยธรรมในระบบการศึกษาให้มากขึ้น

9. ความแตกต่างของอัตลักษณ์ท้องถิ่นทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและไม่เข้าใจกัน ทั้งระหว่างรัฐและประชาชน และระหว่างประชาชนสองศาสนา เช่น การแต่งกาย, ภาษา รัฐต้องให้ความสำคัญการยอมรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิต เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนพื้นฐานของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ใช้ภาษามลายู โดยเฉพาะของราชการระดับท้องถิ่น และเพิ่มความสามารถในการใช้ภาษามลายูของบุคลากรของรัฐ

ควรให้วันหยุดทางศาสนาของศาสนาอิสลามให้เป็นวันหยุดของประเทศ เช่น วันรายอ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ศึกษาอยู่ที่อื่นสามารถกลับมาปฏิบัติศาสนกิจและพบปะเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องได้

10.การรับรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีของชาวบ้านมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่า ที่นำไปสู่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังรัฐและสร้างความชอบธรรมให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน รัฐควรส่งเสริมการศึกษาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องเป็นกลางไม่บิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง ให้มีองค์กรที่รับผิดชอบในการศึกษาและจัดทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ควรบรรจุประวัติศาสตร์ปัตตานีและประวัติศาสตร์อิสลามที่ถูกต้องเผยแพร่แก่ประชาชนและบรรจุในหลักสูตรการศึกษาร่วมกับประวัติศาสตร์ไทย

11. ประเด็นความแตกต่างทางศาสนาถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการก่อความไม่สงบเป็นเหตุให้ประชาชนที่ขาดความรู้หลงเชื่อ รัฐควรให้นักวิชาการศาสนาที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาชนมาเป็นผู้อธิบายหลักการของศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะประเด็นที่มีความคลุมเครือ และควรเพิ่มบทบาทของผู้นำศาสนาในท้องถิ่นเพราะเป็นบุคคลที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดในชุมชน จัดให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างศาสนาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยุติธรรม

1. สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ส่งผลต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชนทั่วไป การส่งเสริมการลงทุนควรเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นหลัก เพราะว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไม่มีกลุ่มธุรกิจจากที่อื่นๆ กล้ามาลงทุนในพื้นที่ การสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจต้องส่งเสริมคนที่มีศักยภาพและควรสนับสนุนให้คนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเข้ามามีบทบาทในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมให้คนในพื้นที่ประกอบกิจการของตนเอง เพื่อสร้างงานและอาชีพจะได้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย

2. รัฐไม่สร้างงานและสนับสนุนการประกอบอาชีพ ประชาชนขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ รัฐจึงควรจัดฝึกอบรมเน้นด้านการสร้างงานและอาชีพให้ประชาชนที่ว่างงานได้ใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ และสามารถพึ่งตนเองได้ ให้รัฐสนับสนุนด้านการลงทุนสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กโดยจัดทำในรูปของกองทุน รวมทั้งจัดหางานและฝึกอาชีพให้แก่คนที่ว่างงานและอยากมีงานทำ

3. นโยบายรัฐที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ เป็นการแกปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โครงการจ้างงาน 4,500 บาท ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดกำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกำลังแรงงานเคลื่อนตัวไปทำงานในโครงการจ้างงาน 4,500 บาท และยังทำลายความสัมพันธ์ของชุมชนและสร้างปัญหาความขัดแย้งให้กับชุมชน

หากจะดำเนินโครงการจ้างงาน 4,500 บาทต่อไป ควรจัดระบบให้มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในชุมชน ให้รัฐมุ่งสนับสนุนในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะการส่งเสริมประสิทธิภาพและให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการวิสาหกิจและธุรกิจชุมชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและวัตถุดิบในท้องถิ่น

4. โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ทำให้ไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือสามารถดำเนินการได้จริง ต้องสนับสนุนการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้สำเร็จเพื่อสร้างงานและเศรษฐกิจในท้องถิ่น

5. รัฐควรสนับสนุนและสร้างความเข้มแข้งให้แก่กลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน เช่น กลุ่มอิบนุอัฟฟาน จังหวัดปัตตานี ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจและวิสาหกิจชุมชน โดยเน้นให้การสนับสนุนด้านความรู้ในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพของกลุ่มออมทรัพย์ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนด้านโครงการเงินกู้ขนาดใหญ่

6. การกระจายแหล่งเงินทุนให้กับชุมชนควรผ่านระบบธนาคารอิสลามหรือกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน

7. สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ผลักดันให้คนอพยพย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพหางานทำที่อื่น การแก้ปัญหาการอพยพย้ายที่อยู่ รัฐต้องสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ให้มีการฆ่ารายวันเกิดขึ้น

8. การเดินทางไปทำงานในมาเลเซียทำให้ถูกรัฐบาลเพ่งเล็งไม่ไว้วางใจ เนื่องจากนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการไปทำงานในมาเลเซียประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องของโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ แต่รัฐมองในแง่ความมั่นคง รัฐไม่ควรมองแรงงานไทยใน
มาเลเซียอย่างมีอคติ และรัฐควรส่งเสริมการไปทำงานและให้การคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในมาเลเซีย เพราะสามารถนำรายได้เข้าประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว และพัฒนาท้องถิ่นชุมชน

9. การไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องมี visa และ work permit จากทางการมาเลเซีย รัฐบาลจึงควรประสานงานกับมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนช่วนเหลือทั้งในเรื่องกฎหมายการเข้าเมืองและการอนุญาตให้คนไทยเข้าไปทำงาน และควรมีความตกลงให้มีบัตรผ่านแดนสำหรับคนไทยที่จะเดินทางเข้า-ออกข้ามชายแดนเพื่อไปทำงานและค้าขายในประเทศมาเลเซีย

10. รัฐควรให้เงินทุนสนับสนุนคนที่ไปทำงานและเปิดธุรกิจในประเทศมาเลเซีย เพราะสามารถสร้างรายได้มากกว่าคนมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

11. ไม่ควรใช้การปิดด่านชายแดนเพื่อแก้ไขปัญหาคน 2 สัญชาติ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ควรจัดให้มีการลงทะเบียนผู้ที่ถือ 2 สัญชาติ เพื่อการจัดระบบการจัดการที่ดีขึ้น

4. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรเพื่อความยุติธรรม

1. ชาวบ้านขาดที่ดินทำกิน รัฐควรจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน โดยยกตัวอย่างมาเลเซียที่จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน โดยต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับรัฐในราคาถูกเป็นรายเดือนสามารถสืบทอดเป็นมรดกให้กับทายาทแต่ไม่สามารถขายให้กับผู้อื่นได้

2. การหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยกลุ่มนายทุนทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ชาวบ้านขาดโอกาสไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร ต้องให้อำนาจแก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรภายในชุมชน โดยชุมชนตั้งกองกำลังของตนเองในการคุ้มครองดูแลทรัพยากร ควรกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้แก่ชุมชน และป้องกันกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม

5. ยุทธศาสตร์ระบบราชการเพื่อความยุติธรรม

1. ไม่ควรลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดต่างๆ โดยการโยกย้ายให้มาปฏิบัติงานในพื้นที่ ข้าราชการที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ควรเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการทำงาน มีประวัติการทำงานดี และมีความเสียสละพร้อมที่จะทำงานในพื้นที่

2. นโยบายระบบราชการ การจัดสัดส่วนของข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ระหว่างข้าราชการพุทธและมุสลิม ไทยและมลายูควรคำนวณตามสัดส่วนของประชากรในพื้นที่ที่เป็นมุสลิมและพุทธ ผู้ว่าราชการจังหวัด ครู ควรเป็นคนในพื้นที่

3. ให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่กำหนด และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

4. แก้ไขนโยบายการปกครองท้องที่ ควรขยายเวลาดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็น 10 ปี หรือให้หมดวาระเมื่อครบเกษียณอายุ

6. ยุทธศาสตร์ชุมชนมั่นคง

1. เจ้าหน้าที่และทหารใหม่ที่มาประจำการในพื้นที่ไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เพราะไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ ควรมีระยะเวลาพี่เลี้ยงประมาณ 1 เดือน ให้ทหารที่กำลังจะผลัดเดิมพาทหารผลัดใหม่ไปทำความรู้จักกับชาวบ้านและสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ ควรถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่สีเขียวและให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลชุมชนของตนเอง โดยให้ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมโดยการเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา ให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นกรณีพิเศษแก่พื้นที่ที่สามารถป้องกันปัญหาหรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีหรือพื้นที่ที่มีการจัดการชุมชนที่ดี

ส่วนในพื้นที่สีแดงควรคงกำลังทหารเอาไว้ ทหารมวลชนสัมพันธ์ หน่วยปฎิบัติการจิตวิทยาควรเข้าไปปฏิบัติงานในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติหน้าที่อย่างสุภาพและเป็นธรรม

2. รัฐไม่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ การสั่งการจะมาจากหน่วยงานส่วนกลาง และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง การบริหารงานของรัฐเป็นแบบ Top-Down ควรมีเวทีประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนก่อนจัดทำนโยบาย การแก้ปัญหาต้องลงมาดำเนินการตั้งแต่ระดับล่างหรือระดับฐานราก

รัฐควรสนับสนุนหมู่บ้านพัฒนาและป้องกันตนเองโดยใช้การกระจายอำนาจออกสู่ตำบล หมู่บ้าน โดยเน้นบทบาทผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่น และให้เป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจโดยตรงกับคนในพื้นที่ เช่น ให้ทหารทำงานร่วมกับตำรวจท้องที่และประชาชนด้วยวิธีการรับสมัครบุคคลในหมู่บ้านมาฝึกเพื่อเป็นดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชนทดแทน ชรบ. และให้เงินเดือน สวัสดิการตอบแทน โดยมีทหารประจำการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาควบคุมแผนยุทธวิธีตำรวจท้องที่ และให้ผู้นำท้องถิ่นคอยควบคุมดูแลความประพฤติที่ไม่เหมาะสม โดยให้อำเภอเป็นศูนย์การบังคับบัญชา ให้โรงเรียนและมัสยิดมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการประสานความร่วมมือกันในชุมชน เป็นสื่อกลางในการรับรู้ปัญหาและสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเน้นการแก้ปัญหาเรื่องปัญหายาเสพติด สถาบันครอบครัวและความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน

3. การตั้งสภาชูรอจะทำให้การจัดการปัญหาเป็นเรื่องในระดับองค์กรไม่ใช่ระดับบุคคล การจัดการปัญหาควรให้ผู้รู้เข้ามาจัดการ และควรมีเจ้าภาพในการจัดการ เช่น สำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด

4. รัฐควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ให้ชุมชนดูแลชุมชนและปกครองกันเอง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกันเอง ควรใช้กระบวนการชุมชนในการจัดระบบดูแลและป้องกันชุมชนและแก้ไขปัญหา และตั้งกฎระเบียบของชุมชนขึ้นมา เมื่อมีการกระทำความผิดก็ควรมีการลงโทษทางสังคม

7. ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสันติ

1. ศาสนาและวัฒนธรรมไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกแยก แต่การนำเสนอข่าวสารของสื่อต่อสาธารณชนเป็นการตอกย้ำความแตกแยก ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนและถูกหยิบยกไปเป็นเงื่อนไขในการสร้างความแตกแยก สื่อจะต้องที่นำเสนอข่าวสารข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นกลาง เพื่อลดอคติระหว่างคนในสังคม

2. ควรมีสถานีโทรทัศน์ของท้องถิ่นที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ

3. ความบกพร่องของการสื่อสารในสังคม เช่น การทำงานของสื่อ, การสื่อสารของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐ, และการสื่อสารระหว่างประชาชน